xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ สอบปราบแดง คอป.แจง ส.ว. เผยส่งรายงานครั้งแรก 24 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กก.ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เชิญอนุฯ สอบปราบม็อบแดงแจง เผยคอป.จ่อรายงานความคืบหน้าครั้งแรกต่อรัฐ 24 ม.ค.นี้ ยันไม่มีสรุปใครผิดใครถูก แย้มมีข้อมูลเด็ดจากสื่อ เซ็ง ศอฉ.ไม่ให้ข้อมูลเพิ่ม ปูดตำรวจลวงแดงรับสารภาพโดยไม่รู้โดนโทษหนัก แย้มชงตั้งกองทุนช่วยเหลือจำเลยแดง ยันไม่พบละเมิดผู้ต้องขัง ด้าน ส.ว.ศรีสะเกษ เล็งเรียกเว็บถูกปิดแจง

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม เชิญนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาชี้แจงความคืบหน้าในทำงาน

นายสมชายกล่าวว่า งานของ คอป.เน้น 3 ด้าน คือ 1.การหาความจริงของเหตุความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 2.มาตรการการเยียวยาความเสียหาย ชีวิต จิตใจ ทรัพย์สินของทุกฝ่าย 3.หา เหตุปัจจัยของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสามารถเสนอมาตรการต่อรัฐบาลได้ทุกเวลา เพื่อแผ้วถางหนทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองแห่งชาติ โดยต้องทำรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน โดยวันที่ 24 มกราคมนี้ คอป.จะพิจารณาร่างรายงานความคืบหน้าครั้งที่ 1 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนส่งให้นายกฯ และเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ คอป.ยังไม่สรุปว่าใครผิดใครถูก และตนคิดว่าจะไม่มีการสรุป แต่น่าจะเอาข้อมูลมาช่วยให้เกิดความปรองดองมากกว่า

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนงานของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นฯ เน้นกรณีต่างๆในช่วงเมษายน-พฤษภาคม แต่ข้อจำกัดคือไม่มีอำนาจบังคับเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง จึงมีการทำงานแบบการสร้างความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ เพื่อค้นหาความจริง โดยได้ขอข้อมูลจากเหยื่อทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม แกนนำผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอ เอกชน บุคลากรด้านการแพทย์ โดยเฉพาะข้อมูลจากผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศ มีประโยชน์ เพราะมีพยานหลักฐานเชื่อถือได้ทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านตัวผู้สื่อข่าวเอง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่อาจจะกระทบยอดขาย และปัจจัยด้านกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ไปสัมภาษณ์มามากพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ ได้ข้อมูลจาก ศอฉ.2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับ ถ้ายังไม่ได้คงต้องขอไปทางนายกฯให้ช่วยสั่งการ

นายสมชายกล่าวว่า ข้อเสนอของ คอป.ที่เคยเสนอรัฐบาล เช่น การประกันตัว คอป.เห็นว่า อาจมีปัญหาหากมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมต่อไปโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดองไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือผู้ชุมนุมทั่วไป ซึ่งถ้าออกไปแล้วไม่รบกวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการหาพยานของเหตุการณ์ ก็ไม่ควรไปแย้งการขอประกัน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรัฐบาลก็มีการตอบสนองที่ดี แต่ยังมีปัญหาที่บางคนอาจโดนตั้งข้อหาแรงไป เช่น ไปตั้งถึงขนาดก่อการร้าย แม้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่คู่ความซึ่งก็คือพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยได้ คอป.จึงแนะไปว่า หน่วยงานฝ่ายรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและหนทางไปสู่ความปรองดอง

“คอป.พบปัญหาผู้ต้องหาคดีเล็กน้อย เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว หรือละเมิดข้อห้ามในการชุมนุมเล็กน้อย แต่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายช่วยสู้คดีเพราะไม่มีเงิน ก็ได้รับความเสียหายไปโดยไม่สมควร เช่น มีการร้องเรียนมาว่าพนักงานสอบสวนแนะนำว่าให้ยอมรับไปเพราะโทษเบาเหมือนเล่นไพ่ ศาลก็จะรอลงอาญา แต่สุดท้ายเมื่อรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษสถานหนัก จำคุก 1 ปี ตรงนี้ คอป.อาจจะเสนอให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นจำเลยด้านกฎหมาย เพราะถ้ามีทนายก็อาจจะสู้ในชั้นอุทธรณ์หรือขอประกันตัวออกมาก่อนได้ ไม่เช่นนั้นคนจนก็จะยิ่งรู้สึกกระทบจิตใจ ตอกย้ำสิ่งที่เขารู้สึกว่ามีสองมาตรฐาน” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือ พนักงานสอบสวนบางรายยังยอมรับว่า คำนึงถึงการสนองนโยบายของผู้ใหญ่บางรายที่สั่งการมา มากกว่าความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คอป.เห็นว่า เป็นประเด็นสำคัญเรื่องความเป็นมืออาชีพ และหลักนิติรัฐ ซึ่งต้องเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมต่อไป

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกคุมขัง ไม่พบว่ามีการละเมิดร้ายแรง หรือจงใจละเมิด แต่อาจจะมีบางคนได้รับบาดเจ็บบ้างจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมช่วงการชุมนุม หรือช่วงการเผาสถานที่ และมีการขังบุคคลตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ในรถขนผู้ต้องขัง อย่างไรก็ดี คอป.กังวลเรื่องการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมา ที่พบว่า มีคำถามในสายตาของต่างชาติว่าใช้มากเกินไปหรือไม่ เพราะท่าทีในวงการทูตแต่ละประเทศเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงที่ผ่านมา พบทั้งเห็นใจรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ตรงนี้ก็จะเสนอเป็นข้อสังเกตในรายงานต่อไป

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนเรื่องการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์หลังเหตุการณ์ ตนคิดว่าสิทธิการชุมนุม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย หากไม่สามารถใช้กลไกอื่นๆ ในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนว่าพื้นที่ทางการเมืองที่เคยมี วันนี้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเมืองที่เติบโตมากขึ้นของคนกลุ่มต่างๆ แต่รัฐยังไม่เข้าใจจึงไปปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความปรองดอง สำหรับเรื่องสื่อที่ฝ่ายรัฐเข้าไปควบคุมโดยเฉพาะเว็บไซต์อ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือ สร้างความแตกแยก คอป.เห็นว่าเรื่องพวกนี้ควรให้องค์กรวิชาชีพควบคุมดูแลกันเองมากกว่าไปไล่ปิดกั้นเพราะพื้นที่สื่อ ควรจะเปิดกว้างให้มีการพูดคุยกันมากกว่าปิดปาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการชี้แจงนาน 2 ชั่วโมง นายจิตติพจน์สรุปว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลของคณะกรรมการฯ ให้ คอป.ต่อไป และการประชุมสัปดาห์หน้าวันที่ 24 มกราคม จะเชิญ เว็บไซต์ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดมาให้ข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น