xs
xsm
sm
md
lg

“เทพมนตรี” ย้ำคำพูด “พนิช” ถูกจับในที่นา ริมถนนศรีเพ็ญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพมนตรี ลิมปพยอม
“เทพมนตรี” ลำดับเหตุการณ์ 7 คนไทยถูกจับ เชื่อคำพูด “พนิช” มีน้ำหนักมากที่สุด บอกถูกจับในทุ่งนา ริมถนนศรีเพ็ญ สวนทางกับข้อมูลของกองเขตแดน, กรมแผนที่ทหาร และกระทรวงการต่างประเทศที่อ้างพยานให้ข้อมูลว่าถูกจับที่วัดโจกเจีย ล้ำเขตเขมร 55 เมตร และ 1.2 ก.ม.

เมื่อเวลา 23.01 น. นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ ได้เผยแพร่บทความ ผ่านเฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayom เรื่อง “7 คนไทยในดินแดนไทย” ตอนที่ 1 ระบุว่า “ลอกคราบประวัติศาสตร์ ตอนที่ 1 หลักฐานว่าด้วยเรื่องการจับ 7 คนไทย ตรงไหนที่คนไทยถูกจับ”

“ปัญหาที่สำคัญกรณี 7 คนไทยถูกทหารกัมพูชาล้อมจับตัวนั้นก็คือ ตำแหน่งของสถานที่ที่ถูกจับกุมตัวโดยทหารกัมพูชาติดอาวุธ เพราะมันหมายถึง การกระทำที่ถูกต้องในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรเป็นประชาชนคนไทยซึ่งมีหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยเฉพาะ ส.ส.พนิช วิกิตเศรษฐ์ ย่อมมีความชอบธรรมที่จำ ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย (ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เขต 6 กรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว) และโดยคำสั่งราชการลับจากนายกรัฐมนตรี (ดูคลิปวิดีโอ) ที่พยายาม หาข้อเท็จจริงกรณีที่ทำกินของชาวบ้าน กับสิ่งที่ตรงข้ามก็คือ 7 คนไทยกระทำผิดเดินรุกล้ำเข้าไปยังดินแดนประเทศกัมพูชาหรือเขมร ผมได้นั่งทบทวนและประมวลเหตุการณ์ ทั้งหมดที่ได้จากการสนทนาทางโทรศัพท์กับคุณพนิช วิกิตเศรษฐเมื่อคืนวันที่ 26 ธันวาคม 2553 ซึ่งในเวลานั้นผมไปร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาทางวิชาการ ที่จังหวัดศรีสะเกษ สำหรับประเด็นที่คุณพนิชและคณะรวมแล้วคือ 7 คนไทยไปลงพื้นที่นั้นมีเหตุผล 2 ประการ คือ

1.ต้องการทราบว่าที่ดินทำกินของประชาชนคนไทยได้ถูกบุรุกจากกองกำลังทหารฝ่ายกัมพูชาเข้ามาหรือไม่ 2.ปัญหาเรื่องหลักเขตที่ 46-47

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะต้องศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ สถานที่ที่คนทั้ง 7 ถูกจับกุมตัวนั้นอยู่ในดินแดนไทยหรือกัมพูชา และปัญหาเขตแดนของเราคืออะไร กัมพูชารุกล้ำดินแดนเราเข้ามาขนาดไหน เราอาจมองเรื่อง 7 คนไทยได้หลายแบบ และแบบที่คนโดยทั่วไปมักมองก็คือ การดูคลิปวิดีโอ โดยเฉพาะคลิปวิดีโอ 20 นาที ที่ถือว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด และมีการเผยแพร่และตีความไปตามมุมมองต่างๆมากที่สุด

เนื่องจากผมเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างรับผิดชอบว่า คนไทยทั้ง 7 คนนั้นถูกทหารกัมพูชาติดอาวุธบุกรุกเข้ามาจับกุมในดินแดนประเทศไทย ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่าหลัก ฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดน่าจะได้แก่หลักฐานในวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุ ผมได้พยายามตรวจสอบจากหลักฐานที่หลากหลาย เพื่อให้การศึกษาค้นคว้านี้มี ความรัดกุมมากขึ้นผมจึงขอเรียงลำดับการศึกษาดังนี้

1. สถานที่ที่คนไทยถูกจับอยู่ตรงไหน
2. สถานที่ที่ถูกจับเป็นดินแดนของไทยหรือกัมพูชา

1. สถานที่ที่คนไทยถูกจับอยู่ตรงไหน

จากช่วงสุดท้ายของคลิปวิดีโอ 20 นาทีได้ให้เรื่องราวเพียง ทหารเขมรขี่มอเตอร์ไซด์ออกไป แล้วยังมีทหารเขมรที่พูดภาษาไทยไม่ชัดพูดทำนองว่า “เดี๋ยวเคลียร์ได้” ประเด็นของผมก็คือ ถ้าดูเฉพาะคลิปวิดีโอแล้วทำใจเป็นกลางๆ จะเห็นว่าคลิปวิดีโอไม่ได้บ่งบอกถึงจุดเกิดเหตุหรือสถานที่ถูกทหารเขมรล้อมเข้าจับกุมแต่อย่างใด ในตอนท้ายของคลิปวิดีโอมีบทสนทนาของคน 2-3 คนที่เป็นคนไทยพูดกับทหารเขมร โดยมีคุณราตรี ยังคงยืนถ่ายวิดีโอที่พกติดตัวมา ซึ่งหากมองสถานการณ์ตอนนั้นแล้ว คลิปวิดีโอนี้อาจให้ความหมายได้เพียงแค่ทหารเขมรได้ร้องขอให้หยุดเดินเพียงเท่านี้ หรืออาจสอบถามว่ามาทำอะไร หรือเลวร้ายสุดคือขอกักตัวรอหน่วยเหนือ (ดังเห็นได้จากทหารเขมรคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปจำคุณวีระ สมความคิดได้) และในขณะเดียวกัน คนไทยทั้ง 7 คนคงไม่มีใครกล้าที่จะเดินหน้าต่อไป เราจะเห็นปฏิกิริยาที่ละล้าละลังของคนทั้งหมด แม้ คุณวีระ สมความคิด จะเคยเดินเข้ามาจนถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 แต่โดยสามัญสำนึกทั่วไปคงไม่อยากให้มีการจับกุมอีก การเดินหน้าต่อไปจึงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราเชื่อเฉพาะคลิปวิดีโอที่ให้ข้อมูลแก่เราในฉากสำคัญที่สุดเราก็จะเห็นภาพนี้ คนไทย 7 คน ยืนสนทนากับทหารเขมรชั้นผู้น้อย (เพราะมีวลีที่ฟังได้ว่าผมไม่รู้ : อาจเป็นทหารที่มาใหม่)

อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐาน โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง และได้นำเสนอต่อสาธารณะ ดังนี้

พล.ต.นพดล โชติศิริ รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร กล่าวให้สัมภาษณ์ตามที่เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานไว้ว่า “ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมแผนที่ทหารซึ่งเป็นฝ่ายเทคนิค ได้ร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบจุดที่ 7 คนไทยถูกจับกุม ผลปรากฏว่าจุดที่ถูกจับกุมตัวอยู่บริเวณซุ้มประตูวัดโจกเกีย ไม่ใช่บริเวณหน้าวัดโจก เกีย ซึ่งถือว่าต่างกัน เพราะบริเวณซุ้มประตูอยู่ระหว่างหลักที่ 46-47 เข้าไปในเขตกัมพูชา 55 เมตร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการหาข้อยุติเรื่องการปัก ปันเขตแดน โดยในชั้นต้นอยู่ในขั้นสำรวจปักปันเขตแดน การที่กลุ่มคนไทยเข้าไปในพื้นที่อาจเกิดขึ้นได้โดยน่าจะเป็นความเข้าใจผิด กรมแผนที่ทหารเป็นข้าราชการประจำ ไม่ เทกไซด์ฝ่ายใด ตนพูดชัดเจนแล้วว่า มีการรุกล้ำเข้าไประหว่างหลักที่ 46-47 ประมาณ 55 เมตร ผลการตรวจสอบของเราเป็นวิทยาศาสตร์ ผลออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น”

การมีข้อมูลที่จำกัดของกรมแผนที่ทหารเพราะมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุในวันที่คนไทย 7 คนถูกจับกุมนี้ คงมีที่มาในการดำเนินการร่วมกันกับ กองเขตแดน กระทรวงการต่าง ประเทศที่ได้ลงพื้นที่ไปยังบริเวณดังกล่าว ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2553 ตามการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2553 ความว่า “นางวาสนา ห่อนบุญเหิม พร้อม นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นำคณะตรวจหลักเขตแดนที่ 46 บ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง ซึ่งอยู่ห่างจากถนนศรีเพ็ญ ลึกเข้าไปประมาณ 600 เมตร พบว่ามีการขึงลวดหนามแสดงแนวเขตศูนย์อพยพบ้านหนองจานไว้อย่างชัดเจน และเมื่อพ้นลวดหนามเข้าไปจะเป็นชุมชนชาวเขมร ปลูกบ้านเรียงรายกว่า 500 หลังคาเรือน โดยมีทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธครบมือยืนเรียงรายอยู่บนถนน K5 ของกัมพูชา ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนศรีเพ็ญระหว่างนั้นมี ทหารกัมพูชาเดินเข้าไปหาคณะพร้อมสั่งห้ามเดินรุกล้ำเกินแนวลวดหนามเข้าไป อ้างว่าไม่ปลอดภัย คณะทั้งหมดจึงพากันย้อนกลับไปที่ถนนศรีเพ็ญ พร้อมสอบถามพยานที่ เดินทางไปกับคณะคนไทยทั้ง 7 คน โดยพยานยืนยันว่า คนไทยทั้งหมดได้เดินรุกล้ำลวดหนามไปถึงถนน K5 ฝั่งกัมพูชา และถูกทหารกัมพูชาจับตัวบริเวณหน้าวัดโจ๊กเจีย หรือ วัดโชคชัย ในหมู่บ้านโจ๊กเจียของกัมพูชา ซึ่งห่างจากถนนศรีเพ็ญเข้าไปประมาณ 1,200 เมตร โดยนางวาสนากล่าวว่า “จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดรายงานให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปเจรจากับสมเด็จฯ ฮุนเซน ในช่วงเย็นวันที่ 30 ธันวาคม”

จากหลักฐานดังกล่าวเบื้องต้นทำให้ทราบว่า การลงพื้นที่ของกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศและกรมแผนที่ทหาร ทำให้เห็นขบวนการ และวิธีการในการหาข้อมูลที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ผู้อำนวยการกองเขตแดน ยังมิได้เข้าไปถึงบริเวณจุดเกิดเหตุหรือสถานที่จับกุมตัวคนไทยเลย แต่เชื่อพยานที่มาพร้อมกับ คนไทยทั้ง 7 แต่พยานก็มิได้เดินทางเข้าไปด้วย เพราะถ้าเดินทางเข้าไปด้วยแล้วก็คงถูกจับกุมตัวไม่สามารถให้ปากคำแก่ผู้อำนวยการกองเขตแดนได้ รวมทั้งตำแหน่งของสถานที่จับกุมตัว คือ วัดโจกเจียหรือโชคชัย ในภาษาไทย ทำไมพยานจึงรู้ได้ รู้ได้อย่างไรในเมื่อไม่เห็นกับตาตัวเอง เพราะพยานไม่ได้เข้าไปและเป็นการเดินทางมาครั้งแรกของ พยานในบริเวณดังกล่าวด้วย พยานจึงมิใช่ผู้จัดเจนพื้นที่บริเวณดังกล่าว

อีกประการหนึ่ง หากการลงพื้นที่ของกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฏหมาย เป็นคราวเดียวกันกับที่กรมแผนที่ทหารอ้างว่าได้ทำการตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุที่คนไทยทั้ง 7 คน ถูกจับกุมและไปพร้อมกับกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า กรมแผนที่ทหาร รู้ได้อย่างไรว่าคนทั้งหมดถูกจับในบริเวณวัดโจกเกีย (โชคชัย) เพราะยังเดินไป ไม่ถึงหลักเขตที่ 46 เนื่องจากทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธได้เดินเข้ามาห้ามปรามตามข้อมูลการรายงานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐข้างต้นที่กล่าวว่า “ทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธครบ มือยืนเรียงรายอยู่บนถนน K5 ของกัมพูชา ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนศรีเพ็ญระหว่างนั้นมีทหารกัมพูชาเดินเข้าไปหาคณะพร้อมสั่งห้ามเดินรุกล้ำเกินแนวลวดหนามเข้าไป อ้างว่าไม่ปลอดภัย คณะทั้งหมดจึงพากันย้อนกลับไปที่ถนนศรีเพ็ญ”

ด้วยเหตุนี้ข้อมูลของหน่วยงานทั้งสองที่เป็นทางการต่างขัดแย้งและสับสนกับความน่าเชื่อของพยานที่ไม่เคยเข้าไปในพื้นที่บริเวณที่ 7 คนไทยถูกจับกุมเลย ลักษณะดังกล่าว คือวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการบอกเล่าหรือสอบพยานโดยปราศจากการลงไปดูสถานที่จริงและการคาดคะเนด้วยการดูคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานร่วม ซึ่งผมได้อธิบาย แล้วว่าคลิปวิดีโอได้ให้ภาพของการยืนสนทนามิใช่ภาพการล้อมเข้าจับกุม ถ้าอย่างนั้นจะทำเช่นไร จะหาข้อพิสูจน์อย่างไร เพราะการที่กรมแผนที่ทหารออกมาอธิบายโดย การคาดคะเน ซึ่งมิได้แสดงหลักฐานวัตถุพยานที่เกิดเหตุหากแต่อาศัยคำบอกเล่าว่า คนไทยทั้ง 7 จะเดินไปยังหลักเขตที่ 46 (เพราะกองเขตแดน ลงพื้นที่เดินไปทางเดียวกับคน ไทยทั้ง 7 คน) และเดินเลยเข้าไปประมาณ 600 เมตร (ถนนศรีเพ็ญไปหมู่บ้านเขมรอพยพ) ผมได้ตัดตอนบทสัมภาษณ์ของรองเจ้ากรมแผนที่ทหารที่กล่าวว่า “ผลปรากฏว่าจุดที่ถูกจับกุมตัวอยู่บริเวณซุ้มประตูวัดโจกเกีย ไม่ใช่บริเวณหน้าวัดโจกเกีย ซึ่งถือว่าต่างกัน เพราะบริเวณซุ้มประตูอยู่ระหว่างหลักที่ 46-47 เข้าไปในเขตกัมพูชา 55 เมตร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการหาข้อยุติเรื่องการปักปันเขตแดน”

จากข้อมูลตรงจุดนี้ ถ้าสมมติว่าผมเชื่อว่า คนไทยทั้ง 7 ถูกจับกุมบริเวณซุ้มประตูวัดโจกเจีย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อผมศึกษาจากสภาพแวดล้อมและภาพถ่ายทางอากาศ หรือแผนที่ L7018 จะพบว่าบริเวณที่คนไทยทั้ง 7 คน ถูกจับกุมตัวนั้นย่อมอยู่ในหมู่บ้านเขมรอพยพนั่นเอง แม้ว่าวัดโจกเกียจะไม่ปรากฏชื่ออยู่บนแผนที่ฉบับใดเลยตั้งแต่ แผนที่ L7017, 7018 และแม้แต่ L7016 ระวาง Poi Pet ของกัมพูชา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการคาดคะเนว่าคนไทยทั้ง 7 คนถูกจับอยู่บริเวณซุ้มประตูวัดโจกเกีย ก็คือการเดาจากหลักฐานที่มี อยู่และมิใช่หลักฐานที่อยู่ในฐานะที่น่าเชื่อถือ 100% ถ้าอย่างนั้นเราควรเชื่อหลักฐานแบบไหน

เพื่อให้เรื่องนี้มีความกระจ่างมากขึ้น ผมจะขอนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้เป็นรากฐานของการค้นหาความจริง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการศึกษาด้วยหลักฐานและเหตุผล ถ้า เรามีใจที่เป็นธรรมจะเห็นว่า สถานที่เกิดเหตุหรือจุดจับกุมตัว ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะถ้าต้องการจะพิสูจน์ว่าคนไทยทั้ง 7 คน ถูกจับกุม ณ บริเวณใด ง่ายที่สุดคือ ต้องให้คนไทยทั้ง 7 คน มาชี้ที่เกิดเหตุและอธิบายคลิปวิดีโอ 20 นาทีดังกล่าว ด้วยวิธีสืบสวนสอบสวน อาทิ ลงรถที่ไหน? เดินไปตรงไหน? ทำไมจึงเดินไป? เมื่อเดินไปเจอทหาร เขมรแล้ว? เหตุการณ์ต่อเนื่องจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? ถ้าทำได้เช่นนี้ความจริงก็จะปรากฏชัดเจนโดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลาเดาหรือคาดคะเน

ดังนั้น ผมจึงใช้วิธีที่คิดว่าจะหาความจริงที่ใกล้เคียงกับความจริงให้ได้มากที่สุด วิชาประวัติศาสตร์เรียกว่า หลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นต้นที่เป็นหลักฐานชั้นดีที่สุดคือหลักฐานที่ เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ กะทันหัน และไม่ได้เตรียมการ นั่นคือ อาการที่เรียกว่าตกอยู่ในสถานการณ์ตอนถูกจับ ซึ่งหลักฐานจากการให้สัมภาษณ์สด และในวันเกิดเหตุคือวันที่ 29 ธันวาคม 2553 โดยตัวคุณพนิช วิกิตเศรษฐ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ซึ่งผมขอยกตัวข้อความมาจากเว็ปไซต์กรุงเทพธุรกิจ ความว่า “คณะได้ถูกจับกุมอยู่ริม ถนนศรีเพ็ญ บ้านหนองจาน อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยได้เดินเข้าไปในพื้นที่นาของชาวบ้าน และกำลังจะเข้าไปในหมู่บ้าน ทันใดนั้นก็มีกลุ่มทหารเขมร 8-9 คน พร้อมอาวุธครบมือล้อมกรอบและจับกุมตัว พร้อมทั้งยึดอุปกรณ์สื่อสาร กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ บัตรทุกชนิดของคณะ ซึ่งได้แสดงตัวว่าเป็น ส.ส.เพื่อมาตรวจสอบพื้นที่แต่กลุ่ม ทหารไม่ฟัง พร้อมได้ควบคุมตัวและนำกลุ่มคณะมาคุมตัวที่สวนผลไม้ ซึ่งระหว่างที่มีการเจรจาต่อรอง ได้โทรศัพท์หานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ายังอยู่ในเขตพื้นที่ของไทย จากนั้นได้ร้องขอให้คืนอุปกรณ์สื่อสารและทรัพย์สินทั้งหมด ให้กับคณะ ต่อมากองกำลังทหารเขมรจึงยอมคืนอุปกรณ์และทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละคนให้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของทางการไทยในส่วนท้องถิ่นคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด สระแก้ว นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ก็ได้ประสานเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวตนและชาวคณะ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าพื้นที่ที่ถูกจับเป็นเขตของประเทศไทย นายพนิช กล่าวว่า “ร.ต.แซมดิน และนายวีระ ยืนยันว่าอย่างนั้น เพราะชาวบ้านเจ้าของพื้นที่มีโฉนด ที่ดินของทางการไทย และใช้ทำนามาโดยตลอด อีกทั้งยังเสียภาษีบำรุงท้องที่มาทุกปี ทั้งนี้ การที่ตนลงพื้นที่เพื่อตรวจดูหลักหมุดที่ปักปันเขตแดนของทั้งสองประเทศ แต่พอเดินเข้าหมู่บ้าน ยังไม่เข้าเขตชายแดนและยังไม่พบหลักหมุดก็ถูกจับเสียก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเขตประเทศไทย นายพนิชกล่าวว่า “ตนเข้าใจว่าเช่นนั้น และตนเชื่อว่าขณะที่โดนจับและอยู่ในทุ่งนาของชาวบ้านอยู่ในเขตแดนไทย และไม่ เข้าใจเช่นกันว่าทำไมถึงมีทหารเขมรเข้ามา”

เมื่อถามว่า ทหารเขมรมีนายทหารระดับสัญญาบัตรควบคุมมาด้วยหรือไม่ นายพนิช กล่าวว่า “เข้าใจว่าคงเป็นระดับผู้กอง ซึ่งครั้งแรกเขาควบคุมตัวเข้มงวดมาก จนเมื่อมีตัว แทนของทางราชการไทยเข้ามาติดต่อ จึงทำให้สถานการณ์ผ่อนคลาย และทหารเขมรจึงได้คืนอุปกรณ์สื่อสารและทรัพย์สินให้กับตน สำหรับการใช้โทรศัพท์มือถือก็ต้องคอยดูจังหวะ เพราะไม่ค่อยสะดวก” ซึ่งก่อนที่นายพนิชจะขอตัวตัดสายไปได้บอกว่า “แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะผมไม่สะดวกแล้ว” ซึ่งได้ใช้เวลาสัมภาษณ์ประมาณ 5 นาที

