การปะทะกันที่ชายแดนไทย-กัมพุชา ในพื้นที่รอบๆปราสาทพระวิหาร เขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ โดยมีการยิงโต้ตอบกัน 4 ครั้ง สมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องระลึกว่า บทบาทของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลหุ่นเชิดของ นช. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2551 มีส่วนพัวพันกับ ความขัดแย้งที่ดำเนินมาจนถึงขั้นใช้กำลังต่อกัน
ในครั้งนั้น นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 สนับสนุนให้ กัมพูชา ขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยลงนามร่วมกับ นายสกอาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
กัมพูชา พยายามที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก มาตั้งแต่ปี 2548 แต่ฝ่ายไทยขอขึ้นร่วมด้วย เพราะเกรงว่า หากให้กัมพุชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบๆปราสาทพระวิหาร จะถูกผนวกเข้าไว้ในแผนบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งจะอยุ่ภายใต้การจัดการของกัมพุชาฝ่ายเดียว คณะกรรมการมรดกโลกในตอนนั้น จึงเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป และทั้งฝ่ายไทยกับกัมพุชาก็มีข้อตกลงว่า จะขึ้นทะเบียนร่วมกัน
พ.ศ.2549 กัมพูชา ตรา พระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร พร้อมแผนที่ประกอบ เพื่อยื่นต่อที่ประชุม คณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสต์เชิรช์ ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ในแผนที่นี้ บางส่วนล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย ฝ่ายไทยจึงโต้แย้ง รวมทั้งยื่นบันทึกช่วยจำ คัดค้านานการขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว คณะกรรมการมรดกโลก จึงมีมติให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป อีก
ความพยายามของกัมพุชา ที่จะขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว มาประสบความสำเร็จในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โดนนายนพดล ไปร่วมประชุมกับนายสกอาน ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และตกลงกันว่า ประเทศไทยจะสนับสนุนให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศแคนาดา ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม
นายนพดล เดินทางกลับประเทศไทยด้วยความภาคภูมิใจ ราวกับ วีรบุรุษ เขาประกาศว่า การตกลงกันนี้น ทุกฝ่ายทีแต่ได้ และเป็นการรักษาอธิปไตยของประเทศ เหนิอดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นข้อพิพาทมาช้านาน
ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 นายนพดล เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก โดยเสนอเป็น วาระจร และเป็นเรื่อง”ลับ-ด่วนมาก” ในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 18 มิถุนายน 2551 นายนพดลได้ลงนามในแถลงการณ์นี้ แต่ทั้งๆที่ตัวเองป่าวประกาศว่า แถลงการณ์นี้ เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา แต่กลับกระทำกันอย่างปกปิด รีบเร่ง แม้กระทั่ง การลงนามก็ไม่อนุญาตสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเข้าทำข่าว
แผนผัง แนบท้ายแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่ออกมาหลังการลงนาม ฟ้องว่า สิ่งที่นายนพดลอ้างว่า เป็นการรักษาดินแดนของประเทศนั้น แท้จริงแล้วง คือ การยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆปราสาทพระวิหาร ให้กับกัมพูชา ไปดูแล ภายใต้แผนบริหารจัดการ พื้นที่อนุรักษ์
สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา นี้ ขัดกับรัฐธรรมนุญหรือไม่ เพราะมีลักษณณะเป็นสนธิสัญญา ที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย ซึ่งต้องเสนอให้รัฐสภาอนุมัติก่อน
วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่ช้าไปเสียแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น ไม่กี่ชั่วโมง ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่กรุงควิเบก ประเทศแคนาดา มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้ว และกัมพูชายึดถือเอามตินี้ รวมทั้งแถลงการณ์วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่ไทยสนับสนุนให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นข้ออ้างในการฮุบเอาดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของตน
เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ คัดค้านการนำแผนพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์รอบๆปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุมมรดกโลก ที่บราซิลเมื่อปีที่แล้ว จนในที่สุด คณะกรรมการมรดกโลกต้องเลื่อนการประชุมออกไป กัมพูชาจึงโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่า ประเทศไทย โดยนายนพดล ได้เอออห่อหมก ยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้แล้ว อ้อยกำลังจะเข้าปากช้าง แต่กลับมาถูกดึงออกไปต่อหน้าต่อตา โดยรัฐบาลชุดต่อมา
เหตุการณ์กระทบกระทั่ง ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ปราสาทพระวิหาร จนบานปลายเป็นการใช้กำลังโต้ตอบกัน จึงมีที่มาจากแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ของนายนพดล ปัทมะ เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย