ผ่าประเด็นร้อน
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัว ญาติมิตรของพี่น้องทหารหาญทุกคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตีฐานปฏิบัติการ “พระองค์ดำ” สังกัดร้อย ร.15121ฉ.ก.นราธิวาส 38 ที่ตั้งอยู่ริมถนนมะรือโบตก -รือเสาะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 19 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 ศพ และได้รับบาดเจ็บกว่า 10 ราย
เหตุการณ์ดังกล่าวคนร้ายยังได้ปล้นปืนของทางราชการ ที่มีทั้งปืนเอ็ม 16 ปืนพกสั้นจำนวนประมาณ 50 กระบอก กระสุนปืนอีกหลายพันนัด ไปด้วย
เป็นเหตุร้ายที่เกิดขึ้นหลังจากที่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพียงไม่กี่ชั่วโมง และยังเกิดขึ้น 1 วันหลังจากที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับจากการไปร่วมงานพระราชเพลิงศพคุณครูที่เสียชีวิตจากการถูกคนร้ายลอบยิงจนเสียชีวิต ที่จังหวัดปัตตานี
ขณะเดียวกันหากไล่ย้อนดูเพื่อเปรียบเทียบจะพบว่า เป็นเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน “มกราคม” โดยเมื่อ 6 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์คนร้ายปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และล่าสุดก็มาเกิดขึ้นที่ ฐานปฏิบัติการ ฉ.ก.นราธิวาส 38 เมื่อคืนวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา
นอกเหนือจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งออกมาให้เห็นว่า ขบวนการโจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้ลดระดับลงไปแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับมีความ “แข็งแกร่ง” มากขึ้น โดยยืนยันจากคำพูดของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่าเหตุการณ์ปล้น-ฆ่าทหารในครั้งนี้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงมีการใช้กำลังมากกว่าเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 2547 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะมีการการก่อเหตุรุนแรงขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังตรงกันข้ามกับภาพที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามแสดงให้เห็นมาตลอดว่า สถานการณ์ก่อเหตุร้ายได้ลดลงแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าสถิติการก่อเหตุได้ลดลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีการงบประมาณจำนวนมากลงไปพัฒนาในพื้นที่ มีทั้งการฝึกอาชีพ การใช้กฎหมาย การพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการหาหลักฐานคนร้าย
นอกจากนี้ความพยายามแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เริ่มลดลงเรื่อยๆ และย้ำว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางก็คือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนในช่วงปลายปี รัฐบาลก็ได้ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยนำร่องไป 1 อำเภอ คือ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีไปแล้ว และยังมีเป้าหมายไปยังจังหวัดอื่นๆตามมา ซึ่งจะให้ยกเลิกในลักษณะ 1 อำเภอ 1 จังหวัด
สิ่งที่น่าจับตาที่สุดก็คืออีกไม่นานนับจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาใหม่อย่างเป็นรูปธรรมนั่นคือการใช้กฎหมายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.) ฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต.ในการโยกย้ายลงโทษข้าราชการระดับ10 ลงมา หากเห็นว่ามีพฤติกรรมและท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงในพื้นที่ยกเว้นข้าราชการในหน่วยงาน อัยการ และกองทัพ ซึ่งระบุว่ามีกฎหมายเฉพาะบังคับใช้อยู่แล้ว
สำหรับ ศอ.บต.ในโครงสร้างใหม่ระบุว่าจะให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะของสภาที่ปรึกษา ให้ความคิดเห็น ในลักษณะกึ่งควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่
ภาพที่ออกมาก่อนหน้านี้จนกระทั่งก่อนค่ำวันที่ 19 มกราคมที่เกิดเหตุคนร้ายบุกเข้ามาปล้น-ฆ่าทหารในฐานปฏิบัติการ “พระองค์ดำ” ดูแล้วชวนเคลิบเคลิ้มไปกับคำพูดของคนในรัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถาวร เสนเนียม ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้โดยตรงที่กล่าวตรงกันว่า “ความรุนแรงเริ่มลดลง” หรือ “เรามาถูกทางแล้ว” ฯลฯ
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติอาจเห็นคล้อยตามไม่ยาก เพราะตัวเลขลดน้อยลงมาจริง แต่ระดับความรุนแรงไม่ได้ลดลงเลย ตรงกันข้ามกลับมีพัฒนามากขึ้นจนน่ากลัว โดยเฉพาะการใช้ระเบิด และอาวุธสงครามอื่นๆ ถือว่ารุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนการจับกุมคนร้ายแม้ว่าจะเห็นภาพว่ามีมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วกลับยังไม่เห็นการจับกุมระดับแกนนำ “หัวโจก” ให้เห็นเลย ส่วนใหญ่เป็นแค่ระดับแนวร่วมที่เป็นวัยรุ่นในพื้นที่ระดับปฏิบัติการเท่านั้น
อย่างไรก็ดีแม้ว่าต้องให้ความเป็นธรรมว่าโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีอัตรากำลัง ยังไม่มีเลขาธิการฯคนใหม่ ขณะนี้ยังเป็นแค่รักษาการ คงต้องรออีกไม่เกิน 90 วัน อีกทั้งพื้นที่ในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ป่าเขาทำให้ยากแก่การป้องกันดูแล อีกทั้งเป็นการสู้รบ “นอกแบบ” ทำให้เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายตั้งรับและเสียเปรียบ แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ตามพระราชดำรัสได้อย่างแท้จริง ทั้งที่รัฐบาลได้ทุ่มเททั้งงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปอย่างเต็มกำลังแล้ว ดังนั้นปัญหาน่าอยู่ที่ฝ่ายควบคุมนโยบายว่ามีคุณภาพแค่ไหนต่างหาก
โดยเฉพาะ ระดับบริหารนโยบายอย่าง นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเฉพาะคนหลังเคยได้เห็นประสิทธิภาพงานด้านความมั่นคงของชาติ งานที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงบางหรือไม่ หากมีความเห็นโต้แย้งลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพสักเรื่องก็ได้
ดังนั้นเหตุการณ์ปล้น-ฆ่าทหารที่ฐานปฏิบัติการ ฉก.นราธิวาส 38 ถือว่าร้ายแรงอย่างที่สุด และที่สำคัญเป็นภาพสะท้อนความจริงที่ตบหน้าฝ่ายบริหาร ที่พยายาม “กลบเกลื่อน” สถานการณ์เพื่อหวังผลทางการเมืองแบบฉาบฉวยไปวันๆเท่านั้น และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ปิดได้ไม่มิด !!