จากบทสัมภาษณ์ของคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ 1 ใน คนไทยทั้ง 7 ที่ถูกจับกุมตัว ได้บอกอะไรหลายอย่าง อย่างแรกสถานที่ที่เขาถูกจับ “คณะได้ถูกจับกุมอยู่ริมถนนศรีเพ็ญ บ้าน หนองจาน อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยได้เดินเข้าไปในพื้นที่นาของชาวบ้าน” บทสัมภาษณ์อีกตอนหนึ่งยังกล่าวว่า “ร.ต.แซมดิน และนายวีระ ยืนยันว่าอย่างนั้น เพราะชาวบ้านเจ้าของพื้นที่มีโฉนดที่ดินของทางการไทย และใช้ทำนามาโดยตลอด อีกทั้งยังเสียภาษีบำรุงท้องที่มาทุกปี ทั้งนี้ การที่ตนลงพื้นที่เพื่อตรวจดูหลักหมุดที่ปักปันเขตแดน ของทั้งสองประเทศ แต่พอเดินเข้าหมู่บ้าน ยังไม่เข้าเขตชายแดนและยังไม่พบหลักหมุดก็ถูกจับเสียก่อน” เมื่อถามย้ำว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเขตประเทศไทย นายพนิชกล่าวว่า “ตนเข้าใจว่าเช่นนั้น และตนเชื่อว่าขณะที่โดนจับและอยู่ในทุ่งนาของชาวบ้านอยู่ในเขตแดนไทย และไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมถึงมีทหารเขมรเข้ามา”

บทสัมภาษณ์ของคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ ในยามที่ถูกจับ ได้ให้อะไรแก่เราบ้าง
1. เขาถูกจับบริเวณที่นาของชาวบ้าน ริมถนนศรีเพ็ญ คำว่าที่นาของชาวบ้านนั้นคือสถานที่ที่เกิดเหตุการจับกุมโดยทหารของกัมพูชาพร้อมอาวุธ ต่อมาได้ควบคุมตัวและนำ กลุ่มคณะมาคุมตัวที่สวนผลไม้
2. เขายังไม่เข้าชายแดนและยังไม่พบหลักหมุด 46
3. ที่นาที่ถูกทหารเขมรเข้ามาจับกุม “ร.ต.แซมดินและนายวีระยืนยันว่าอย่างนั้น เพราะชาวบ้านเจ้าของพื้นที่มีโฉนดที่ดินของทางการไทย และใช้ทำนามาโดยตลอด อีกทั้งยัง เสียภาษีบำรุงท้องที่มาทุกปี”
4. สัญญาณมือถือมีความชัดเจน เว้นเพียงเมื่อ “ไม่สะดวก” ดังคำสัมภาษณ์ที่ว่า “สำหรับการใช้โทรศัพท์มือถือก็ต้องคอยดูจังหวะ เพราะไม่ค่อยสะดวก” ซึ่งก่อนที่นายพนิชจะ ขอตัวตัดสายไปได้บอกว่า “แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะผมไม่สะดวกแล้ว”

จากหลักฐานชั้นต้น คือจากปากคำของคุณพนิชนั้น ย่อมพิสูจน์ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจและอาจมีบางตอนสอดคล้องต้องกันและขัดแย้งกันกับ การลงพื้นที่ของกองเขต แดนกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหาร สิ่งที่เหมือนกันมีดังนี้

1. -กองเขตแดนและกรมแผนที่ทหาร มาที่บริเวณถนนศรีเพ็ญเหมือนกัน ผู้อำนวยการกองเขตแดนเดินมาถึงรั้วลวดหนามหยุดและไม่เดินต่อเพราะพบ “ทหารกัมพูชาพร้อม อาวุธครบมือยืนเรียงรายอยู่บนถนน K5 ของกัมพูชา ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนศรีเพ็ญ ระหว่างนั้นมีทหารกัมพูชาเดินเข้าไปหาคณะ พร้อมสั่งห้ามเดินรุกล้ำเกินแนวลวดหนาม เข้าไป อ้างว่าไม่ปลอดภัย” หลังจากนี้เป็นเรื่องของการรายงานสภาพพื้นที่ที่ถัดจากรั้วลวดหนามเข้าไปเป็นหมู่บ้านเขมรอพยพ อาจจะเป็นทหารตชด.ในพื้นที่รายงานให้ฟัง (เพราะผอ.ก็ไม่เคยมา เพราะถ้ามาคงรู้ว่ามีทหารเขมรควบคุมพื้นที่อยู่ อีกทั้งเป็นถึง ผอ.กองเขตแดนต้องรู้โดยหน้าที่อยู่แล้ว) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วร่วมอยู่ด้วย การ สอบถามพยานและการคาดคะเนร่วมกับกรมแผนที่ทหาร (55 เมตรจากหลักเขต 46-47 นั้นคงมาจากการดูคลิป)

-7 คนไทยเดินผ่านรั้วลวดหนามเข้าไปในหมู่บ้านเขมรอพยพซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน (แต่ยังไม่ถูกจับ) พูดคุยกับชาวบ้าน เดินไปเหมือนไปเที่ยวเยี่ยมเยียน ดูเป็นมิตร ซื้อน้ำดื่ม ร้านค้าในหมู่บ้าน ไปยืนดูป้ายต่างๆ รวมไปถึงได้คุยกับทหารเขมร (ไม่ใช่การจับกุมตัว) ดูได้จากคลิปวิดีโอ 20 นาที

2. -ผู้อำนวยการกองเขตแดนและกรมแผนที่ทหาร ยืนยันว่า คุณพนิชและคณะถูกจับบริเวณซุ้มประตูวัดโจกเกีย ล้ำแดน ระหว่างหลักที่ 46-47 ไป 55 เมตรในฝั่งกัมพูชา

