กรณี “วีระ สมความคิด - ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์” ที่ถูกศาลกัมพูชายัดเยียดข้อหาร้ายแรง และตัดสินให้จำคุก อย่างไม่เป็นธรรมนั้น กลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมที่จะขอ “ฉันทานุมัติ” จากมวลชนเพื่อยกระดับการชุมนุม “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ไปอีกระดับ ในวันเสาร์ที่ 5 ก.พ.นี้
โดยตลอดกว่า 10 วัน ที่ปักหลักพักค้างชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลใดๆเลย ในช่วงแรกของการชุมนุมรัฐบาลอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะคาดว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมจะไม่มาก และไม่ยิ่งใหญ่เท่าการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลทรราชในอดีต เนื่องจากประเด็นปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชานั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
แถมปรามาสว่า “พันธมิตรฯขาลง” อีกต่างหาก
แต่หลังจากวันที่ 25 ม.ค.ซึ่งเป็นวันแรกของชุมนุม ผ่านมากว่า 10 วัน รวมทั้งการเดินสายติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถสร้างมวลชนได้ในระดับที่น่าพอใจ ยิ่งช่วงหลังๆประเด็นยิบย่อยรายทางกลับ “เข้าทาง” กลุ่มพันธมิตรฯเป็นระลอกๆ ตั้งแต่กรณีที่ทหารไทยกดดันให้กัมพูชาทุบป้าย “HERE IS CAMBODIA” หลังจากที่ถูกเปิดประเด็นบนเวทีที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
การปล่อยให้มีการปักธงชาติกัมพูชาในวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร ที่พันธมิตรฯยืนยันหนักแน่นว่าเป็นพื้นที่ของไทย กัมพูชาไม่สามารถปักธงแสดงอธิปไตยได้
หรือคำให้สัมภาษณ์ของ “กษิต ภิรมย์” รมว.ต่างประเทศ ที่กล่าวโจมตีการชุมนุมอย่างรุนแรง
รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ของคนในรัฐบาล คนใกล้ชิดของนายกฯ หรือแม้แต่ตัว “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี เองที่ทำให้เวทีพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานฯ มีประเด็นให้ “เรียกแขก” อย่างต่อเนื่อง
กลายสภาพจาก “ม๊อบคลั่งชาติ” ที่รัฐบาลดูแคลน เป็นพลังมวลชนที่กลายเป็นแรงกดดันที่จะเป็นปัจจัยสำคัญเร่งให้รัฐบาลตัดสินยุบสภาเร็วขึ้นด้วยซ้ำไป
ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯพยายามเรียกร้องผ่าน 3 ข้อเสนอ คือ “ยกเลิก MOU 2543 - ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก - ผลักดันชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย” แต่ทางกลับกันรัฐบาลเพิกเฉยดูดายต่อข้อเสนอ และยังไม่มีท่าทีความเคลื่อนไหวใดๆที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาได้เลย
มีเพียงความพยายามในการหยิบยกพยานหลักฐานต่างๆมาโต้ข้อมูลของกลุ่มพันธมิตรฯ ในลักษณะเอาชนะคะคานกันเท่านั้น แต่กลับไม่มีความพยายามในการโต้ตอบไปยังทางการกัมพูชา ทั้งในเรื่องการรุกล้ำดินแดนที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งปล่อยให้มีการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยใช้อำนาจศาลกัมพูชาตัดสินลงโทษ 7 คนไทย โดยเฉพาะนายวีระ และนางราตรีที่โดนโทษหนัก ฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายและจารกรรมข้อมูล
