"อ.รัชนี" ระบุปัญหาเด็กเกิดจากไม่มีพื้นที่สำหรับเด็ก แนะจัดพื้นที่สื่อให้เด็กได้แสดงออก ส่วน"พท.พญ.กมลพรรณ" ชี้แก้ปัญหาปลายเหตุ อาจเป็นดาบสองคม แนะนำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็กนั่งถกถึงปัญหาที่แท้จริง ด้านตัวแทนเยาวชน ยันเป็นการแก้ปัญหาแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม ควรชะลอไว้ก่อน รับกังวลไม่รู้ว่ามีห้องควบคุมหรือไม่ และระหว่างเด็กรอผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าเอาตัวเด็กไปไว้ไหน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว”ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน วันที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 20.30-22.00 โดยมี นางรัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และ พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี เป็นประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พร้อมด้วย น.ส.ชนากานต์ อาทรประชาชิต ตัวแทนเยาวชน มาร่วมพูดคุยถึงนโยบายลดปัญหาอาชญากรรม ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกจากบ้านหลัง 22.00 น. ทำถูกทางแล้วหรือไม่
นางรัชนี กล่าวว่ามาตรการนี้หากมองในแง่ดี ถือว่าเป็นความหวังดีไม่อยากให้เด็กออกมามั่วสุม แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดีเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประเทศไทยออกกฎหมายทำนองควบคุมและกำกับไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ผู้ใหญ่ตีปัญหาเด็กในภาพลบมากเกินไป เรื่องนี้ต้องคำนึงถึงสถานะทางบ้านของเด็ก ที่เด็กออกจากบ้านมีหลายสาเหตุ เช่น ออกมาหาเพื่อนแก้เหงา เครียดจากการเรียน ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยสื่อสารกับผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจเหมารวมได้ว่าเด็กต้องออกมามั่วสุมเพียงอย่างเดียว
"พื้นที่ดีสำหรับเด็กไม่มี รัฐบาลปล่อยให้ทุนเสรีเข้ามาสร้างพื้นที่สำหรับเด็ก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นร้านเกมส์ ผับบาร์ แน่นอนร้านเหล่านี้ย่อมเป็นแหล่งจูงใจ เมื่อเด็กหาพื้นที่แสดงออกไม่ได้ก็ย่อมเข้าสถานที่เหล่านั้น อย่างร้านเกมส์ต้องห้ามที่ผู้ใหญ่ไม่ใช่ห้ามที่เด็ก ไม่เช่นนั้นเราจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ"
นางรัชนี กล่าวต่อว่าหากคิดว่าเด็กคือลูกหลานของสังคม ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายช่วยกันจัดหากิจกรรมทำรวมกัน เด็กจะรู้สึกอบอุ่นปัญหาต่างๆที่ตามมาจะลดลง สังคมเมืองในแหล่งที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ก็สามารถทำได้ เช่น จัดให้มีศูนย์ฮอทไลน์ให้เด็กปรึกษา จัดสื่้อรายการที่ดีสำหรับเด็ก หรือให้เด็กได้มีโอกาสทำสื่อที่ตัวเขาเองได้คิดและไปทำคุณประโยชน์มา เด็กจะได้ภูมิใจ สนใจแต่กิจกรรมนั้นไม่หันเหไปสู่อบายมุข เด็กไทยเก่งๆมีมาก แต่ไม่มีเวทีไม่มีพื่้นทีให้แสดงออก
ส่วนขั้นตอนปฎิบัติของตำรวจ โดยการจับตัวเด็กไปโรงพัก ขึ้นทะเบียนทำประวัติ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ บางทีเด็กไม่ผิดอุปสรรคของกรุงเทพรู้ๆกันอยู่ว่ารถติด อาจทำให้เด็กกลับบ้านไม่ทัน หากตำรวจทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับเด็กยิ่งขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะแก้รูปแบบเดียวอย่างปวดหัวเอะอะอะไรก็ ยาพารา ไม่ได้ อย่าให้เด็กมีบาดแผลอยู่ในใจเลย
