xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุวันชัย” ซัดเอ็มโอยู 43 มีแต่เสียกับเสีย ทำทหารนิ่ง-รบ.เป็นใบ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
“ดร.สุวันชัย” ลั่นเอ็มโอยู 43 เป็นโมฆะ ผิดกฎหมาย หาก รบ.ดื้อดึงใช้ต้องทำให้ถูกต้องตาม รธน.50 ก่อน ชี้เหตุทหารนิ่ง รบ.เป็นใบ้เพราะข้อตกลงเอ็มโอยู 43 กำหนดให้รักษาสภาพไว้จนกว่าจะเจรจาตกลงเขตแดนกันได้ เผยเหตุอุ้มเอ็มโอยู 43 เพราะเคยเป็น รมต.ในยุคชวน


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังการเสวนา “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” โดย “ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม” 

ในงานการเสวนาวิชาการ “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงหนังสือสัญญาเอ็มโอยู 43 ว่า เป็นหนังสือสัญญาที่จัดทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเมื่อปี 2543 โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ สมัยนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มาตรา 224 ระบุว่า สนธิสัญญาใดที่ประเทศไทยทำกับต่างประเทศมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจแห่งรัฐ ต้องผ่านรัฐสภาก่อน ทีนี้เรามาดูว่าเอ็มโอยู 43 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐหรือไม่ เอ็มโอยู 43 มีการรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ผลของการยอมรับกำหนดให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดน ทำให้ในอนาคตถึงแม้จะปักหลักเขตแดนไม่ตรงกับในหนังสือสัญญาก็ต้องยอมรับ

ถ้าไม่มีเอ็มโอยู 43 หลักเขตแดนที่ 73 ต้องอยู่เข้าไปในเขตกัมพูชาอีกประมาณ 1-2 กิโลเมตร ส่วนเหตุที่เข้ามาปักอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันเนื่องจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ตกลงกันว่าหลักที่ 73 ต้องอยู่ที่แหลมสารพัดพิษ จ.ตราด โดยอ้างยอดเขาบนเกาะกูด ตัดจุดที่หมู่่บ้านโอบยางฝั่งกัมพูชา แล้วฝรั่งเศสอ้างว่าถ้าลากเส้นตัดหมู่บ้านโอบยางจะทำให้ยากต่อการปกครอง จึงขอเลื่อนเข้าไปในเขตไทย อย่างไรก็ดี ตอนแรกไทยไม่ยอม แต่คิดทบทวนว่าหากไม่ยอมอาจทำให้ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างทำให้ต้องเสียดินแดนอื่นๆ อีก

ดร.สุวันชัยกล่าวต่อว่า ข้อเสียของแผนที่ 1ต่อ 2 แสน หากยอมรับ เส้นแขตแดนต้องเป็นไปตามแผนที่นั้น เอ็มโอยู 43 กำหนดว่าการจัดทำเขตแดนใช้เอกสาร (1.) อนุสัญญา ค.ศ.1904 (2.) สนธิสัญญา 1907 และ (3.) แผนที่คณะกรรมการปักปันสยาม-อินโดจีน ที่มาของผลบังคับทำให้เราต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ขณะนั้นกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึงนายชวนว่า มีการประชุมเจบีซีตกลงกันให้ทำหนังสือสัญญาเอ็มโอยู 43 โดยมีแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-อินโดจีน แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนเข้าไปด้วย และการที่ไทยอ้างแม้จะมีแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ก็เป็นเพียงเอกสารแผ่นหนึ่งที่ต้องใช้เจรจา ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด แท้จริงแล้วนัยสำคัญของมันถือได้ว่าเรายอมรับเป็นผลงานของคณะปักปันสยาม-อินโดจีนแล้ว และถือว่าเรายอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้กัมพูชา แข็งข้อเพราะเขาสามรถใช้เป็นข้ออ้างสู้คดีเขาวิหารได้

เมื่อปี 2505 กัมพูชายืนเขาวิหารเป็นมรดกโลก ไทยก็สู้ว่าแผนที่นี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสม ซึ่งในคำฟ้องของกัมพูชามี 5 ข้อ 1.เป็นผลงานคณะกรรมการปักปันผสม 2.แผนที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นแขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน 3.เขาวิหารเป็นของกัมพูชา 4.ให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากเขาวิหาร และ 5.ให้ไทยคืนวัตถุโบราณ แต่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาในส่วนข้อ 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงสงวนสิทธิ์ว่า หากมีหลักฐานอะไรใหม่เพิ่มเติมเราก็ไปเรียกร้องสิทธิคืน

ดร.สุวันชัยกล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมรัฐบาลปกป้องเอ็มโอยู 43 เรื่องนี้ต้องเท้าความเป็นมา ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีชวน อนุมัติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2543 หลังจากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงนามวันที่ 14 มิ.ย. หากดูจากวันที่มีการเร่งรีบจนผิดปกติ เมื่อสืบดูก็พบว่าผิดขั้นตอน กล่าวคือ นายกฯ ไม่มีอำนาจอนุมัติได้เนื่องจากเป็นกิจการระหว่างประเทศ คนทีจะอนุมัติเบื้องต้นได้คือคณะรัฐมนตรี ฉะนั้น หนังสือลงนามโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ เอ็มโอยู 43 มีความคาบเกี่ยวกันระหว่างรัฐบาลในสมัยชวนกับรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากรัฐมนตรีหลายท่าน อาทิ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เป็นคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนรู้เห็นในการทำเอ็มโอยู 43 ด้วย อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลไม่ยกเลิกหากเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็เป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร แต่เอ็มโอยู 43 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หากรัฐบาลจะใช้เอ็มโอยู 43 ต่อไปก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ถ้าไม่ทำถือว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฎิบัติ

“เอ็มโอยู 43 มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยในข้อ 5 ระบุว่า เขตแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้ต้องรักษาสภาพนั้นไว้ หมายความว่า ถึงแม้จะมีชาวกัมพูชาเข้ามาอยู่ในเขตแดนประเทศไทยก็ยังขับไล่ออกไปไม่ได้ เพราะยังตกลงเขตแดนกันไม่ได้ ทั้งนี้ หากไม่มีเอ็มโอยู 43 เราสามารถผลักดันคนรุกล้ำให้ออกไปได้ และข้อ 8 ถ้ามีข้อพิพาทให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ดังนั้นการที่กัมพูชาบุกรุก เราก็จะเอาทหารไปจับเขาไม่ได้ ต้องเจรจาด้วยสันติวิธี กรณีบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น ชาวกัมพูชาอพยพมาอยู่ที่หลักเขตแดนที่ 46 เมื่อช่วงสงครามกลางเมืองเพื่อลี้ภัยสงคราม เมื่อสงครามเลิกไทยก็ได้อธิบายให้กัมพูชาเข้าใจแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของไทย ซึ่งชาวกัมพูชาเข้าใจแล้วว่าเป็นเขตของไทย แต่เมื่อมีเอ็มโอยู 43 กำหนดให้รักษาสภาพไว้จนกว่าจะเจรจาตกลงเขตแดนกันได้” ดร.สุวันชัยกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น