ในความเป็นจริงประเด็นการช่วยเหลือ 7 คนไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของการชุมนุมและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่เมื่อเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความพยายามในการช่วยเหลือ 7 คนไทยอย่างจริงจังตั้งแต่ต้น ซึ่งพันธมิตรฯได้เล็งเห็นถึงความเสียหายที่จะมีต่ออำนาจอธิปไตยของไทย และพยายามเสนอแนวทางการต่อสู้กับทางการกัมพูชาถึงการจับกุมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการให้รัฐบาลประกาศอย่างแข็งกร้าวไม่ให้ 7 คนไทยเข้าสู่กระบวนการศาลของกัมพูชา และกดดันให้ส่งตัวทั้งหมดกลับมาทันที โดยยืนยันว่าจุดที่ 7 คนไทยถูกล้อมจับนั้นยังเป็นแผ่นดินไทยอยู่เป็นข้อต่อสู้
แต่นายกฯอภิสิทธิ์เลือกที่จะใช้ข้อต่อสู้ที่ว่า 7 คนไทยรุกแดนกัมพูชาจริง แต่ไม่ได้เจตนา แถมยังให้ข้อมูลที่เป็น “โทษ” ปรักปรำคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะ 2 คนที่เหลือที่นายกฯอภิสิทธิ์ย้ำนักย้ำหนาว่ารุกดินแดนกัมพูชาจริง
เมื่อไม่ฟังภาคประชาชน “ผลลัพธ์” ที่ออกมาจึงต่างออกไปในทางที่ทำให้อำนาจอธิปไตยของชาติถูกย่ำยี รัฐบาลไทยถูก “ตบหน้า” อย่างแรง ปล่อยให้ “จิ้งจอกฮุนเซน” ใช้เป็นประเด็น “ตีกิน” เอาหน้าทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลผิดพลาดซ้ำซาก ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่เด็ดขาดในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของไทย และไม่สนใจช่วยเหลือคนไทยอย่างจริงจัง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ในวันที่ 5ก.พ. ต้องมีการถาม “ฉันทานุมัติ” ในการยกระดับการชุมนุมจากมวลชนพันธมิตรฯ
เพราะหากทอดเวลาออกไปเรื่อยๆ ความสุ่มเสี่ยงที่ไทยต้องเสียดินแดนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
โดยในการ “ยกระดับ” นั้นมีหลายหลากแนวทาง ทั้งการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล เคลื่อนขบวนกดดันกระทรวงการต่างประเทศ หรือเปลี่ยนแนวทางจากเรียกร้องให้รัฐบาลมาหน้าที่มาเป็นการ “ขับไล่” รัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติโดยรีบตอบรับ 3 ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ
บรรดากองเชียร์กองแช่งอาจจะต้องผิดหวัง หากอยากเห็นพันธมิตรฯบุกเผาสถานทูตกัมพูชา เหมือนกรณี “ดาวพระศุกร์” ที่พวกเขมรเผาสถานทูตไทยในพนมเปญเมื่อหลายปีก่อน เพราะตรงนี้จุดยืนของพันธมิตรฯชัดเจนว่าต้องการกดดันรัฐบาลไทยให้ไปกดดันกัมพูชา ไม่ใช่การกดดันรัฐอื่นโดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
ส่วนประตูการเจรจานั้นถูก “ปิดตาย” ไปนานมากแล้ว แม้รัฐบาลพยายามจะยื่นไมตรีมาตลอดในระยะหลังๆก็ตาม เพราะพันธมิตรฯเชื่อว่าไม่ว่าจะคุยกี่หน ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายรัฐบาลออกมาให้เห็นเลย จึงหนีไม่พ้นที่จะเดินตามทางที่เคยผู้กล่าวไว้ว่า “เมื่อเปลี่ยนความคิดของรัฐบาลไม่ได้ ก็คงต้องเปลี่ยนรัฐบาล...”
หากการยกระดับครั้งนี้ยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลทำหน้าที่ได้ คงต้องมีการยกระดับขั้นสูงที่สุดสู่การขับไล่ “พวกจ้องขายชาติ” ออกไปจากผืนแผ่นดินไทย
เพราะนายกฯอภิสิทธิ์เคยพูดไว้เองว่า “หากผมทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ไม่เพียงแต่ผมไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ควรอยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ”