xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทยทานไหว “กรณ์” ย้ำพื้นฐานแข็งแกร่งรับมือโลกผันผวนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กรณ์” ระบุ นักลงทุนเทขายหุ้น เพราะกังวลสถานการณ์อียิปต์-ตูนิเซีย หวั่นกระทบราคาน้ำมันโลก มั่นใจพื้นฐานประเทศแข็งแกร่งรับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลกได้ พร้อมควบคุมเงินเฟ้อดูแลราคาสินค้า ไม่ให้ส่งผลรุนแรงต่อกำลังซื้อของประชาชน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงวานนี้ (31 ม.ค.) สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ที่สะท้อนความกังวลต่อเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในอียิปต์และตูนีเซีย และเกรงว่าจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำมันและราคาน้ำมันได้ แม้อียิปต์ ไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ก็ควบคุมคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงสำคัญ ในการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ไปยังยุโรป ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงลง

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีความเข้มแข็ง ทั้งจากระดับหนี้สาธารณะที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง สถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง และปีนี้ที่คาดว่าไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10,000 ล้านดอลลาร์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถรองรับผลกระทบจากภายนอกได้

“หวังว่า ประชาชนในอียิปต์และตูนีเซียจะแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างสันติเพื่อไม่ให้มีความเสียหายต่อประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง และระบบเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจุบันความกังวลจากปัญหาของ 1 ประเทศ ว่า จะลุกลามไปประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง ส่วนไทยหากเกิดกรณีนี้ขึ้น ยังเชื่อมั่นความความเข้มแข็งของเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยจะเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง” นายกรณ์ กล่าวว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็พร้อมดูแลเรื่องราคาสินค้า ที่อาจได้รับผลกระทบจากราคา น้ำมันที่เพิ่มขึ้น และดูแลรายได้ของประชาชน ให้รองรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น อยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเชื่อมั่นที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพราคา โดยเห็นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 รอบ ซึ่งได้มีการประสานงานกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

นายกรณ์ ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของกระทรวงการคลังในยุคโลกาภิวัตน์” ในการอบรมของสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจการคลัง ว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ดูแลนโยบายมองประเด็นปัญหาของการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศเป็นโจทย์ที่แก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่าการดูแลเสถียรภาพด้านราคาคือ เงินเฟ้อ ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่เติบโต รัฐบาลก็สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มีการปรับลดภาษี เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ และประชาชนได้ประโยชน์

ขณะที่การแก้ปัญหาเสถียรภาพราคา ดูแลเงินเฟ้อ มีเครื่องมือแก้ปัญหาน้อย แม้แต่ ธปท.ก็มีข้อจำกัด ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะย่อมกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็ต้องส่งผลต่อราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยอาจกดดันให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ แม้ตามทฤษฎี บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นการออมเงินมากขึ้น และมีการกู้เงินลดลง แต่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มองว่าไม่มีสูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาตายตัว

“ผู้ว่าการ ธปท.เป็นบุคคลแรกที่ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ไตรมาส จึงจะเห็นผล ซึ่งมองว่า เวลา 2 ปี เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก เพราะการขึ้นดอกเบี้ยนั้นมีผลเกิดขึ้นทันที ดังนั้น จึงมีคำถามว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวหรือไม่ แต่กระทรวงการคลังมองว่า ยังมีเครื่องมืออื่น” นายกรณ์กล่าว

ในส่วนของกระทรวงการคลังมีการวางนโยบายให้สอดคล้องกับ ธปท.ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่า มีการปรับลดงบประมาณประจำปี 2555 ให้ขาดดุลงบประมาณน้อยลง เพื่อไม่ให้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่มีมากกว่า ดังนั้นนโยบายการคลัง ต้องไม่สร้างเงื่อนไขในการกระตุ้นราคาสินค้า และนโยบายธปท.ต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น