-แต่คุณพนิชบอกว่าตัวเขาและคณะคนไทยถูกจับกุมที่บริเวณที่นาของชาวบ้าน แล้วนำไปควบคุมที่สวนผลไม้ ไม่ไกลจากถนนศรีเพ็ญ ที่น่าสนใจก็คือในบทสัมภาษณ์ของคุณพนิช บอกว่า “ระหว่างที่มีการเจรจาต่อรอง ได้โทรศัพท์หานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” จากหลักฐานที่คุณพนิชบอกนี้ ผมจึงเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีรู้ถึงที่เกิดเหตุก่อน ผอ.กองเขตแดน ,กรมแผนที่ทหาร และผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว รวมไปถึง บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่นี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้เดินทางไปทีหลังเหตุการณ์ เพราะคุณพนิชคงหวังพึ่งพิงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาเชื่อว่ามีอำนาจเหนือกว่าใครๆ และถือว่าเป็นการ รายงานผู้บังคับบัญชา “ที่นายกฯ ให้ลงไปดูพื้นที่ ลับและไม่มีใครรู้” “พนิชถูกจับในที่นาใกล้ถนนศรีเพ็ญ” คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ซึ่ง เป็นวันเดียวกันกับที่ ผอ.กองเขตแดนและกรมแผนที่ทหารลงพื้นที่ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจและผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นและจุดพลิกผันของเรื่องนี้

“ขอเรียนว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้น 7 คนนี้ เข้าไปดูพื้นที่กรณีที่มีการร้องเรียนของประชาชนเรื่องที่ทำกิน รวมทั้งหลักเขตแดน รวมทั้งมี นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพ มหานคร พรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่ด้วย โดยนายพนิชนั้นตนมอบหมายให้ไปประสานงานกับบุคคลที่มีความคิดเห็นเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อทราบปัญหาข้อ ร้องเรียนต่างๆ และก่อนเดินทางนายพนิชบอกว่า จะไปลงพื้นที่ ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการดูพื้นที่ที่ชายแดนที่มีการร้องเรียน แต่รายละเอียดเรื่องเส้นทางไปนั้น ตนไม่ทราบ จนปรากฏเป็นข่าวว่าถูกจับ ต้องขอเรียนว่า การจับกุมที่เกิดขึ้น ถ้าจับกุมในเขตแดนของเรา เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้แน่นอนเด็ดขาด แต่การจับกุมครั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นการจับกุมเลยหลักเขตแดนของไทยไปแล้ว ไม่ใช่หลักของฝ่ายกัมพูชา กำลังมีการตรวจสอบโดยกระทรวงการต่างประเทศส่งคนลงไปในพื้นที่ พร้อมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อ ไปดูจุดต่างๆ สิ่งที่เราได้ข้อมูลตรงกับทุกฝ่าย คือ คนทั้ง 7 ได้ลงจากรถที่ถนนศรีเพ็ญ แล้วมุ่งหน้าไปทางหลักเขตแดนที่ 46 ที่ยังไม่ตรงกันจากที่มีการรายงานจากที่กัมพูชาอ้าง คือเดินไปไกลแค่ไหน ฉะนั้นอยากเรียนว่า การที่รัฐบาลจะดำเนินการกำหนดท่าที ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นสำคัญ ซึ่งกำลังเร่งให้ตรวจสอบ ส่วนที่กัมพูชาระบุว่ามีการพบ คนของเราที่วัดโจ๊กเจีย ถ้าเป็นจริงตามนี้ ชัดเจนว่าจะเลยเขตแดนของเราที่เรากำหนด แต่ขณะนี้ต้องตรวจสอบอีกครั้ง แต่ไม่ว่ากรณีจับกุมจะเกิดขึ้นที่ฝั่งใดก็ตาม เราเห็นว่า บุคคลทั้ง 7 ควรจะได้รับการปล่อยตัวทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางฝ่ายนโยบายทั้งสองฝ่ายได้เคยคุยกันว่า กรณีที่เกิดปัญหาในชายแดนลักษณะนี้ โดยเฉพาะไม่มีอะไรบ่งบอกว่า คนทั้ง 7 มีอาวุธ ไม่ควรที่จะมีการจับกุมและเข้าสู่กระบวนการของศาล เพราะว่าจะทำให้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น”

สิ่งที่ผมได้ค้นพบก็คือ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนที่กัมพูชาระบุว่ามีการพบคนของเราที่วัดโจ๊กเจีย ถ้าเป็นจริงตามนี้ ชัดเจนว่าจะเลยเขตแดนของเราที่เรากำหนด” ตรงจุดนี้น่าสนใจที่สุดคือ ตำแหน่งของ “การพบคนของเราที่วัดโจกเจีย” ซึ่งตรงและต่างกับสิ่งที่กรมแผนที่ทหารอ้างว่า ผลปรากฏว่าจุดที่ถูกจับกุมตัวอยู่บริเวณซุ้มประตูวัดโจกเกีย ไม่ใช่บริเวณหน้าวัดโจกเกีย ซึ่งถือว่าต่างกัน เพราะบริเวณซุ้มประตูอยู่ระหว่างหลักที่ 46-47 เข้าไปในเขตกัมพูชา 55 เมตร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการหาข้อยุติเรื่องการปักปันเขตแดน” ส่วน ผอ.กองเขตแดนรายงานว่า “คนไทยทั้งหมดได้เดินรุกล้ำลวดหนามไปถึงถนน K5 ฝั่งกัมพูชา และถูกทหารกัมพูชาจับตัวบริเวณหน้าวัดโจ๊กเจีย หรือวัดโชคชัย ในหมู่บ้านโจ๊กเจียของกัมพูชา ซึ่งห่างจากถนนศรีเพ็ญเข้าไปประมาณ 1,200 เมตร” จากการศึกษาในเบื้องต้นจะเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างมาก นายกฯ ได้รับรายงานมาว่า ทางกัมพูชาอ้างว่าพบ 7 คนไทยที่วัดโจ๊กเจีย กรมแผนที่ทหารรายงานว่า จุดที่ถูกจับกุมคือบริเวณซุ้มประตูไม่ใช่บริเวณหน้าวัด ผอ.กองเขตแดนรายงานว่า “บริเวณหน้าวัดโจกเจีย หรือวัดโชคชัย”

