xs
xsm
sm
md
lg

สึนามิการเมือง ถล่มโลกอาหรับ จากตูนีเซียถึงอียิปต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาติอาหรับหลายๆประเทศ ในทวีปอาฟริกาตอนเหนือ และตะวันออกกลาง มีลักษณะร่วมกันอยู่หลายประการคือ มีประชากร ที่เป็นคนหนุ่ม คนสาวจำนวนมาก และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ เป็นคนว่างงาน ไม่มีรายได้ ในขณะที่ ต้องเผชิญกับ ราคาอาหารที่สูงขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และ ภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
 
อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ในทางการเมือง เพราะผู้นำ ปกครองประเทศแบบเผด็จการ และผู้นำส่วนใหญ่ ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน จนย่างเข้าวัยชรา โดยไม่มีความชัดเจนในเรื่อง การสืบทอดอำนาจ ในขณะที่ประเทศเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น

ปัจจัยร่วมเหล่านี้ คือ เหตุที่เป็นชนวนก่อให้เกิด การชุมนุมทางการเมือง เพื่อขับไล่ผู้ปกครอง เมื่อเกิดขึ้นในตูนีเซีย ซึ่งสามารถขับไล่ประธานาธิบดี เบน อาลี ที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการมานาน 23 ปี ได้เป็นผลสำเร็จ ก็ส่งผลสะเทือนต่อเนื่องไปยังประเทศอาหรับใกล้เคียงที่มีปัญหาคล้ายกัน ให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านผู้นำ อย่างเช่น อัลจีเรีย เยเมน จอร์แดน ซูดาน และอียิปต์
 
ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค ครองอำนาจในอียิปต์มานานถึง 30 ปี เขาสาบานตนรับตำแหน่ง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2524 หลังจากอันวาร์ ซาดัต ประธานาธิบดีคนก่อน ถูกสมาชิกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงยิงตายในระหว่างร่วมพิธีสวนสนามของกองทัพในกรุงไคโร 8 วัน
 
ตอนที่อันวาร์ ซาดัต โดนยิง มูบารัคซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี ก็นั่งชมการสวนสนามอยู่ข้างๆด้วย แต่โชคดี ไม่ตกเป็นเหยื่อกระสุน มีชีวิตรอด และอยู่ในอำนาจมา จนกลายเป็นผู้นำที่ครองตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งในโลกอาหรับ จะเป็นรองก็แต่ โมฮัมหมัด กัดดาฟี่ ซึ่งปกครองลีเบียนานถึง 41 ปี

อียิปต์ เป็นชาติอาหรับที่มีประชากรมากที่สุด คือ ประมาณ 80 ล้านคนในปัจจุบัน และเป็นชาติอาหรับชาติแรก ซึ่งลงนามในสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล เมื่อ พ.ศ. 2521 และเป็นสาเหตุให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงไม่พอใจ จนนำไปสู่การสังหารซาดัต
 
ความที่เป็นชาติใหญ่ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นแหล่งอารยธรรมโลก อียิปต์จึงมีบทบาทเป็นผู้นำในโลกอาหรับ และด้วยแนวนโยบายที่เดินสายกลาง ไม่เป็นปกฺปักษ์กับอิสราเอล และโลกตะวันตก อียิปต์จึงเป็น "เด็กดี" ของสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่สำคัญในตะวันออกกลาง ในแต่ละปี จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลายพันล้านเหรียญ เพื่อสร้างแสนยานุภาพทางการทหาร ถ่วงดุลกับอิหร่าน และประเทศอาหรับที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ

อียิปต์มีการเลือกประธานาธิบดีทุก 6 ปี แต่เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิอกเสียงว่า จะรับรอง หรือไม่รับรอง ผู้สมัครที่รัฐสภาอนุมัติเท่านั้น ซึ่งมีเพียงมูบารักคนเดียวที่รัฐสภาให้การรับรอง เพราะพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติของเขา ครองเสียงข้างมากในสภา จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคู่แข่ง ทำให้มูบารักผูกขาดการเป็นประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียวมาถึง 4 สมัย

