xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ไม่ต่างจาก “แม้ว” แค่เปลี่ยนจาก “เหลี่ยม” เป็น “หล่อ” !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ในที่สุดรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 เขต คือ เขตดุสิต ป้อมปราบฯ พระนคร ราชเทวี ปทุมวัน วังทองหลาง และวัฒนา ตั้งแต่วันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ 2554

ขณะเดียวกันก็ได้ประกาศแต่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์ ซึ่งหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังยกระดับการชุมนุมเพื่อขับไล่อภิสิทธิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าไร้ภาวะผู้นำ ไร้ความสามารถ อ่อนแอทำให้เสียอธิปไตย และอาจรวมถึงกลุ่มเสื้อแดงที่กำลังนัดชุมนุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงดังกล่าว ดีกรีความเข้มข้นอาจจะน้อยกว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เคยนำออกมาใช้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการ “เคลียร์พื้นที่” โดยเฉพาะการ “เปิดทาง” จัดการกับผู้ชุมนุม

หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความ “ไม่มั่นคง” ขึ้นมาแล้ว จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย “พิเศษ” มาจัดการประชาชนฝ่ายต่อต้านอย่างเข้มงวด โดยอ้างสถานการณ์ความมั่นคงมาบังหน้าเท่านั้น เป็นปฏิกิริยาตอบโต้แบบฉับพลัน

ทั้งนี้ หากเริ่มลำดับเหตุการณ์มาตั้งแต่ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยภาพลักษณ์ที่ดี เป็นคนรุ่นใหม่ ขาวสะอาด เป็นนักประชาธิปไตย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 2 ปีทำให้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ” พฤติกรรมของรัฐบาลภายใต้การนำของเขาไม่ต่างจากรัฐบาลในอดีต นั่นคือรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลของ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เขาเคยกล่าวโจมตีอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้

ภาพที่สร้างเอาไว้ในเรื่องการเอาจริงเอาจังในการต่อต้านการคอร์รัปชัน มีการตั้ง “กฎเหล็ก 9 ข้อ” เมื่อครั้งที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศใหม่ๆ แต่กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นว่า รัฐบาลของเขากลับถูกกล่าวหาในเรื่องของการทุจริตมากที่สุด สะท้อนออกมาให้เห็นในหลายกรณี โดยหากไล่เรียงกันมาทีละเรื่องก็จะเริ่มเห็นภาพ

เริ่มตั้งแต่กรณีการย้ายสนามบินดอนเมืองมาที่สุวรรณภูมิ ในครั้งนั้นแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งในโครงการย้ายสนามบินดังกล่าวมีการระบุว่ามีเบื้องหลังมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรีซึ่งเป็นกลุ่มทุนหลักที่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลนั่นเอง

กรณีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสี ที่มีการตั้งราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง จนมีการฮั้วกันอย่างมโหฬารจนทำให้ต้องเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดก็คือโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีการสรุปจากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสภาผู้แทนที่มี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นประธานว่ามีการทุจริต แต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็อนมัติให้ดำเนินการต่อไปได้

โครงการไทยเข้มแข็งภายใต้ชื่อ “ชุมชนพอเพียง” ที่มีการกล่าวหาจากพรรคฝ่ายค้าน จนทำให้ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ต้องแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

มีการทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย มีการกล่าวหาทุจริตในเรื่องการซื้อขายตำแหน่งทั้งในกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การทุจริตโครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ฯลฯ

ล่าสุดกรณีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบทั้งสองครั้งจำนวนเกือบ 2 แสนตัน ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่มี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ก็มีการกล่าวหากันทั่วไปว่ามีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มทุนการเมืองภาคใต้ได้รับผลประโยชน์เข้ากระเป๋าจนตุง เพราะมีทั้งรายการ กักตุน สวมโควตาน้ำมันปาล์มเถื่อน เป็นต้น

นี่เป็นเพียงบางโครงการเท่าที่พอจำได้ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอื้อฉาวผ่านมาเท่านั้น!!

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่มีผลสรุปของคณะกรรมาธิการหลายชุด โดยเฉพาะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของวุฒิสภา ที่มี ส.ว.กรุงเทพมหานคร รสนา โตสิตระกูล สรุปว่า มีการทุจริตในรัฐบาลชุดนี้จำนวนถึงกว่า 2 แสนล้านบาท นั่นแสดงว่าภายในช่วงระยะเวลาเพียงไม่นานเท่านั้น ได้เกิดการทุจริตจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันยังมีผลสำรวจของหอการค้าไทยที่ระบุว่ามีการทุจริต มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะจำนวนมาก ซึ่งถือว่าไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกระบุว่า “โคตรโกง” หรือ “โกงทั้งโคตร” นั่นเอง

ถัดมาก็คือกรณีการใช้ “อำนาจพิเศษ” เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งแต่ในยุคของ ทักษิณ ต่อเนื่องมาจนถึง สมัคร และสมชาย ทั้งในกรณีของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เรื่อยมาจนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ แม้ว่าในบางครั้งอาจมีความจำเป็น เนื่องจากมีการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองก็ตาม

การใช้สื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม หรือมีการให้ผลประโยชน์กับสื่อเพื่อดึงมาเป็นพวก หรือมีการแบ่งขั้วสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของตัวเอง

การตระบัดสัตย์ โกหกพูดจากลับไปกลับมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง หรือการสร้างภาพ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตอนแรกได้ย้ำว่าจะไม่มีการแก้ไข แต่หากจำเป็นก็ต้องทำประชามติรับฟังความเห็นของชาวบ้านก่อน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำตามที่พูด และการแก้ไขครั้งนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองฉ้อฉลโดยเฉพาะ เนื่องจากการแก้เป็นแบบแบ่งเขตเล็ก ง่ายต่อการซื้อเสียง ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแปลงสูตร ส.ส.เขต 375 คน และส.ส.สัดส่วน 125 เนื่องจากเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความได้เปรียบ

พฤติกรรมดังกล่าวมาทั้งหมดของรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทั้งในเรื่องของการทุจริต การสร้างภาพ การใช้อำนาจพิเศษ ล้วนไม่ได้แตกต่างจากสมัยของ ทักษิณ ชินวัตร มิหนำซ้ำในรัฐบาลยุคปัจจุบันยังมีการทุจริตที่ซับซ้อน มีการกลบเกลื่อน และหากมีการยืนยันว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่โกง แต่หากคนที่อยู่ท่ามกลางคนโกง หรือเห็นการทุจริตแล้วไม่ได้ยับยั้ง มันหมายความว่าอย่างไร เพราะถ้าจะว่าไปแล้วมันก็แค่การเปลี่ยนผ่านจาก หน้าเหลี่ยมเป็นหน้าหล่อเท่านั้น มิหน้ำซ้ำดูแล้วยังอันตรายยิ่งกว่าเสียอีก!!

กำลังโหลดความคิดเห็น