xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้การเมืองไทยติดบ่วง เชื่อยุบสภาไม่ใช่ทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
วงสัมมนาการเมืองเชิงเปรียบเทียบไทย-เยอรมัน นักวิชาการเมืองเบียร์ แนะหลักประนีประนอมเป็นหนทางแก้ความขัดแย้งในระบอบ ปชต.เผย เยอรมันไม่มีซื้อสิทธิขายเสียงแต่มีทุจริตเชิงนโยบาย ด้าน “ปริญญา” ปัญหาการเมืองไทยแก้ผิดทางมาตลอด ยิ่งแก้ยิ่งติดบ่วงตัวเอง ระบุ รากเหง้ามาจากการให้ ส.ส.สังกัดพรรค ขณะที่ “ชลิดาภรณ์” ไม่เชื่อยุบสภาเลือกตั้งเป็นการแก้ปัญหาถูกทาง

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กกต.ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องการเมืองและระบบพรรคการเมืองเปรียบเทียบ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา : การเมืองและระบบพรรคการเมืองของเยอรมันและไทย โดยมี ศ.ดร.โทมัส ไมเยอร์ จากมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนด์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการเมือง มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า ประชาธิปไตยจะใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวไม่พอ แต่จำเป็นต้องฝังรากลึกในระบบการเมือง วัฒนธรรมการเมือง โครงสร้างประชาธิปไตย และโครงสร้างสังคม ถ้ามีวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยจะอยู่รอดได้ในช่วงภาวะวิกฤต ไม่ใช่พูดเฉยๆ ลอยๆ ว่า เราเป็นประชาธิปไตย จากผลวิจัยสามารถพูดได้ว่า เราต้องสร้างความสมดุลในการเห็นพ้องต้องกันในสิทธิขั้นพื้นฐานของระบบของประเทศ คือ พรรคการเมือง และนักการเมือง ภาคประชาสังคม 3 ส่วนนี้จะต้องมีความสมดุล นอกจากนี้ เรื่องของฉันทามติก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการยอมรับจะก่อให้เกิดฉันทามติยุคใหม่ และประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนอย่างที่ประเทศเยอรมัน สามารถมีการปรับให้มีระบอบประชาธิปไตยได้

ในส่วนของไทยเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ควรที่จะนำระบบในประเทศแทบยุโรปมาพิจารณาว่าสามารถที่จะปรับใช้หรือพัฒนาไปได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องทำให้มีเสถียรภาพ และทำให้เป็นที่ยอมรับ โดยที่รัฐบาลต้องพิจารณาแนวทางอย่างจริงจัง ว่า จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างนั้นเราก็ต้องยอมรับ เช่น ส.ส.ในประเทศเยอรมัน มีการโต้เถียงกันในสภาเพื่อต้องการทำหน้าที่ที่ดีที่สุดให้ประชาน แต่ในเวทีอื่นๆ เช่น องค์กรศาสนา วัฒนธรรม เขาก็สามารถพูดคุยกันได้ และสิ่งสำคัญ ก็คือ การยึดในเรื่องของการประนีประนอมที่ถือว่าเป็นยอมรับสิทธิพื้นฐานที่ไม่ได้บ่งบอกว่าคุณเป็นผู้แพ้ ซึ่งที่พูดในฐานะที่เยอรมันผ่านประสบการณ์ที่ขมขื่น และมีการใช้กำลังมาก่อน แต่เราก็ได้มีพัฒนาการในการมีประชาธิปไตยในทิศทางที่ดีและจะมีตลอดไป

ศ.ดร.โทมัส ยังกล่าวด้วยว่า เยอรมันนั้นไม่มีเรื่องการซื้อสิทธิเสียง ไม่มีทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง ที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้ คือ พรรคลิเบอร์โล ซึ่งได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจากอุตสาหกรรมโรงแรม เมื่อเขาเข้ามามีอำนาจก็ผลักดันให้มีการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจโรงแรม ตรงนี้ไม่ได้เป็นการซื้อเสียง แต่ถือเป็นการทุจริตหรือไม่

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปรียบเทียบว่า การแก้ไขปัญหาการเมืองของเยอรมัน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การเมืองเยอรมันปัจจุบันไม่เกิดปัญหา แต่การเมืองไทยนั้นเดินผิดทางมาโดยตลอด และยิ่งแก้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ตนเห็นว่า ปัญหาเกิดมาตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2517 กำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยในขณะนั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะ สนช.ได้พยายามชี้ให้เป็นว่าการให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองจะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีการสร้างกลไกต่างๆ ขึ้น ไม่ว่าการกำหนดให้ผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง จึงสร้างระบบตรวจสอบโดยกำหนดให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาถ่วงดุล โดยไม่ได้คิดว่าจะยิ่งสร้างปัญหาหนักขึ้น เมื่อองค์กรอิสระถูกแทรกแซง ซึ่งผลพวงของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้งปี 2544 และ ปี 2548 สะท้อนให้เห็นว่า ทำให้ระบบการเมืองเหลือเพียงแค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ จึงยังจะเรียกร้องให้มีการนำระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ เพราะมีแต่จะทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กของตัวเองเสียเปรียบ