แม้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2548 จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดกว้าง สำหรับ การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้อียิปต์ ปฏิรูปการเมือง แต่ผู้ที่มีสิทธิสมัคร จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเลือกตั้ง เท่านั้น ซึ่งมีแต่ผู้ที่ลงสมัครเพื่อสร้างภาพให้เกิดการแข่งขัน หรือผู้สมัครที่มูบารักเชื่อว่า ไม่มีทางชนะได้เท่านั้น ที่ได้สิทธิสมัคร แต่สำหรับฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอย่างกลุ่ม "พี่น้องมุสลิม ( The Muslim Brotherhood) ซึ่งมีนโยบาย ใช้หลักศาสนาอิสลามในการปกครองประเทศ ถูกรัฐบาลห้ามไม่ให้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ทั้งสมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดี มูบารักจึงชนะการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดอย่างง่ายดาย

การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกันยายน ปีนี้ ซึ่งมูบารักจะลงสมัครอีก เขาเคยบอกว่า จะรับใช้อียิปต์ ตราบจนลมหายใจสุดท้าย ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มูบารักไม่เคยแต่งตั้ง รองประธานาธิบดีเลย เพื่งจะแต่งตั้ง พลเอกโอมาร์ สุไลมาน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกองทัพ เป็นรองประธานาธิบดี หลังจาก ประชาชนชุมนุมขับไล่ให้เขาพ้นจากตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ก็ฟูมฟักลูกชาย กามาล มูบารัก ให้เติบใหญ่ในพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งเชื่อกันว่า เขาต้องการรักษาอำนาจให้อยู่กับตระกูล มูบารักสืบไป โดยส่งต่อตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับลูกชาย

ประชาชนชาวอียิบปต์ กว่าครึ่งหนึ่ง มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 เหรียญ และมีประชากรส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานสูงถึง 10 % และเงินเฟ้อมากถึง 12 % เมื่อปีที่แล้ว

คนอียิปต์บริโภคขนมปังเป็นอาหารหลัก และเป็นชาติที่บริโภคขนมปังเป็นอาหารมากที่สุดในโลก เงินเฟ้อ และราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ทำให้ราคาขนมปังแพงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว ในร้านขนมปังของเอกชน ส่วนร้านขนมปังของรัฐ ที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าแป้งข้าวสาลี ขนมปังก็หายเข้าไปสู่ตลาดมืด การจลาจลย่อยๆ จากการแย่งกันซื้อขนมปัง ปันส่วนเกิดขึ้นบ่อยๆ

เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยอันวาร์ ซาดัต อียิปต์ เคยเกิด การจลาจลขนมปัง มาแล้วครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2520 เมื่อซาดัตประกาศเลิกการให้เงินอุดหนุน แป้ง ข้าวสาลี และ น้ำมันพืช ตามนโยบายของธนาคารโลก ที่เป็นเงื่อนไขในการให้เงินกู้กับอียิปต์ ทำให้ประชาชนที่เป็นคนยากจน ชุมนุมประท้วง กลายเป็นการจลาจล จนรัฐบาลต้องส่งกำลังทหารเข้าปราบปราม มีคนตาย 79 คน บาดเจ็บ 800 กว่าคน แต่สถานการณ์สงบลงภายใน 2 วัน หลังจาก ประธานาธิบดีซาดัต ยอมยกเลิกนโยบายตัดเงินอุดหนุน

การชุมนุมประท้วง ขับไล่ประธานาธิบดี มูบารักครั้งนี้ ซึ่งเริ่มมาแต่วันที่ 25 มกราคม นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ การจลาจลขนมปัง เมื่อ 34 ปีที่แล้ว มีคนตายมากกว่า 100 คน บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และถูกจับ 1,000 กว่าคน ในการประท้วงที่ไคโร อเล็กซานเดรีย และสุเอซ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิ วตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง เช้าวันรุ่งขึ้น และส่งรถถัง กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่ประชาชนก็ไม่กลัว นัดหมายกันอออกมาชุมนุมทุกวัน โดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เป็นเครืองมือสื่อสาร ทลายการปิดล้อมด้านข้อมูล ข่าวสารของรัฐ โดยมีเป้าหมายแน่วแน่คือ มูบารักต้องออกไป

