นายกฯ เสียใจโจรใต้ถล่มยิงทหารนราฯ แย้มกองทัพปรับแผนอยู่ รับสอบเกลือเป็นหนอน คาดตอบโต้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวังโชว์ผลงานไอโอซี เผยจุดปะทะเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เชื่อฝีมือกลุ่มเดิม มีเป้าหมายทางการเมือง ยันไม่กระทบเลิก พ.ร.ก.พื้นที่อื่น ชี้ไม่เหมือนปล้นปืนปี 47
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มฐานปฏิบัติการทหาร กองร้อยทหารราบที่ 15121 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 38 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนมีทหารเสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อค่ำวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า รัฐบาลเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียและกับครอบครัว ขณะนี้ทางกองทัพกำลังดำเนินการปรับแนวทางในบางเรื่อง เมื่อถามว่ามีช่องว่างอะไรที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบุกเข้าไปก่อเหตุและปล้นปืนได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า บางประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตก็มีการสอบอยู่ ส่วนหนึ่งของเราขณะนี้มันค่อนข้างมีการกระจาย อาจจะเป็นจุดเปิดช่องทำให้เกิดเหตุได้
สำหรับปัญหาความมั่นคงที่ทำให้เกิดจุดช่องว่างนั้น นายกฯ กล่าวว่า จุดพื้นที่เกิดเหตุก็เป็นสภาพภูมิประเทศ และถ้าดูแนวโน้มเหตุการณ์มา ยอมรับว่ายังเป็นพื้นที่ที่มีการเสี่ยงสูง คือที่อำเภอระแงะ จังหวะเวลานี้คาดการณ์ได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์การประชุมอิสลาม (โอไอซี) ที่พยายามตอบโต้ หรือยั่วยุจากแนวทางของรัฐบาลที่เดินไปในเรื่องของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินบ้าง เรื่องการดำเนินการที่จะให้ชาวโลกเข้าใจแนวทางของเรา โดยปกติพอใกล้ประชุมโอไอซีก็มีความพยายามก่อเหตุ หรือยั่วยุให้เกิดการตอบโต้เพื่อนำไปใช้เป็นเงื่อนไข
เมื่อถามว่า เกลือเป็นหนอนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังมีการสอบอยู่เหมือนกัน เพราะมีข้อสังเกตกับเรื่องนี้ในบางเรื่อง เมื่อถามต่อว่า การรายงานด้านการข่าวมีรายงานเรื่องนี้เข้ามาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จริงๆ ก็มีรายงานอยู่บ้าง แต่อย่างที่เรียนมันอาจจะจุดอ่อนบางเรื่อง ซึ่งทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกก็เพิ่งลงไป เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ต้องมีการปรับแนวทางให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อถามต่อว่าพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ใช่เลย เราก็มีการประเมินสถานการณ์ความรุนแรง และระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ตรงนี้ค่อนข้างจะเป็นพื้นที่โดยสภาพภูมิศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ ด้วย ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงอยู่แล้ว อยากที่เรียนว่าแนวที่เราพยายามทำเรื่องการพัฒนาก็ยังไม่สามารถทำได้ควบคุม หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกพื้นที่ และพื้นที่ตรงนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ยากลำบาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากรายงานเบื้องต้นเป็นการกระทำของกลุ่มใด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีเป้าหมายไม่ว่า จะเป็นการก่อความไม่สงบ หรือทางการเมือง ก็เป็นกลุ่มเดิม เพียงแต่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงสร้างของกลุ่มเขาไปบ้าง จริงๆ ผู้ที่ก่อความไม่สงบลักษณะก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ถ้าดูจากอายุจะเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ยังเป็นรุ่นเก่าๆ คือ ความยากจะอยู่ในพื้นที่คือติดกับเทือกเขา เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังมีเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนอยู่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังมีเป้าหมายตรงนั้นอยู่ จะเรียกว่าแบ่งแยก หรืออ้างว่าเป็นเป้าหมายทางการเมือง เมื่อถามต่อว่า เกิดการอุกอาจอย่างนี้จะมีผลต่อการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ เพราะเราพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไปแล้ว ตรงนี้ไหนมีความพร้อมที่จะเดินหน้ายกเลิกได้ ก็เดินหน้ายกเลิก แต่พื้นที่ไหนที่ไม่มีความพร้อมเราก็ไม่มีความคิดที่จะยกเลิก และเขาก็ไล่ทำไป ซึ่งจะมีการสะท้อนความเป็นจริงของสภาพพื้นที่รวมด้วย และสภาพพื้นที่ด้วย เพราะฉะนั้นยังมั่นใจว่าในภาพรวมยังสามารถลดได้ การดูแลในบางพื้นที่ยังไม่สามารถลดได้ก็จะแยกแยะกันไป ผบ.ทบ.ก็ยืนยันว่าฝ่ายตรงข้ามอาจจะมีเจตนายั่วยุก็ได้มีการกำชับว่าลักษณะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะต้องยึดกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่เป็นเหยื่อของการยั่วยุให้เกิดวงจรของความรุนแรง และเอาไปเป็นเงื่อนไข โดยเฉพาะไปขยายผลในเวทีต่างประเทศด้วย
เมื่อถามว่า แสดงว่าแนวร่วมในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดอย่างนั้น เมื่อถามต่อว่า อย่างนี้แล้วจำเป็นต้องมาทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่หรือไม่ ในการนำร่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการปฏิบัติและการวางแนวทางปฏิบัติมากกว่าเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ และไม่น่าจะมีข้อกังวลในเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะว่าตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถยกเลิกได้ทันที แต่ตัวกฎอัยการศึกจะมีอีกช่วงหนึ่ง โดยกระบวนการทางกฎหมาย และตัวพื้นที่ความมั่นคงมันสวมเข้าไปแทนตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ทันที ซึ่งขณะนี้ก็ได้ประกาศไปแล้ว ส่วนบทเฉพาะกาลเพื่อที่จะให้ไม่มีการสดุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปล้นปืนเกิดขึ้นซ้ำถึงสองครั้งแล้ว จากการปล้นปืนที่กองพันค่ายทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 47 นายกฯ กล่าวว่า ตนยังมองลักษณะเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกันเสียทั้งหมด และสภาพตรงนี้เป็นเรื่องของการวางกำลังเพื่อมาปรับ เพราะต้องยอมรับว่าเราใช้วิธีระยะหลังกระจายไปดูกลุ่มต่างๆ ค่อนข้างมาก ในการคุ้มครองในการดูแลพื้นที่ เพราะว่าพอที่ผ่านเริ่มมีการใช้วิธีก่อวินาศกรรม ลอบทำร้ายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้นต้องมีกำลังเข้าไปดูแลตรงนั้น ก็ต้องกระจายออกไป แต่เราก็คาดการณ์ว่าเวลาช่วงต้นปี บางทีก็นับครบรอบเหตุการณ์บ้าง เฉพาะการประชุมโอไอซีก็คาดการณ์อยู่แล้วจะต้องมีความพยายามที่จะก่อความรุนแรง เชื่อหลังจากนี้ ผบ.ทบ.จะมีแนวทางเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจได้ สำหรับอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปนั้นก็กำลังมีการตรวจสอบอยู่