จะให้เชื่อว่า เป็นการเปิดศึกสงครามรบกันจริงก็ยังแน่ใจไม่ได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นการซ้อมรบทดสอบศักยภาพทางทหารของไทย-กัมพูชาและหวังผลบางอย่างทางการเมืองมากกว่า สำหรับเหตุปะทะกันของทหารไทยกับเขมรที่ภูมะเขือ และบริเวณห้วยตามมาเรีย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อบ่ายวันที่ 4 และรุ่งสางวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา
หลังเจรจาหยุดยิง ทางการกัมพูชาส่อพิรุธให้เห็นทันที จากการแถลงแจ้งตัวเลขความเสียหายของฝ่ายกัมพูชาที่มีทหารตาย64 คน และยานเกราะรถถังพังระนาว แต่ไม่มีหลักฐานอะไรออกมาแสดงให้เห็นเลย ทำให้ไม่น่าเชื่อว่ายิงกันประปรายแค่นี้ เขมรจะตายและเสียหายมากขนาดนั้น ทั้งๆที่ทหารเขมรเป็นฝ่ายโจมตีไทยก่อน การชิงลงมือก่อนย่อมมีโอกาสทำความเสียหายให้แก่ไทยมากกว่า ขณะที่เขมรอยู่ในยุทธภูมิที่ดีกว่าไทยด้วย อีกทั้งยังสร้างค่ายเตรียมทุกอย่างพร้อมรบไว้ก่อนแล้ว มีความได้เปรียบทางการรบทุกด้านมากกว่าไทย แต่กลับเสียหายทหารล้มตายมากกว่า
ก็คงไม่ต้องแปลกใจอะไร เพราะตอนนี้เขมรได้เอาเหตุที่กองทัพเขมรปะทะกับทหารไทยไปฟ้องเวทีโลกเรียบร้อยแล้ว ยัดข้อหาฉกรรจ์หาว่าไทยยิงถล่มทำลายปราสาทพระวิหาร และเรื่องต่างๆที่จะกล่าวหาทำให้ไทยเสียหายต่อสายตานานาชาติก็จะติดตามมาอีกมาก
ต้องติดตามเกมอำมหิตของ “ฮุน เซน” คนกระหายสงครามกับ “ลูกแกะสยาม” รัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าจะมีกลยุทธ์อะไรมาต่อกรกับเขมร
มวลชนเร่งจังหวะรุกไล่ “มาร์ค” 11 ก.พ.เป่านกหวีดเคลื่อนทัพ
เลวทรามที่สุดเมื่อเขมรเหิมเกริมเปิดฉากโจมตีทหารและราษฎรไทย โดยอ้างหน้าด้านๆว่าฝ่ายไทยรุกดินแดนแถววัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ทั้งที่เป็นพื้นที่ของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมาโทษว่าการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินของพันธมิตรฯเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดเหตุปะทะขึ้น
ที่สำคัญเกิดเหตุในระหว่างที่ “กษิต ภิรมย์” รมว.ต่างประเทศของไทย อยู่ที่พนมเปญ เพื่อประชุมเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ด้วย
แบบนี้ “ตบหน้า” กันชัดๆ
เหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการฉีกทิ้ง MOU 2543 และเดินหน้าผลักดันไล่พวกเขมรออกจากผืนแผ่นดินไทย เพื่อปกปักษ์รักษาอธิปไตยของชาติ แต่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกฯไทยใจเขมร ไม่กล้ารุกไล่สั่งสอนกำราบ “จิ้งจอกฮุน เซน” ให้รู้แล้วรู้รอด ทั้งที่แสนยานุภาพทางการทหารเหลือกว่าแบบเทียบกันไม่ติด
แม้นายกฯอภิสิทธิ์จะออกมาหนุนการทำหน้าที่ของทหาร แต่ท่าทีที่แสดงออกมานั้นไม่ได้แข็งกร้าว หนำซ้ำยังดูอ่อนแอเป็น “เด็กถือขวดนม” ของนายฮุนเซนอยู่เสมอ
และเมื่อมวลชนพันธมิตรฯสุดทนต่อแนวทางที่อ่อนแอปวกเปียกของรัฐบาลชุดนี้ ล้มเหลวในการปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยตลอด 2 สัปดาห์เต็มที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่มีความคืบหน้าในการตอบสนองข้อเรียกร้องที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของชาติ
จึงไม่ผิดคาดและเป็นที่มาของฉันทานุมัติที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างล้นหลามเมื่อค่ำวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา จนทำให้พื้นที่การชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ-แยกมิสกวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองเดิม ขยายออกไปจรดลานพระบรมรูปทรงม้า โดยประชาชนที่พร้อมใจกันมาลงมติมีเสียงเป็น “เอกฉันท์”
