xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไทยในสิบปีหน้า (1)

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2525 ศาสตราจารย์ดร.สมศักดิ์ ชูโต ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ปรารภกับผมว่า กลางปีนั้นจะเป็นวาระครบรอบกึ่งศตวรรษของการ “เปลี่ยนแปลงการปกครองไทย” ผมน่าจะทำการรวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่าง 50 ปีที่ผ่านมา พิมพ์เป็นหนังสือให้แก่สมาคมสังคมศาสตร์ฯ บัดนี้หนังสือ “ข้อมูลพื้นฐานกึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย” ได้พิมพ์เป็นครั้งที่สามแล้ว และปีนี้ก็เพิ่งผ่านพ้น 60 ปีแห่ง “ระบอบรัฐธรรมนูญไทย” มา ศาสตราจารย์ดร.สมศักดิ์ ชูโต ก็ได้ขอให้ผมแสดงปาฐกถาเรื่อง “เมืองไทยในสิบปีหน้า” เนื่องในงานรับรองครบรอบ 10 ปี ของสถาบันสาธารณกิจ มูลนิธิประชาการอีก

ศาสตราจารย์ดร.สมศักดิ์ ชูโต หรือที่ผมเรียกว่า “อาจารย์” ผู้นี้ เป็นบุคคลซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนแนะให้ผมต้องคิดเรื่องต่างๆ ด้านสาธารณกิจมามากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ผมจำได้ว่าผมกลับมาเยี่ยมบ้านระหว่างปิดภาคเรียนที่นิวซีแลนด์นั้น อาจารย์ให้ผมไปสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ของประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเรื่องสงครามเวียดนาม เมื่อผมจบการศึกษากลับมาผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในแวดวงคนกลุ่มเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมใฝ่ใจที่จะแสวงหาคำถามและคำตอบ (ชั่วคราว) เกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปของสังคมไทย อาจารย์เป็นคนหนึ่งในกลุ่มนี้ซึ่งคอยให้โอกาสคนรุ่นใหม่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำพวกเราไปแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนชาวต่างประเทศ ทั้งที่เป็นฝรั่งและเอเซียน จนพวกเราค่อยๆ เรียนรู้และเข้าสู่ “ความเป็นสากล” โดยไม่รู้ตัว

ผมจำได้ว่าอาจารย์เป็นผู้ริเริ่มอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำเพลงคลาสสิก การพูดวิทยุเล่าข่าวสารการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ การวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การจัดรายการทีวีคุยปัญหาบ้านเมืองอย่างเป็นอิสระ (จนถูกยุบรายการไป) การจัดสัมมนากลุ่มเล็กๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ อาจารย์ทำเงียบๆ แต่ทำด้วยความสนุกอย่างสม่ำเสมอมา และทำโดยผู้เข้าร่วมไม่รู้สึกว่ามีการสอนจริยธรรมหรือศีลธรรมเพราะอาจารย์เป็นสุภาพบุรุษ-นักวิชาการประเภทที่ไม่นิยมตัดสินคุณธรรมของผู้อื่น

ที่ผมเกริ่นถึงอาจารย์มาอย่างยืดยาวนี้ ก็เพราะอยากชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่อาจารย์ทำการทำสอนอยู่จนอายุครบ 60 ปี และออกจากราชการมานี้ สิ่งที่อาจารย์ได้ทำและผมได้ร่วมทำและได้เห็นได้มีประสบการณ์ด้วยนั้น ก็สะท้อนถึงสภาวะของประเทศไทยเมื่อสามสิบปีมาแล้วได้ในระดับหนึ่ง และคงเป็นพื้นฐานของความคิดของผมเกี่ยวกับเมืองไทยในสิบปีหน้าได้มากทีเดียว

สิ่งแรกที่ผมอยากพูดก็คือ ผมจะพูดไปตามความรู้สึกซึ่งมีทั้งเหตุผลผสมอารมณ์ เพราะผมอยากเลิกเป็น “นักวิชาการ” เสียที ผมจึงจะมองเมืองไทยในสิบปีหน้าด้วยสายตาของผู้ที่อยากเป็นพลเมืองที่ดี และอยากเห็นเมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนไทยทั้งมวล ผมอยากยอมรับตั้งแต่ต้นว่าหลายอย่างที่ผมจะพูดนี้ พูดจากความรู้สึกที่ได้สัมผัสและผ่านวิกฤตทางปัญญาบ้าง ทางความเข้าใจรู้จักตนเองและผู้อื่น ตลอดจนโลกและชีวิตบ้าง แต่ทั้งนี้ก็สะท้อนวิถีชีวิตของความเป็นครูและผู้ได้เข้าไปมีส่วนในการทำโน่นทำนี่ในทางสาธารณกิจอยู่ด้วย

