xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องอดีต พนง.กทม.ฟ้องตั้ง กก.สอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องอดีตเจ้าพนักงาน กทม.ฟ้อง กทม. ที่ตั้ง คกก.สอบสวนกรณีกล่าวหาย้ายคนไม่มีสัญชาติไทยเข้าทะเบียนบ้าน

ที่ศาลปกครองสูงสุด วันนี้ (18 ม.ค.) นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของนายศึกษา ศรียาภัย อดีตเจ้าพนักงานปกครอง 7 หัวหน้าฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ฟ้องกรุงเทพมหานคร และพวกรวม 9 ราย กรณีขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2648/2552 ลงวันที่ 23 มิ.ย.52 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และขอให้ศาลมีคำพิพากษาพนักงานกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-9 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 5,999,990 บาท

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนายศึกษาฟ้องคดีโดยอ้างว่า ขณะที่รับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งเจ้าเจ้าพนักงานปกครอง 7 นางนินนาท ชลิตานนท์ ในฐานะรองปลัดกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2648/2552 ลงวันที่ 23 มิ.ย.52 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อสอบสวนตนเองกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยระบุว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครอง 5 หมวดทะเบียนราษฎร งานทะเบียนสำนักงานเขตบางเขน ในฐานะนายทะเบียน ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อ น.ส.สุริยา อำพันเงิน บุคคลที่มิได้มีสัญชาติไทย ในทะเบียนบ้านเลขที่ 1/15 หมู่ 6 แขวงสายไหม เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 ต.ค.32 ตามหลักฐานการอนุมัติคำร้องเลขที่ 730/10 ต.ค.32 กรณีคัดลอกตกหล่น โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียราษฎร สำหรับสำนักงานทะเบียนในเขตปฏิบัติการ ตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2528 ข้อ 119 ที่กำหนดให้สอบสวนเจ้าบ้าน และกำหนดเลขรหัสประจำตัวประชาชนประเภท 5

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2533 นายศึกษาได้เป็นนายทะเบียนรับแจ้งย้ายเข้าให้แก่ น.ส.สุริยา อีกครั้งตามหลักฐานใบแจ้งย้ายที่อยู่เลขที่ 437/30 ลงวันที่ 18 มิ.ย.2530 ของสำนักงานทะเบียนสำพันตา โดยแก้ไขรายการย้ายเข้าจากที่แจ้งไว้เดิมบ้านเลขที่ 1/15 หมู่ 6 แขวงสายไหม เขตบางเขต กทม. เป็นบ้านเลขที่ 126/11หมู่ 7 แขวงคลองถนน เขตบางเขน กทม. เป็นเหตุให้ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอาศัยโอกาสสำแดงเท็จและสวมตัวอ้างเป็น น.ส.สุริยา ซึ่งนายศึกษาเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2553 ไม่รับคำฟ้อง โดยเห็นว่านายศึกษายังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดี ต่อมานายศึกษาก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอ้างว่า คำสั่งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขั้นตอนการออกคำสั่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2528 และมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ตนเองจึงได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ถูกกระทบสิทธิที่จะต้องไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน เป็นที่ดูถูกดูแคลน ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

ซึ่งแม้การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะเป็นการเตรียมการในทางปกครอง แต่ถ้าการเตรียมการหรือดำเนินการโดยมิชอบ ก็มีผลให้คำสั่งทางปกครองออกมาเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วย โดยนายศึกษาได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสอบสวนขอคัดสำเนาเอกสาร และขอให้พิจารณาว่าคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบ รวมทั้งร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ก็ได้รับหนังสือจากรองปลัดกรุงเทพมหานครว่าคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชอบแล้ว และประธานคณะกรรมการสอบสวนก็ได้มีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถคัดสำเนาเอกสารให้ตี่ขอได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวม หรือจัดทำให้มีขึ้นใหม่ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน จึงเห็นว่าการดำเนินการต่าง ๆ มิชอบตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ระบุว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งจะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 42 นั้นจะต้องมีส่วนได้เสีย หรือประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องที่นำมาฟ้อง คดีนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการรสอบสวนเป็นเพียงขั้นตอนภายในของฝ่ายปกครอง ยังไม่มีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรืออหน้าที่ของนายศึกษาที่จะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นายศึกษาจึงยังไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของกรุงเทพมหานครและพวก ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวได้

และการที่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งดังกล่าวให้แก่นายศึกษานั้น โดยที่มาตรา 5 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสีหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้นนายศึกษาจึงฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-9 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ให้รับผิดในผลแห่งละเมิดไม่ได้

และที่นายศึกษามีคำขอในคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียโอกาสในการทำงานในหน่วยงานเอกชน เป็นเงินจำนวน 480,000 บาท ให้แก่ตนเองนั้นเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่าโดยชอบในชั้นศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่รับวินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่นายศึกษานั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น