“ปัญหาของประเทศไทยเรื่องใหญ่สุด คือ การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และเป็นประเทศเดียวในโลก เพราะเชื่อว่าถ้าไม่สังกัดพรรคจะทำให้เกิดการขายตัว ถามว่า ผ่านมา 30 กว่าปี ส.ส.เลิกขายตัวแล้วหรือ จริงๆ แล้วผมเห็นว่าแค่เปลี่ยนรูปแบบไป จากซื้อที่หลัง มาซื้อก่อนและซื้อเป็นมุ้ง ส่งผลให้ผู้แทนที่ต้องการให้เป็นของปวงชนชาวไทยกลายเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองไป”

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะมีการผ่อนปรนให้มีการย้ายพรรคได้ หากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดจากการครบวาระของสภา แต่รัฐธรรมนูญนี้ก็แปลกและไม่เหมือนใครในโลก คือ ให้ ส.ส.มีอิสระสามารถโหวตสวนมติพรรคได้ แต่ไม่สามารถย้ายออกจากพรรคได้ หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือ อนุญาตให้นอกใจมีชู้ได้ แต่ห้ามหย่า ขณะที่ระบบการเลือกตั้งกลับไปใช้เขตใหญ่เรียงเบอร์ และแก้ไขปัญหาองค์กรอิสระถูกแทรกแซงโดยการดึงอำนาจศาลเข้ามา ตรงนี้จะเกิดปัญหาว่าเราให้กรรมการที่เป็นผู้ตัดสินเป็นคนเลือกตัวนักฟุตบอล ต่อให้กรรมการตัดสินอย่างเที่ยงธรรม แต่ประชาชนจะเชื่อการตัดสินหรือไม่ ตนจึงเห็นว่า รูปแบบการแก้ปัญหาระบบการเมืองของไทยกลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งเกิดปัญหา และคิดว่าถ้าเราสามารถนำระบบการเมืองและการเลือกตั้งเยอรมันมาเป็นตัวอย่างปรับปรุงกฎหมายของไทยก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้บ้าง เช่น เรื่องของ ส.ส.ในสภาที่เรามีหลักคิดว่าควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนไทย ถ้านำระบบของเยอรมันมาใช้ คือ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้ให้คิดคำนวณจากคะแนนเสียงที่ประชาชนลงให้กับแต่ละพรรค โดยหากนำมาใช้กับการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.50 ทำให้พรรคพลังประชาชนในขณะนั้น มี ส.ส.ในสภามากกว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพียงแค่ 3 คน และพรรคอื่นๆ จะได้ ส.ส.ลดหลั่นลงมาตามคำแนนที่ได้ โดยความต่างของจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคไม่มาก ซึ่งจะส่งผลให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทย คือ เมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่ยอมเคารพกติกา แต่ยอมรับการปฏิวัติ จะเห็นได้ว่า เรามีการปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 8 ครั้ง ถ้าจะพูดในหลักการของประชาธิปไตยแล้ว มีตัวอย่างในหลายประเทศที่ปกครองโดยระบบประชาธิปไตยแล้วเกิดปัญหา แตกแยกขัดแย้ง ถ้ารุนแรงมากเกิดสงครามการเมือง อย่าง อเมริกา เคยมีการพูดกันว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดการฆ่ากัน แต่วิธีการแก้ คือ การทำให้เกิดการเรียนรู้และเกิดการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาลักษณะนี้ในต่างประเทศใช้เวลายาวนาน สำหรับประเทศไทยแล้วมองว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทำได้ค่อนข้างดี จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน คนของเราอดทนกันได้มากขึ้น คือ เมื่อเกิดความคิดเห็นแตกต่างกัน และไม่เห็นด้วยแต่เราก็ยอมรับว่าเป็นสิทธิที่เขาจะทำได้

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาไทยได้ จึงมีการเรียกร้องให้ยุบสภา แต่คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงตนเอง ไม่เชื่อเช่นนั้น และเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลของสังคมไทย คือ ไม่มีหลักของความเห็นพ้อง อย่างในต่างประเทศเมื่อมีการทะเลาะกันมาก แต่ถ้าไปกระทบการมีส่วนร่วมของเขาก็จะหยุดทัน แต่กับการเมืองไทยไม่มีจุดตรงนี้ ขณะเดียวกัน ก็ขาดหลักประกันว่าเสียงข้างน้อยจะได้รับการดูแลหากฝ่ายเสียงข้างมากได้รับชัยชนะ ดังนั้น จะเห็นว่าจากสภาพดังกล่าวคงไม่สามารถนำระบบหรือรูปแบบการเมืองใดๆ ในโลกมาใช้กับการเมืองไทยได้ ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหามี 2 แนวทาง คือ 1.เขียนกติกาขึ้นใหม่จากสิ่งที่เราเป็น 2.ใช้วิธีอย่างนักวิชาการหรือนักกฎหมายมหาชนคิด คือ บังคับใช้กติกาโดยการออกแบบสถาบันทางการเมือง เพื่อให้การเมืองไทยกลายเป็นอะไรบางอย่าง ซึ่งวิธีการนี้คิดว่าต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษและโดยหลักแม้จะเป็นไปได้ แต่มีสัจธรรมอย่างหนึ่งคือไม่มีมนุษย์คนใดออกแบบแล้วได้อะไรอย่างที่เราอยากได้
กำลังโหลดความคิดเห็น