ให้ยกระดับการชุมนุมกดดันให้นายกฯอภิสิทธิ์และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัวเอง “ลาออก”ทั้งคณะ
ฐานไม่ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติ แถมยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างรุนแรงไม่ต่างจากยุคทรราชย์ครองเมือง
ทั้งนี้ยังยืนยันที่จะไม่ทิ้ง 3 ข้อเรียกร้องเดิม “ยกเลิก MOU 2543-ถอนตัวภาคีมรดกโลก-ขับไล่เขมรกลับบ้าน” ซึ่งเป็นเป้าหมายในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ที่ไม่ว่าใครเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต้องรีบทำ ก่อนที่ไทยจะเสียดินแดน
น่าเสียดาย เพราะจริงๆแล้วพันธมิตรฯไม่ได้ต้องการให้ “ผลลัพธ์” ออกมาเช่นนี้ เนื่องจากเป้าหมายมีเพียง 3 ข้อที่ว่าเท่านั้น แต่การเพิกเฉยของรัฐบาลเหมือนแกมบังคับให้พันธมิตรฯต้องขยับยกระดับข้อเรียกร้องไปอีกขั้น ทั้งที่ในเบื้องต้นของการเริ่มชุมนุมรอบนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการให้นายกฯ “ลาออก” - “ยุบสภา” หรือแม้กระทั่ง “ปฏิวัติรัฐประหาร” ตามที่มีคนพยายามเชื่อมโยงใส่ความ เพราะทั้ง 3 แนวทางนั้นไม่ได้ตอบโจทย์การปกป้องอธิปไตยของชาติได้เลย ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ย่อมต้องทำ 3 ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯอยู่ดี
และแม้ว่าจะไม่ได้กำหนด “เดดไลน์” ระบุวันลาออกไว้ชัดเจน แต่ล่าสุดได้มีการประกาศแล้วว่า 9 โมงเช้าของวันศุกร์นี้ 11 ก.พ.จะมีการเคลื่อนขบวนเพื่อกดดันนายกฯอภิสิทธิ์และพวก แต่ยังอุบจุดหมายปลายทาง
คาดการณ์กันว่า “รัฐสภา” น่าจะเป็นจุดหมายที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากในวันนั้นจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 พอดิบพอดี
แต่ก็ยังปักใจเชื่อไม่ได้ เพราะ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์” โฆษกพันธมิตรฯพูดไว้เป็นนัยว่า “อาจจะใกล้ที่สุดหรือไกลที่สุดก็เป็นไปได้”
สถานที่ใกล้ๆก็ไม่พ้น “ทำเนียบรัฐบาล” ส่วนที่ไกลหน่อยก็คง “รัฐสภา” นั่นแหละ
จับตาท่าที “ชัช ชลวร ”สละเก้าอี้ปธ.ศาลรธน.
ทำเอาแตกตื่นกันใหญ่ นึกว่าแอบกลับไทยอย่างเงียบๆ ทั้งที่โดนไล่ล่าตัวมาร่วม 3 เดือน “น้องปอย” พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ชัช ชลวร) ที่รับประกันความแสบถึงทรวง ที่หนีไปปักหลักที่ฮ่องกงหลายเดือน มีข่าวพบคนหน้าเหมือน “พสิษฐ์” โผล่ออกมาเดินคู่กับผู้หญิงในโรงพยาบาลศิริราช แถมมีหลักฐานเป็นภาพที่กล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลบันทึกไว้ได้เสียด้วย
เล่นเอาตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แตกตื่นเช็กข่าวกันจ้าละหวั่น เพราะหากเป็นความจริงแสดงว่า ตม.หละหลวมอย่างยิ่งที่ปล่อยให้ “พสิษฐ์” ที่ถูกทั้งกองปราบปราม ศาลรัฐธรรมนูญไล่ล่าดำเนินคดีกรณีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคลิปฉาวเผาศาลรัฐธรรมนูญ ผลงานแสบที่เล่นเอาศาล รธน.แทบมอดไหม้มาแล้ว ในช่วงก่อนตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
แต่สุดท้าย ตำรวจยืนกรานตรวจสอบแล้วยืนยันแค่เป็น “คนหน้าเหมือน” ไม่ใช่ “พสิษฐ์” เพราะเช็คด่านทุกด่านแล้วไม่พบชื่อ “พสิษฐ์” หลุดรอดเข้าไทยแน่นอน ส่วนจะแอบหลบหนีเข้ามาหรือไม่ อันนี้ตำรวจไม่มีคำชี้แจง!
เลยทำให้บางคนแถวๆศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงนักการเมืองบางคน แถวๆ พรรคเพื่อไทย พลอยโล่งอก?