จะเห็นได้ว่า คำสัมภาษณ์และการรายงานของ บุคคล 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี, ผอ.กองเขตแดน และกรมแผนที่ทหาร มีความแตกต่างกัน นายกรัฐมนตรียอมรับว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายระบุตำแหน่งว่า 7 คนไทยถูกจับที่วัดโจ๊กเจีย แต่สำหรับ กองเขตแดนและกรมแผนที่ทหารบอกว่ารู้จากพยาน แล้วพยานนั้นคือใคร เขมรหรือไทย หรือเดาเอาเอง แต่สำหรับ ผอ.กองเขตแดนยังให้สัมภาษณ์ต่อไปด้วยว่า “จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดรายงานให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปเจรจากับสมเด็จฮุน เซน ในช่วงเย็นวันที่ 30 ธันวาคม” ผมจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า เมื่อ ผอ.กองเขตแดนและกรมแผนที่ทหารมารายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรี ความผิดเพี้ยนมันจึงเกิดโดยเฉพาะ “พยาน” ให้การว่าคนไทยทั้ง 7 คนถูกจับกุม อยู่บริเวณซุ้มประตู บริเวณวัด หรือวัดโจกเจีย ถ้าไม่คิดมากก็คือ พยานจากปากชาวกัมพูชารายงานว่า คนไทย 7 คน ถูกจับที่วัดโจกเจีย(ก็อนุโลมให้) คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าพยานเป็นชาวกัมพูชา ทำไมจึงบอกตำแหน่งคลาดเคลื่อน จากการรายงานของทางการกัมพูชาที่กำหนดพิกัดที่ TA 523225 อันเป็นสถานที่จับกุมตัวคนไทย และเมื่อนำมาพ๊อตเอาไว้บนแผนที่ L7018 จะเห็นระยะห่างกันมาก จากตำแหน่งที่ฝ่ายรัฐบาลไทยนำเสนอเป็นแผนภูมิรูปการ์ตูน (เอกสารหมายเลข 1 :แผนผังที่คนไทยถูกจับ นำเสนอโดย รมต.ต่างประเทศไทย) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ดูค่อนข้างเกินจากความเป็นจริงแต่อาจเป็นไปได้ว่าคือการรายงานของกองเขตแดนที่สับสน เพราะไปวัดระยะจากถนนศรีเพ็ญ(พยานคำบอกเล่า)ไปจนถึงวัดโจ๊กเจีย ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ดังปรากฏในบทสัมภาษณ์ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ความว่า

“เราได้แจ้งให้กัมพูชาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะคณะของนายพนิชเดินทางมาตรวจสอบพื้นที่ ไม่ได้มีเจตนาบุกรุก เนื่องจากการตรวจสอบพิกัดพบว่า คณะของนายพนิ ชรุกล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชาจริง เป็นระยะทาง 1.2 กิโลเมตร” นอกจากนี้ยังมีการให้สัมภาษณ์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ใจความว่า “จากการสอบถาม นายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา พบว่า จุดที่ทั้ง 7 คน เข้าไปนั้น รุกล้ำอาณาเขตจริง แต่อาจมาจากความไม่ตั้งใจ และไม่ทราบว่าจุดดังกล่าวเป็นของพื้นที่ กัมพูชา และยอมรับว่านายพนิชดำเนินการโดยประมาท เนื่องจากไม่ได้แจ้งหน่วยงานความมั่นคง หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านก็ไปตรวจสอบจึงเกิดเรื่องดังกล่าว”

สำหรับ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมไว้ว่า “ส่วนประเด็นการรุกล้ำเข้าไปในเขตของกัมพูชาหรือไม่นั้น ได้มีข้อมูลยืนยันระหว่างฝ่ายไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะพิกัดของทั้ง 7 คน โดยฝ่ายไทยทราบข้อมูลจากความมั่นคงที่มีเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญา และกรมแผนที่ทหารเข้าสำรวจใกล้กับจุดเกิดเหตุ จึงพบว่า มีการรุกล้ำเข้าเขตกัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ โดยรุกล้ำเข้าไปในหมู่บ้าน ส่วนวีดีโอคลิปก็มีภาพการเคลื่อนไหว และสถานที่พบกับทหารของเขา เมื่อถามว่าคนไทยทั้ง 7 คนยอมรับหรือไม่ว่ารุกล้ำเข้าเขตกัมพูชา นายกษิตกล่าวว่า “ยอมรับแล้ว ได้นำแผนที่แสดงพิกัด พร้อมนำภาพวีดิโอคลิปมาให้ดูด้วย”

