xs
xsm
sm
md
lg

สภาผ่านร่าง กม.บัตร ปชช.ทำบัตรเด็ก 1 ขวบ เชื่อดีมากกว่าเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ.บัตรประชาชนวาระ 3 ส.ส.รุมค้านให้เด็ก 1 ขวบทำบัตร สร้างภาระให้ผู้ปกครอง​ หวั่นข้อมูลส่วนตัวออกสู่สาธารณะ เข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ กมธ.แจงเด็กได้ประโยชน์เพียบ ยัน กม.ไม่มีสภาพบังคับจนกว่าอายุ 15 ปี ยืมมือศาลกำหนดโทษมือโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวบนชิป

วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนในวาระ หลังจากผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ โดยที่ประชุมได้อภิปรายในมาตรา 6 ที่ระบุให้ประชาชนต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี โดย ส.ส.ส่วนใหญ่แสดงความเห็นค้าน และรัฐบาลได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสรีระของเด็กที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาในการถ่ายรูปติดบัตร ไปจนถึงการสร้างภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองโดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด ในการทำบัตรใหม่ และกรณีบัตรหาย

นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เข้าใจว่า ประเทศไทยต้องการทำลายสถิติทุกประเทศที่ให้เด็กอายุตั้งแต่หนึ่งขวบทำบัตรประชาชน ซึ่งไม่มีประเทศใดทำกัน และเป็นการกำหนดอายุคนทำบัตรที่ลดลงอย่างมาก จากเดิมที่กำหนด 15 ปี ทำบัตรประชาชนลดมาเป็น 1 ปี ซึ่งสร้างภาระให้กับผู้ปกครอง และหากไม่มีความพร้อมก็จะสร้างความโกลาหลให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบทำบัตร ตนจึงเสนอให้ขยายเป็น 10 ปี

ทั้งนี้ ตัวแทนจากกรมการปกครองในฐานะกรรมาธิการ ได้ชี้แจงว่า การให้เด็ก 1 ขวบ ทำบัตรประชาชน โดยเฉพาะสมาร์ทการ์ด ที่จะรับประโยชน์จากหลายหน่วยงาน ทั้งแทนบัตรทองในการรักษาโรค ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของเด็ก สามารถใช้แทนบัตรนักเรียน หรือพัฒนาไปสู่การใช้เป็นบัตรผ่านเข้าร้านเกม หรือสถานที่อื่น

อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะมีการกำหนดให้เด็กอายุแรกเกิดถึง 14 ปี ต้องทำบัตรประชาชน แต่ไม่ได้บังคับในทางปฏิบัติ โดยสามารถทำด้วยความสมัครใจ และไม่มีบทลงโทษ หรือจะทำเมื่ออายุครบ 15 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่ประชาชนจะได้ คือ การเข้าสู่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของเด็ก แต่จะมีสภาพบังคับและมีบทลงโทษเมื่ออายุ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม สมาชิกยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ปรากฏอยู่ในชิปบนบัตรประจำตัว ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยไม่มีการให้ความคุ้มครอง ซึ่งอาจจะล่อแหลมต่อการเข้าถึงข้อมูล และการนำไปเผยแพร่ อีกทั้งการกำหนดให้เด็กอายุ 1 ปี ถึง 14 ปี มีบัตรประชาชน แต่กลับระบุว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เท่ากับการเป็นการทำลายหลักการของกฎหมาย เพราะทำให้ไม่มีสภาพบังคับ

ขณะที่ตัวแทนกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ข้อมูลที่เปิดเผยเบื้องต้นในชิปที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือ ข้อมูลทั่วไปตามที่ระบุบนบัตร อาทิ วันเกิด ที่อยู่ แต่ข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้จะต้องอาศัยการยินยอมจากเจ้าของบัตรก่อนเข้าถึงข้อมูล อาทิ ต้องใช้บัตรคู่กับลายนิ้วมือ หรือพินโค้ด ถึงจะเข้าสู่ข้อมูลที่มากกว่านั้นได้ และหากผู้ใดทำการเข้าถึงข้อมูล หรือเผยแพร่ข้อมูลของผู้อื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมก็จะมีบทลงโทษโดยศาลจะเป็นผู้กำหนด

สุดท้ายที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขในร่างของกรรมาธิการทุกมาตรา และลงมติในวาระ3 ด้วยคะแนนเสียง 240 ต่อ 106 เสียงงดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น