เพราะหาก “พสิษฐ์” ถูกจับได้ ก็หวั่นว่า “น้องปอย” จะเอาตัวรอดคลายความลับทั้งหมด ที่กุมเอาไว้โดยเฉพาะเบื้องหลังการถ่ายทำคลิปทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นคลิปล่อ “วิรัช ร่มเย็น” ส.ส.ระนอง อดีตทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ในคดียุบพรรคไปเจอกันที่ร้านอาหาร หรือบรรดาคลิปที่แอบถ่ายในศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลิปในห้องประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือคลิปที่ “พสิษฐ์” พยายามคุยกับตุลาการบางคนในเรื่องข้อสอบรั่ว เพื่อหวังจะนำมาดิสเครดิตตุลาการให้ยอมตัดสินยุบประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ
โดยพฤติการณ์แล้ว ทุกคนเชื่อว่า ไม่มีทางที่ “พสิษฐ์” จะทำโดยลำพัง มันต้องมีสั่งการและร่วมวางแผนรวมถึงคน “จ่ายเงิน” แน่นอน
ความลับทั้งหมดที่ “พสิษฐ์” กุมเอาไว้ เชื่อเถอะว่า วันนี้มันกำลังเป็น “ภัย” กับตัวเองอย่างมาก ถึงตอนนี้หลายคนก็ยังไม่รู้ว่า เสร็จภารกิจเผาศาล รธน.แต่ประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ “พสิษฐ์” จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ?
ขณะที่บรรยากาศ ณ ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ หลายคนบ่นว่าวังเวง มีแต่ความอึมครึม แม้ศาล รธน.จะผ่านวิกฤตศรัทธามาได้แบบเลือดโชก แต่บรรยากาศความอึมครึมยังไม่จางหายไป
ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง คนในห้องประชุมส่งข่าวมาว่า มันไม่เหมือนกับช่วงก่อนหน้าเกิดเรื่อง “คลิปลับ” เพราะบางคนแม้มีเรื่องค้างคาใจกันอยู่หลายเรื่องเช่น ข้องใจว่าทำไมไม่มีความคืบหน้าการสอบสวนกรณีข้อสอบบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ศาล รธน.รั่ว แต่ก็ไม่อยากไปคาดคั้นอะไรกัน
หรือความเห็นไม่ตรงกันในบางกรณี อย่างเช่นการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ประธานสภาผู้แทนราษฏรส่งมาให้ศาล รธน.วินิจฉัย เมื่อช่วงสิ้นปี 53 ซึ่งเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า มาตรา 64 ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องอัตราเงินเดือน-ค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญ ตุลาการเสียงข้างมากบางคนเสนอให้เรื่องนี้ควรทำเอกสารแถลงข่าวสั้นๆ เพื่อให้สาธาณชนรับรู้มติศาล รธน.แต่ “ประธานชัช” ไม่เห็นด้วย
เจอหลายเรื่องแบบนี้ บรรยากาศเลยอึมครึม ตุลาการเกรงใจกัน หลายเรื่องมีอะไรอยากพูดก็พูดไม่ได้ เพราะตุลาการ 7 คน จากทั้งหมด 9 คน ก็มาจากสายผู้พิพากษา ส่วนใหญ่รู้จักกันมา 20-30 ปี จึงนับถือกันเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง อาจารย์กับลูกศิษย์ ต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป แต่บางคนทนไม่ไหวก็ระบายให้คนนอกห้องประชุมรับรู้กันบ้าง
แต่ขอให้จับตา เชื่อว่าก่อนเข้าช่วงสงกรานต์ บรรยากาศอาจกลับมาตึงเครียดอีก หาก “ชัช ชลวร” ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ให้สัญญาไว้ในวันโหวตเลือกประธานศาล รธน.เมื่อ พ.ค.2551 ซึ่งชัช ประกาศว่าจะอยู่ในตำแหน่งแค่ 3 ปีแล้วจะลาออกจากตุลาการศาล รธน.ที่ทำให้พ้นจากประธานศาล รธน.ไปด้วย ซึ่ง พ.ค.นี้ก็ครบ 3 ปีแล้ว
ล่าสุดมีข่าวช่วงปีใหม่ว่า “ชัช” ยืนยันว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่คนในศาล รธน.ก็ยังไม่เชื่อมั่น 100%
หาก “ชัช” สละเก้าอี้ แคนดิเดทรอบนี้จะมีหลายคนเช่น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - จรัญ ภักดีธนากุล - นุรักษ์ มาประณีต เป็นต้น
อนาคตของ “ชัช” จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตามพอๆกับความเคลื่อนไหวของ “พสิษฐ์” อดีตลูกน้องคนที่ร่ำลือกันว่ามี “พี่สาวสวย” มีเสน่ห์บาดใจจนเป็นเหตุให้ตราชั่งเสียสมดุลไปแล้ว!!