ผมอยากเริ่มด้วยการกล่าวว่า เมืองไทยในสิบปีหน้า ก็จะเหมือนเมืองไทยเมื่อสามสิบปีก่อนบางอย่าง และจะต่างไปมากอีกหลายอย่าง ที่ผมพูดเช่นนี้ ก็เพราะเมืองไทยเรานั้นได้มีความต่อเนื่องในทางประวัติศาสตร์มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ความต่อเนื่องนี้ทำให้เราสืบสานวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ความเคยชินและช่วยให้สถาบันทางสังคมดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ที่สำคัญคือสถาบันทางสังคมวัฒนธรรมนี้สามารถกลายกลืนหล่อหลอมคนต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาตั้งรกรากปักหลักอยู่ในเมืองไทยได้หลายชั่วอายุคนแล้ว

ผมเคยศึกษางานของเทียนวรรณ ซึ่งเขียนหนังสือไว้เมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว และเมื่อกลับไปอ่านใหม่ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าเทียนวรรณเข้าใจลักษณะนิสัยคนไทยดีมาก ลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นพื้นฐานของสังคม แม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ลักษณะนิสัยและวัฒนธรรมจะยังคงมีความต่อเนื่องอยู่ เพราะการสืบทอดกระทำผ่านบุคคล ครอบครัว และสถาบันทางสังคม-การศึกษา

ผมย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี เพื่อจะดูว่าคนสมัยก่อนคิดถึงเมืองไทยคนไทยอย่างไร และมีความหวังต่อบ้านเมืองในอนาคตอย่างไร เทียนวรรณ ตั้งความหวังไว้มากมาย ที่สำคัญได้แก่ความปรารถนาที่จะเห็นการที่ราษฎรผู้เป็น “สายโลหิตของแผ่นดิน” ได้ร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ข้อเขียนของเทียนวรรณ เป็นการ “วิงวอน” มากกว่า “เรียกร้อง” ไม่ว่าจะเป็นการวิงวอนให้พระเจ้าแผ่นดินรักราษฎร “ดุจแก้วตา” หรือการวิงวอนขอระบอบปาลิเมนต์ก็ตาม

นอกจากคนอย่างเทียนวรรณแล้ว ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยเรามี นักคิด น้อยมาก อาจเป็นเพราะคนกล้าคิด-กล้าแสดงออกมักจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้มีอำนาจก็เป็นได้ ผมยังเคยสงสัยว่าบ้านเมืองที่ขาดนักคิดมีแต่นักทำนั้น น่าจะเป็นอันตราย เพราะผู้ครุ่นคิดมักเป็นผู้ช่างสังเกตและใฝ่ใจที่จะแสวงหาลู่ทางในการช่วยเตือนสตินักทำ ถึงผลกระทบของสิ่งที่มีการกระทำไป หรือคาดคะเนสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมตัวรับและจัดการกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้

ในสังคมอื่นๆ นักคิดมีส่วนสำคัญในการเปิดประเด็นให้สาธารณชนได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด และได้ใช้ความคิดหาเหตุผลมาพิจารณาถกเถียงกัน เมืองไทยเราไม่ค่อยจะยอมอดกลั้นกับความคิดเห็นใหม่ๆ ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เราจึงมีแต่กวีที่มีความสามารถสูงยิ่งในการรจนากาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ พรรณนาความงาม บรรยายสถานที่ ดอกไม้ แม่น้ำ คู่รัก หรือไม่ก็พูดถึงชะตากรรมของตนเองอย่างสมเพชเวทนา อย่างดีก็มีโคลงโลกนิติสอนคติและการใช้ชีวิต แต่ก็ไม่มีความคิดที่เขียนอย่างลึกซึ้งเป็นแบบ Treatise ของฝรั่ง อาจเป็นเพราะความยิ่งใหญ่ของพุทธธรรมก็ได้ พุทธธรรมเป็นปรัชญาที่เหมือนกับแหล่งอ้างอิงอันไม่มีขอบเขตจำกัด เท่าที่ผ่านมาคนไทยเราอาศัยพุทธศาสนาในการดำรงชีวิตได้หลายแง่มุม ความจำเป็นในการแสวงหาแนวคิดหรืออุดมคติอื่นที่นอกเหนือไปจากพุทธธรรมจึงมีน้อย

ผมคิดว่าการแล้งนักคิดยังไม่อันตรายเท่าการทำลายนักคิดในอดีต จากเทียนวรรณ เรามี ดร.ปรีดี พนมยงค์, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ แต่บุคคลทั้งสามต่างต้องเผชิญเคราะห์กรรมที่แม้จะไม่เหมือนกันในสาระสำคัญ แต่ก็ตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ แม้ทุกคนจะได้กระทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างอเนกประการ แต่ก็ไม่สามารถจะแสดงความคิดหรือบทบาทในทางสาธารณะได้อย่างเต็มที่ (อ่านต่อวันจันทร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น