xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม กมธ.แก้ รธน.ถกประเด็นปาร์ตี้ลิสต์ - สัดส่วน ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เรียก “สมบัติ-วุฒิสาร-บุณยเกียรติ” ถกแก้ ม.93-98 ที่ประชุมถกเถียงประเด็นเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และวิธีคำนวณสัดส่วน ส.ส.ต่อประชากร “วิทยา” แนะกรมการปกครองส่งข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมาก่อนค่อยคุยกัน

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ พ.ศ... โดยมี นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรมนูญมาตรา 93-98 ว่า ด้วยเขตเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา ทั้งนี้ กรรมาธิการได้เชิญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวุฒิสาร ตันไชย อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งและตัวแทนจากกรมการปกครองเข้าร่วมชี้แจง

โดยในช่วงแรกของการประชุมนายสมบัติ ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีการแก้ไขให้มีจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.ระบบสัดส่วน 125 คน จากเดิมที่มีกำหนด ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.ระบบสัดส่วน 100 คน ว่า คณะกรรมการได้ตรวจสอบความเหมาะสมในการกำหนดจำนวนส.ส. โดยพิจารณาจากสัดส่วนประชากรต่อจำนวน ส.ส.รวมถึงพิจารณาถึงการแบ่งสัดส่วนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พบว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แบ่งจำนวน ส.ส.เขตเป็น 8 ภาค บนฐานจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน กรรมการมีความเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว สำหรับสัดส่วนระหว่างส.ส.เขตกับส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กรรมการเห็นว่า ในประเทศพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มากกว่า เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ที่ต้องมีบทบาท ความนิยม และความสำคัญต่อการบริหารบ้านเมือง ทั้งนี้ หากพรรคให้ความสำคัญกับการทำให้พรรคมีความเข้มแข็งจะได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น ถือเป็นหลักการส่งเสริมให้ประชาชนคำนึงถึงระบบพรรคมากกว่าตัวบุคคลซึ่งจะมี ประโยชน์ต่อการพัฒนาให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า กรรมการจึงมีความเห็นให้เพิ่มสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจาก 100 คน เป็น 125 คน โดยคำนวณโดยใช้สัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนประชากร ส่วนการกำหนดที่มาของส.ส.ให้กลับไปใช้เขตประเทศตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยให้ตัดเกณฑ์ขั้นต่ำออก (ผู้ได้รับเลือกตั้งต้องมีคะแนนไม้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ) เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กได้มีโอกาสมีผู้แทน ทั้งนี้ กรรมการยังมีความเห็นให้เพิ่มจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากกว่านี้แต่ พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะได้รับความเห็นชอบ สำหรับ ส.ส.เขต กรรมการเห็นควรกลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว โดยกรรมการเห็นว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งควรให้เป็นไปตามแนวโน้มการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบ วันแมนวันโหวตซึ่งเป็นหลักสากล ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้

“ถ้าเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมาเขตเล็กใช้เงินน้อยกว่า เป็นหลักสากลมากกว่า ใช้เวลาจัดการเลือกตั้งสั้นกว่า ประกอบกับแนวโน้มเป็นสากล คือ วันแมนวันโหวต” นายสมบัติ กล่าว

จากนั้นประธานได้ให้กรรมาธิการแสดงความเห็นโดยมีกรรมาธิการที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยกรรมาธิการจากพรรคภูมิใจไทยได้แสดงความเห็นว่าการเพิ่มจำนวนจาก 100 คน เป็น 125 คน ดูจะมากเกินไป ขณะที่กรรมาธิการฯจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า ส.ส.ระบบสัดส่วน ยังมีความจำเป็นที่จะให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ส.ส.ระบบสัดส่วนต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ โดยจะช่วยทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น

โดย นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นนั้น ที่ผ่านมา ในบางพื้นที่เคยมีนายทุนไปลงสมัคร ส.ส.บางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ แต่เมื่อมีระบบมีระบบบัญชีรายชื่อ จึงได้เปิดทางให้นายทุนลงสมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ เพื่อที่จะได้เป็นรัฐมนตรี ดังนั้นจึงเสนอว่าควรกลับไปใช้ระบบ ส.ส.เขต จำนวน 400 คน ส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ค่อยมาพิจารณากันอีกที

นายอนุรักษ์ ​นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การเพิ่มสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 80 คน มาเป็น 125 ถือเป็นจำนวนมากอย่างก้าวกระโดด ต้องตอบประชาชนให้ได้ว่ามีเหตุผลอะไร ​และประชาชนได้ประโยชน์ตรงนี้จริงไม่จริง ​

นอกจากนี้ ประเด็นที่ที่ประชุมให้ความสนใจนำมาถกเถียงมากที่สุด คือ วิธีการคำนวณสัดส่วนของส.ส.ต่อจำนวนประชากร โดยที่ประชุมให้ความเป็นห่วงกับจำนวนส.ส.ระบบเขตที่ลดลง จำนวนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้น ที่ประชุมจึงให้ความสำคัญกับข้อมูลจำนวนราษฎรที่นำมาคำนวณจำนวน ส.ส.อาทิ ควรใช้ฐานตัวเลขประชากรสิ้นสุดเมื่อใด ควรใช้วิธีคำนวณสัดสวนส.ส.กับประชากรอย่างไรจึงจะเหมาะสม ด้านตัวแทนกรรมการปกครองได้ชี้แจงกับที่ประชุมว่า ขณะนี้พบว่ามีจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร แต่ไม่ได้มีสัญชาติไทยถึง 3.8 แสนคน จึงควรมีการประกาศให้ชัดเจนว่าถึงคำนวณสัดสวน ส.ส.ควรกำหนดตามบัญชีคนที่มีสัญชาติไทยไม่รวมคนที่ไม่มีสัญชาติ จากนั้นที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางว่าควรคำนวณจากคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือคำนวณตามทะเบียนราษฎร

ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า การพิจารณาเรื่องจำนวนส.ส.คงไม่สามารถมีข้อยุติในวันนี้จึงขอให้กรมการปกครองให้ข้อมูลแจกแจงผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละจังหวัด แยกเป็นผู้มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยเพื่อเสนอต่อกรรมาธิการ ส่วนการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับผลกระทบหากมีการแก้ไข นายบุณยเกียรติ ชี้แจงว่า หากมีการแก้ไขไปตามแนวทางของกรรมาธิการเสนอ จะต้องแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 ประมาณ 10 มาตรา ครอบคลุมบททั่วไป, การรับสมัคร และการประกาศผลการเลือกตั้ง เชื่อว่าขั้นตอนคงไม่ยากลำบากหากนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 มาเป็นตัวตั้ง ประกอบกับแนวทางการแก้ไขใหม่น่าจะดำเนินการควบคู่กันไปได้ ส่วนจะใช้เวลานนานเท่าใดขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร

นายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงว่า หากแก้รัฐธรรมนูญในส่วนระบบเขตเลือกตั้ง การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.​มีมาตราที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขประมาณ ​10 มาตรา เช่น ​เรื่อง เขต การรับสมัคร การประกาศผล ​ส่วนจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ขึ้นกับทางสภาผู้แทนจะผ่านกฎหมายแต่จะได้นำเอากฎหมายเก่าตั้งแต่ปี​2541 จะเอามาเป็นแนวทาง ​ อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อสรุปเรื่อง ส.ส.เขต ออกมาเป็น 375 คน ก็จะต้องแบ่งเขตใหม่ ซึ่งจะให้กกต.จังหวัดแต่ละแห่ง เสนอรูปแบบเขตขึ้นมา3รูปแบบประกาศให้ประชาชนแสดงควาคิดเห็น ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ ​30 วัน ​ การเตรียมการ จะต้องดูจำนวน ส.ส.ว่า เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ซึ่งจะมีการเปลี่ยน ไปบ้าง 24 จังหวัด เมื่อได้ สส.มาแล้วเตรียมการให้ทางจังหวัด

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิารพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาณาจักรไทย ฉบับที่.. พ.ศ.. กรมการปกครองได้ทำตารางสรุปจำนวน ส.ส.ระบบเขต 375 คน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธาน โดยกรมการปกครองคำนวณเขตที่จะมี ส.ส.เพิ่มขึ้นตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2552 โดยมีจังหวัดที่มีจำนวนผู้แทนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น 24 จังหวัด จำนวน 25 ที่นั่ง โดยกรุงเทพฯ มี ส.ส.ลดลง 2 คน จาก 36 คน เหลือ 34 คน ภาคกลาง คือ นครนายก มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 2 คน เหลือ 1 คน นครสวรรค์ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 7 คน เหลือ 6 คน ลพบุรี มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 5 คน เหลือ 4 คน รวมหายไป 3 คน ภาคใต้ คือ กระบี่ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 3 คน เหลือ 2 คน นครศรีธรรมราช มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 10 คน เหลือ 9 คน นราธิวาส มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 5 คน เหลือ 4 คน พังงา มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 2 คน รวมหายไป 4 คน ภาคอีสาน คือ มหาสารคาม มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 6 คนเหลือ 5 คน ขอนแก่น มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 11 คนเหลือ 10 คน นครราชสีมา มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 16 คน เหลือ 15 คน บุรีรัมย์ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 10 คน เหลือ 9 คน ยโสธร มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 4 คน เหลือ 3 คน ศรีสะเกษ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 9 คนเหลือ 8 คน สุรินทร์ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 6 คน เหลือ 5 คน หนองคาย มี ส.ส.ลดลง 1 คนจาก 6 คน เหลือ 5 คน อุดรธานี มี ส.ส.ลดลงจาก 10 คน เหลือ 9 คน รวมทั้งสิ้น 9 คน ภาคเหนือ คือ กำแพงเพชร มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 11 คน เหลือ 10 คน เชียงราย มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 8 คน เหลือ 7 คน เชียงใหม่ มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 11 คน เหลือ 10 คน พิจิตร มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 4 คน เหลือ 3 คน แม่ฮ่องสอน มีส.ส.ลดลง 1 คน จาก 2 คน เหลือ 1 คน ลำปาง มี ส.ส.ลดลง 1 คน จาก 5 คนลดลง 4 คน และลำพูน มี ส.ส.ลดลง 1 คนจาก 3 คน เหลือ 2 คน รวมทั้งสิ้น 7 คน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนของ ส.ส.ระบบสัดส่วนแบบใหม่ หากเป็นไปตามที่ร่างของคณะกรรมการที่เสนอจะทำให้ ภาคอีสาน กับ ภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย มี ส.ส.หายไปถึง 15 ที่นั่ง ขณะที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของประชาธิปัตย์ ลดลงไปเพียง 4 ที่นั่งเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น