xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สายเรืองเก๊ ล่อเป้าบีบ “มาร์ค” แจงสภา เย้ยขนกองทัพอารักขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ส.ว.แห่ลงชื่อขอเปิดอภิปรายรวม 70 คน บีบนายกฯใช้เวทีสภาแก้ปัญหาชาติ ด้าน “เรืองเก๊” ติงใช้ กสม.ตัวช่วยเจรจาม็อบ ระวังทำนอกเหนือ รธน.กำหนด ยันขอเปิดประชุมรัฐสภาให้ได้อย่างช้าสัปดาห์หน้า ดักคอไม่ต้องห่วงด้านความปลอดภัย อนุญาตให้ขนทั้งกองทัพมาอารักขารัฐสภาได้เลย ปลิ้นปล้อนแหย่ 40 ส.ว.ให้เข้าชื่อยื่นญัตติร่วมกันได้

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น คณะ ส.ว.ที่เสนอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 จำนวน 15 คน นำโดย นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม นายจิติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นางกิรณา สุมาวงศ์ ส.ว.สรรหา ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดกรอบและประเด็นการอภิปรายซึ่ง จากนั้น นายวิทยา แถลงว่า ที่ประชุมกำหนดกรอบประเด็นการอภิปรายไว้ 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.การเมืองและความขัดแย้ง ได้แก่ ปัญหาความแตกแยกในสังคม รัฐธรรมนูญ ปัญหาอำนาจนอกระบบและการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐาน ความล่าช้า การเลือกปฏิบัติ ปัญหาสื่อสารมวลชนและการสร้างความสมานฉันท์ของสังคม ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาปฏิรูปการเมือง 2.การบริหารจัดการที่ดี ได้แก่ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายโดยเฉพาะในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3.เศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาข้าวและสินค้าเกษตรตกต่ำ ฝนแล้ง การท่องเที่ยว มาบตาพุด ความเชื่อมั่นของนักลงทุน 4.สังคม ได้แก่ ยาเสพติด เยาวชน อาชญากรรม

นายวิทยา กล่าวว่า ส.ว.เห็นตรงกันว่า ต้องการให้รัฐบาลมาชี้แจง ปัญหาทุกอย่างต้องเข้าสู่รัฐสภา สำหรับผู้เปิดอภิปรายได้แก่ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ขณะที่ผู้ปิดอภิปราย คือ นายเรืองไกร ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาต้องช่วยหาทางแก้ไข ไม่ใช่มีปัญหาแล้วหนีปัญหา ส.ว.ต้องการหาทางออกให้ชาติ ไม่ใช่ทำเพื่อสีแดงหรือสีเหลือง หรือพรรคการเมืองใด เราอยากเอาสยามเมืองยิ้มกลับคืนมา ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังกลุ่ม 40 ส.ว.ที่จะเสนอญัตติควบคู่อีกญัตติแล้ว ว่า สามารถมาร่วมลงชื่อยื่นญัตติร่วมกันได้ เพราะทราบว่ายังรวบรวมรายชื่อได้ไม่ครบ 1 ใน 3 ซึ่งกลุ่มตนจะรอดูในวันที่ 22 มี.ค.ที่จะมีการประชุมวุฒิสภา ซึ่งประธานวุฒิสภาคงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ เมื่อถามว่าภาพที่ออกมาวุฒิสภาเองยังไม่มีเอกภาพ จะเสนอทางออกแก้ปัญหาชาติได้อย่างไร นายวิทยา กล่าวว่า เราก็พยายามพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน อยากให้วุฒิสภาเป็นเอกภาพเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นตัวอย่างให้กับสังคมที่จะหาทางออกให้ชาติ

นายเรืองไกร กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่ยอมมาชี้แจงโดยอ้างถึงความไม่ปลอดภัยนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดูแลความปลอดภัยตนเองอย่างไร เพราะถ้ารัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำประเทศ ยังคิดว่าตนเองไม่ปลอดภัย แล้วจะให้คนทั่วไปคิดอย่างไร หากนายกฯไม่มั่นใจก็เอากองกำลังทหารตำรวจมาคุ้มกันรอบสภาก็ได้ ไม่ใช่ไปอยู่แต่ในหน่วยทหาร ทั้งนี้นายกฯและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯด้านความมั่นคง ต้องมาตอบคำถามของสมาชิก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งดูแล้วแนวทางการชุมนุมครั้งนี้ ค่อนข้างดีกว่าครั้งที่ผ่านๆมา การที่รัฐบาลหาทางสมานฉันท์โดยใช้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เป็นตัวช่วยนั้น เห็นว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมือง รัฐบาลยังมีทางออกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และ 179 ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 257 ก็ไม่มีช่องทางที่จะให้ กสม.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ หมิ่นเหม่ว่าจะเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่จากที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงขอร้องรัฐบาลว่าอย่าประวิงเวลาอีก ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่น่าเกินสัปดาห์หน้า

ด้าน นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ส.ว.คนใดที่ยังไม่ได้ลงชื่อ สามารถมาร่วมลงชื่อแสดงความจำนงร่วมอภิปรายได้ เพราะหากไปยื่นญัตติซ้ำอีก อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 161 วรรคสอง ที่กำหนดว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล สามารถทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง ซึ่งญัตติที่พวกตนเข้าชื่อร่วมกันได้ยื่นถึงมือประธานวุฒิสภาแล้ว การที่ ส.ว.อีกกลุ่มจะยื่นซ้ำอีก เกรงว่าจะทำไม่ได้ ยืนยันว่า ส.ว.ต้องการใช้สภาเป็นที่แก้ปัญหา จึงต้องอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.ร่วมลงชื่อเพิ่มเติมรวมประมาณ 70 คนแล้ว

ด้าน นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เราไม่ได้ปิดกั้น แต่ขอให้ ส.ว.ที่ต้องการร่วมอภิปราย แจ้งชื่อเข้ามาจะได้จัดระบบ เพื่อไม่อภิปรายซ้ำไปซ้ำมา จะได้เกิดความกระชับ มีแนวทางการนำเสนอต่อรัฐบาลที่ชัดเจน ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์เคยพูดอยู่ตลอดว่า เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่การไม่นำปัญหามาพูดในสภา แล้วจะรอให้ปัญหาขยายวงจนเกิดการปะทะกัน แล้วค่อยเอามาพูดคุยกันนั้น ถามว่าแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ส.ว.ต้องการเปิดเวทีตรงนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาประเทศ

ขณะที่ นางกิรณา กล่าวว่า ทุกคนต้องช่วยกันให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ ไม่ใช่ทำเฉยๆ อย่างนี้ เพราะไม่ใช่วิธีการของคนที่อาสาตัวเองเข้ามาทำงาน ตอนนี้ประชาชนอยากเห็นตัวแทนของชาติ ทำอย่างไรจะให้เกิดสันติวิธี อาคารสุขประพฤติไม่ใช่ที่ทำงานของ ส.ว.ที่ทำงานของเราคือรัฐสภา ทั้งนี้ จากการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯเกี่ยวกับการประชุมสหภาพรัฐสภา หรือไอพียู ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ของชาติ ทราบว่า มีหลายประเทศแจ้งยกเลิกมา เพราะไม่กล้าเข้ามาร่วมประชุมด้วย ซึ่งตรงนี้ปล่อยไปจะทำให้เสียหายหนัก หากการประชุมคราวนี้ต้องล้มไปอีก จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของชาติอย่างประเมินไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น