xs
xsm
sm
md
lg

โจกแดงก่อการร้ายยื้อคดี ยื่นเปลี่ยนผู้พิพากษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-จำเลยแดงก่อการร้ายให้การสู้คดี ศาลนัดสืบพยาน 28 ก.พ.นี้ กำชับ"วีระ-จตุพร-การุณ"มาศาลและห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณา ด้าน ทนายแดงอ้างเหตุไม่ให้โอกาสสู้คดี ขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา ขณะที่ คอป.แฉขอข้อมูลศอฉ.ไม่ยอมให้ ระบุ ผู้ต้องหาบางคนถูกตั้งข้อหาแรงเกินไป

วานนี้(17 ม.ค.)เวลา 11.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.),นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย, นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กับพวกซึ่งเป็นแนวร่วม นปช.รวม 19 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้น กระทำการเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

โดยศาลได้อ่านอธิบายคำฟ้องให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 และนายการุณ โหสกุล จำเลยที่ 9 ฟังจนเป็นที่เข้าใจแล้วสอบคำให้การจำเลยให้การปฏิเสธ อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมสำนวนกับคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช.จำเลยคดีก่อการร้าย และมีผู้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีก 4 ราย อีกทั้งทนายจำเลยได้ยืมสำนวนคดีส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประกอบการยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว และจำเลยได้ยื่นคำร้องเข้ามาในหลายกรณี จึงให้นัดฟังคำสั่งคดี พร้อมกำหนดนัดวันสืบพยาน ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. พร้อมกำชับให้จำเลยที่ 1, 2 และ 9 ที่ได้รับการประกันตัว มาร่วมการพิจารณาคดีในนัดหน้า และห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังการพิจารณา

ด้าน นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช.กล่าวว่า ทีมทนายเตรียมยื่นคำร้องต่อนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาในคดีเนื่องจากเห็นว่าไม่ให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เนื่องจากไม่อนุญาตให้กลุ่มคนเสื้อแดงร่วมฟังการพิจารณาคดี

**คอป.ซัดขอข้อมูลศอฉ.ไม่ยอมให้**

วันเดียวกันเวลา 14.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม เชิญนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)มาชี้แจงความคืบหน้าในทำงาน

นายสมชาย กล่าวว่า งานของ คอป. เน้น 3 ด้าน คือ 1.การหาความจริงของเหตุความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 2.มาตรการการเยียวยาความเสียหาย ชีวิต จิตใจ ทรัพย์สินของทุกฝ่าย 3.หาเหตุปัจจัยของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสามารถเสนอมาตรการต่อรัฐบาลได้ทุกเวลา เพื่อแพ้วถางหนทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองแห่งชาติ โดยต้องทำรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน โดยวันที่ 24 มกราคม นี้ คอป.จะพิจารณาร่างรายงานความคืบหน้าครั้งที่ 1 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี

นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนงานของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นฯเน้นกรณีต่างๆในช่วงเมษายน-พฤษภาคม แต่ข้อจำกัดคือไม่มีอำนาจบังคับเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง จึงมีการทำงานแบบการสร้างความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆเพื่อค้นหาความจริง โดยได้ขอข้อมูลจากเหยื่อทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม แกนนำผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอ เอกชน บุคลากรด้านการแพทย์ โดยเฉพาะข้อมูลจากผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศ มีประโยชน์ เพราะมีพยานหลักฐานเชื่อถือได้ทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านตัวผู้สื่อข่าวเอง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่อาจจะกระทบยอดขาย และปัจจัยด้านกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้ไปสัมภาษณ์มามากพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ ได้ข้อมูลจากศอฉ. 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับ ถ้ายังไม่ได้คงต้องขอไปทางนายกฯให้ช่วยสั่งการ

**ยอมรับบางคนถูกตั้งข้อหาแรงไป**

นายสมชาย กล่าวว่า ข้อเสนอของคอป.ที่เคยเสนอรัฐบาล เช่น การประกันตัว คอป.เห็นว่า อาจมีปัญหาหากมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมต่อไปโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดองไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือผู้ชุมนุมทั่วไป ซึ่งถ้าออกไปแล้วไม่รบกวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการหาพยานของเหตุการณ์ ก็ไม่ควรไปแย้งการขอประกัน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรัฐบาลก็มีการตอบสนองที่ดี แต่ยังมีปัญหาที่บางคนอาจโดนตั้งข้อหาแรงไป เช่น ไปตั้งถึงขนาดก่อการร้าย แม้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่คู่ความซึ่งก็คือพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยได้ คอป.จึงแนะไปว่า หน่วยงานฝ่ายรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและหนทางไปสู่ความปรองดอง

นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกคุมขัง ไม่พบว่า มีการะละเมิดร้ายแรง หรือจงใจละเมิด แต่อาจจะมีบางคนได้รับบาดเจ็บบ้างจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมช่วงการชุมนุม หรือช่วงการเผาสถานที่ และมีการขังบุคคลตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ในรถขนผู้ต้องขัง อย่างไรก็ดี คอป.กังวลเรื่องการใช้อำนาจภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมา ที่พบว่า มีคำถามในสายตาของต่างชาติว่า ใช้มากเกินไปหรือไม่ เพราะท่าทีในวงการทูตแต่ละประเทศเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงที่ผ่านมา พบทั้งเห็นใจรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ตรงนี้ก็จะเสนอเป็นข้อสังเกตในรายงานต่อไป

**ทูตญี่ปุ่น ดอดพบ บิ๊กจิ๋ว**

ที่พรรคเพื่อไทย นายโนบุอากิ อิโตะ อัครราชทูตญี่ปุ่น ฝ่ายการเมืองประจำประเทศไทย เดินทางเข้าพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยไม่มีความตึงเครียดแต่อย่างใด โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายโนบุอากิ จึงเดินทางกลับ ทั้งนี้ภายหลังการพูดคุยก็ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากพลเอกชวลิต ว่ามีประเด็นเรื่องใดบ้าง แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการสอบถามความคืบหน้าการเสียชีวิตของนักข่าวชาวญี่ปุ่น ขณะที่มาติดตามทำข่าวสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้นายโนบุอากิ เคยเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อทวงถามความคืบหน้าการเสียชีวิตของนักข่าวชาวญี่ปุ่น โดยภายหลังการเข้าพบได้ออกมาแสดงความเสียใจเกี่ยวกับคดีดังกล่าวที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งการพูดคุยกับพลเอกชวลิตในครั้งนี้ อาจคาดหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือติดตามคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น