จากคำสัมภาษณ์ของบุคคลสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ไปจนถึงวันที่ 30-31 ธันวาคม 2553 พอมีเงื่อนงำที่น่าสนใจควรจะสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ ตำแหน่งของวัดโจกเจียหรือโชคชัย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เขมรอพยพ ผอ.กองเขตแดนระบุว่าหมู่บ้านนี้ชื่อ “โจกเจีย” ส่วนคุณกษิต ภิรมย์ ให้สัมภาษณ์ว่า “มีการรุกล้ำเข้าเขตกัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ โดยรุกล้ำเข้าไปในหมู่บ้าน” ซึ่งคุณชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ระบุว่า “รุกล้ำเข้าไป 1.2 กิโลเมตร (อันนี้ถือว่าไปกันใหญ่โตเลย คุณกษิตไม่รู้เรื่องจริงๆ) ส่วนกรมแผนที่ทหารบอกรุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชา 55 เมตร ซึ่งต่อมาคุณกษิต ภิรมย์ คุณชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ให้สัมภาษณ์เปลี่ยนใหม่ตามกรมแผนที่ทหาร (โอ้พระเจ้า)

ปัญหาที่สำคัญที่ผมเห็นซึ่งได้จากการศึกษากรณีนี้ก็คือ ฝ่ายรัฐบาล และข้าราชการประจำต่างพากันสับสนต่อข้อมูลที่ได้รับ แต่คนที่รู้ว่าคนไทย 7 คน ถูกจับอยู่ที่ไหนในนาทีแรกๆ คือ คุณพนิช วิกิตเศรษฐ และคณะที่เราเรียกว่าคนไทยทั้ง 7 และบุคคลสำคัญของชาติไทยในเวลานี้คือ นายกรัฐมนตรี ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงไม่บอกทุกคนหรือพยายามพิสูจน์หาความจริง ทำไมไม่บอกว่า “คุณพนิชบอกผมว่าถูกจับในทุ่งนา ริมถนนศรีเพ็ญ“ หากแต่ไปใช้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับคุณพนิช ซึ่งก็จะเห็นว่ามีเพียงกรมแผนที่ทหารที่ยังยืนยันตลอดเวลาว่า คนไทย 7 คนล้ำแดนเขมร แล้วในที่สุดบุคคลอื่นๆก็ได้ใช้ข้อมูลนี้ออกมาให้สัมภาษณ์ ปัญหาก็คือ กรมแผนที่ทหารเอาข้อมูลมาจากไหน มาจากพยานเขมรหรือไทยที่ระบุว่า คนไทยทั้ง 7 ถูกจับบริเวณซุ้มประตูวัดโจกเจีย ในขณะที่ขัดแย้งกับตัวบุคคลที่ถูกจับคือคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์

ผมเชื่อคุณพนิช ประเด็นนี้คุณพนิชและคณะคนไทยถูกจับที่ท้องนาและถูกนำตัวไปรวมไว้ที่สวนผลไม้ และในขณะที่พยานบุคคลที่เป็นชาวบ้านโคกสูง 2 ใน 27 คน ที่มาร้องเรียนนายกฯ บอกว่า ถ้าดูคลิปวิดีโอหรือคำบอกเล่าของชาวบ้าน คนทั้ง 7 เดินผ่านและถูกจับในที่ดินของนายเบย์ และลุงบุญจันทร์ เกษธาตุ สถานที่ที่ยืนพูดคุยกับทหารเขมร ในช่วงสุดท้ายของคลิปวิดีโอ ซึ่งมีทั้งเอกสารสิทธิ น.ส.3 และ ส.ค.1 เป็นที่ดินจดทะเบียนโดยสำนักงานที่ดินอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (สมัยนั้น) ประเทศไทย ประกอบกับรายงานของตชด.126 ที่ทำรายงานนำเสนอผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 หลังจากเหตุการณ์ประมาณ 10 วันเศษ มีความน่าเชื่อถือพอสมควร และข่าวเรื่องคนไทยถูกจับตัวไปก็ย่อมเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบจากหน่วยงานแห่งนี้ การรายงานที่ส่วนทางกับข้อสรุปของรัฐบาลจึงทำให้เอกสารชิ้นนี้มีน้ำหนักมากขึ้น และเป็นหน่วยงานเดียวที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุที่กล้าหาญแสดงพิกัด 519234 ซึ่งอยู่ในบริเวณทุ่งนาในเขตประเทศไทย ตามแผนที่ระวางชุด L7018 ตรงกับสถานที่ที่คุณพนิชเรียกว่า “ทุ่งนา” ซึ่งขัดแย้งกับหน่วยงานราชการอย่างกรมแผนที่ทหารซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ใช้วิธีการคาดคะเน (เพราะเดินทางไปไม่ถึง) จากตำแหน่งสุดท้ายของคนทั้ง 7 ที่ถูกทหารกัมพูชา “กักตัว” “พูดคุย” ซึ่งปรากฏเพียงแค่หลักฐานคลิปวิดีโอเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่เกิดเหตุหรือตำแหน่งสถานที่ที่เขมร “ล้อมจับกุม” ตามที่คุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ ได้โทร.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนถูกปิดหรือยึดโทรศัพท์หรือสิ้นอิสระภาพ และแน่นอนว่าท่านนายกรัฐมนตรีต้องทราบก่อนคนอื่นเพราะคุณพนิชได้รายงานตรงมายังท่านนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น