ขนมปังที่ราคาแพง และขาดแคลน เป็นหนึ่งในสาเหตุของการต่อต้าน ที่สมทบกับปัญหาอื่นๆ คือ การว่างงาน เงินเฟ้อ การคอร์รัปชั่น ความไม่พอใจในระบอบการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่มูบารักอยู่ในตำแหน่ง เขาแคล้วคลาดจากการลอบสังหาร 6 ครั้ง แต่ไม่เคยเจอกับ พลังประชาชนทีออกมาขับไล่ เหมือนครั้งนี้เลย อียิปต์มีกองทัพที่เข้มแข็ง และมูบารักเชื่อว่า จงรักภักดีกับเขา มูบารักยังเชื่อว่า จะใช้กำลังทหารเข้าข่มขู่ ปราบปรามประชาชนให้ยุติการชุมนุมได้ เขาจึงเผยแพร่ภาพข่าวการไปเยี่ยมค่ายทหาร เพื่อแสดงว่า กองทัพยังอยู่กับเขา และ ส่งเครื่องบินรบบินเหนือฝุงชนในระดับต่ำ เพื่อขู่ผู้ชุมนุม

แต่ประชาชนชาวอียิปต์ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาไม่กลัวเลย โมเมนตัมของการชุมนุม มีกำลังแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทางที่จะหยุดยั้งได้จนกว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาจะบรรลุ คือ มูบารักต้องลาออก

สหรัฐฯ และอังกฤษ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า หมดเวลาของมูบารักแล้ว ผ่านถ้อยแถลงของประธานาธิบดีบารัก โอบารืมา และนายเดวิด คาเมรอน ที่เรียกร้องให้มูบารักยุติการใช้กำลังกับประชาชน ให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ทั้งยังต้องการให้ การเปลี่ยนผ่าน เป็นไปอย่างราบรื่น ( Orderly transition)

อียิปต์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อสหรัฐฯ ทั้งในฐานะ พันธมิตรในตะวันออกกลาง ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล และในฐานะชาติอาหรับสายกลาง ที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้อียิปต์เป็นแบบตูนีเซีย ที่ประนาธิบดีเบน อาลี หนีออกนอกประเทศ ทำให้เกิดสูญญากาศของอำนาจ การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้นในอียิปต์ จะเป็นสึนามิทางการเมืองลูกใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนต่อ ชาติอาหรับอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐเช่น ซาอุดิอารเบีย หรือจอร์แดน ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้น ลุกขึ้นมาก่อการแบบชาวอียิปต์ เหมือนที่ ตูนรเซีย เป็นแบบอย่างให้คนอียิปต์มาก่อน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ จึงอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงผู้นำเท่านั้น แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลง ระบบการปกครอง ที่จะส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

สหรัฐฯ จึงอยากจะเห็นอียิปต์มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นขั้น เป็นตอน สามารถควบคุมได้ เพื่อปิดช่องว่าง ที่จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ เช่น มูบารักลาออก โดยแต่งตั้งรองประธานาธิบดัรักษาการ หรือ ประกาศ วางมือ ไม่ลงเลือกตั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

การที่มูบารักแต่งตั้งรองประธานาธิบดี เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี และการที่กลุ่มผู้ต่อต้านมูบารัก มอบหมายให้ โมฮัมเหม็ด เอลบาราได อดีตผู้อำนวยการทบวงพลังงานนิวเคลียร์นานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลโนเลบสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2548 เป็นผู้นำในการเจรจากับมูบารัก เป็นความพยายามที่จะทำให้ สถานการณ์ในอียิปต์ลงเอยแบบซอฟต์แลนดิ้ง

ในขณะเดียวกัน การที่กลุ่มพี่น้องมุสลิม ซึ่งไม่แสดงบทบาทใดๆในครั้งนี้ แต่ คัดค้าน การให้นายเอลบาราได เป็นตัวแทนของกลุ่มต่อต้านมูบารัก ก็เป็นความพยายามที่จะแสวงหาประดยชน์จากสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น