พท.พญ.กมลพรรณ กล่าวถึงมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกจากบ้านหลัง 22.00 น. ว่า นับเป็นมาตรการที่ดีในขณะนี้ คิดดีดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย เนื่องจากบทบาททำตำรวจทำได้แค่นี้ อย่างน้อยก็คอยเป็นพ่อแม่ที่สองที่ช่วยควบคุมไม่ให้เด็กออกนอกลู่นอกทาง อย่างไรก็ดีต้องมีคำสั่งให้รัดกุมไม่ให้มีช่องว่างใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ ถ้าจะให้ดีกว่านี้รัฐบาลต้อง รับสนองพระราชดำรัส มีความจริงใจ มีเมตตาธรรม
ทั้งนี้ ตนอยากให้รัฐบาลผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ขอร้องว่าอย่าใช้คนเดิมทำงานแบบเดิมๆ ปัญหาเรื่องเด็กควรมีกระทรวงศึกษา กระทรวงสาธารณสุข ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มานั่งปรึกษากันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง หากรัฐบาลจริงใจปฎิรูปพัฒนาคนในชาติ ไม่ใช่มาตรการให้นมฟรี แต่ควรให้อาวุธทางปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จัดหาพื้นที่สาธารณะให้เด็กออกกำลังกาย ถ้าทำได้เช่นนี้จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้
"ที่เด็กออกนอกบ้านมีแรงกดดันหลายด้าน เช่น การศึกษา พ่อแม่ไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก ฝากพ่อแม้ด้วยว่าต้องสอนลูกเรื่องทักษะต่างๆการใช้ชีวิตในสังคม อย่าฝากชีวิตลูกไว้กับสังคม จะทำให้เด็กอยู่ในลู่ทางมากขึ้น"พท.พญ.กมลพรรณ กล่าว
น.ส.ชนากานต์ กล่าวว่ากฎหมายที่ออกมาจริงๆแล้วน่าจะเข้าถึงตัวเด็ก พูดคุย ให้รู้สาเหตุที่แท้จริง ปัญหาโดยเฉพาะในกรุงเทพฯช่วงเวลา 22.00 น. เหมาะสมแล้วหรือไม่ ยอมรับว่าน่าห่วงที่ไม่มีสหวิชาชีพเข้ามารับรอง และกลัวในประเด็นให้ตำรวจใช้ดุลพินิจซึ่งอาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะตำรวจเองก็มีหลายแบบ บางทีหลัง 22.00 น.เด็กอาจไปทำงานหารายได้พิเศษนอกเวลาเรียน หรือไปเรียนพิเศษเพิ่งจะกลับบ้านก็ได้
อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าในความที่เป็นเด็ก ตัวเด็กย่อมดีอยู่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมสังคมมากกว่าที่ทำให้เป็นแบบนี้ เช่นเด็กแว้น เป็นแค่แฟชั้นหรือไม่มีอะไรจะทำ หากเขาถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็จะไปเข้ากลุ่มประเภทอื่้นเอง ที่อ้างว่าสถิติอาชญากรเด็กเพิ่มขึ้น แต่สำหรับตนว่าเห็นว่าสถิติอาชญากรในผู้ใหญ่ก็เพิ่มขึ้นเหมือนกันและรุนแรงกว่าด้วย นโยบายห้ามเด็กออกจากบ้านนี้ เหมือนซุกปัญหาไว้ใต้พรม น่าจะมีกระบวนการอย่างอื่นไม่ใช่แค่การจับกุม ด้านตำรวจเองตอนกลางวันก็ทำงานเย็นก็กลับบ้าน แล้วกลางคืนจะเหลือสักกี่นาย จะควบคุมเด็กทั่วกรุงเทพฯที่มีอยู่มากมายได้หรือ อีกอย่างไม่รู้ว่ามีห้องควบคุมหรือไม่ และระหว่างเด็กรอพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าเอาตัวเด็กไปไว้ไหน ดังนั้นมารตการนี้น่าจะชะลอไว้ก่อน
"น่าจะมองมาตรการอื่นเพื่อเป็นการตัดไฟต้นลม บังคับใช้มาตรการที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญตำรวจต้องพร้อมกับการตรวจสอบอำนาจตรงนี้ด้วย การจะทำผิดหรือไม่ ไม่ได้จำกัดเวลาว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะกลางคืน หากตำรวจมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการห้ามเด็กออกจากบ้าน อยากให้ยับยั้งมาตรการนี้ไว้ก่อน แล้วให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาคุณและโทษ ของมาตรการนี้อย่างละเอียดและรอบคอบก่อน โดยเชิญหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาปรึกษา วางแผนแก้ปัญหาที่ต้นตอ" น.ส.ชนากานต์ กล่าว