เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ยื่นฟ้องศาล ปค.สูงสุด ให้เพิกถอนมติ ครม.8 ก.พ.ทั้ง 3 ฉบับ กรณีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ กทม.พร้อมขอศาลไต่สวนฉุกเฉิน ชี้ถือเป็นขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชนตาม รธน.เพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่จะเป็นต้นเหตุให้ไทยต้องเสียอธิปไตย
วันนี้ (15 ก.พ.) นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และสมาชิกเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ และ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชน ได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่อง กระทำการโดยมิชอบ ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ใช้ใน 7 พื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตป้อมปราบ เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และ เขตดุสิต โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ.54 เพื่อดูแลสถานการณ์และการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่คาดว่าอาจจะขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม
โดย นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ได้ยื่นฟ้อง ครม.ทั้งคณะ ซึ่งรวม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วย ในฐานะประธานการประชุม ขณะที่คำขอท้ายฟ้อง ขอให้ 1.ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษา เพิกถอน มติ ครม.ที่ได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ในการเริ่มใช้มาตรการจัดการประชาชน ผู้ชุมนุมประท้วง ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9-23 ก.พ.นี้
2.เพิกถอนประกาศที่ออกโดย ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ทั้งหมด 3 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 7 เขตพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ประกอบด้วย เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตป้อมปราบ เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และ เขตดุสิต
ประกาศเรื่องการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และประกาศข้อกำหนด 5 ข้อที่ออกตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง ประกอบด้วย 1.การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการ หรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่าง หนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2.ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ตามที่ ผอ.กอ.รมน.กำหนด และ 5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.กอ.รมน.ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การประกาศข้อกำหนด ข้อที่สอง ตามมาตรา 18 ที่ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.นอกจากนี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ ครม.ดังกล่าว เพราะการประกาศให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ครม.ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง จะกระทบต่อการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งส่อว่าจะทำให้เกิดการละเมิดอำนาจอธิปไตย
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้รับคดีไว้พิจารณาเป็นหมายเลขดำ ฟ.11/2554 โดยจะมีคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ต่อไป และจะไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำสั่งทุเลาการบังคับมติ ครม. หรือไม่ต่อไป