กรรมการสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์วอนทุกฝ่ายยึดสันติวิธี จี้รัฐเลี่ยงใช้อาวุธ ความรุนแรงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แกนนำม็อบต้องไม่ละเมิดกฏหมาย อย่ายั่วยุให้เกลียดชัง ส่วนคนไม่เกี่ยวขอให้อดทน เป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังความปลอดภัยภายในชุมชน ยัน กสม.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด “อมรา” ชี้รัฐสกัดแดงไม่ได้แต่ตั้ด่านค้นอาวุธไม่ละเมิด “ปริญญา” ปูดแก๊งถ่อยใช้วิทยุชุมชนปลุกปั่นรัฐ
วันนี้ (11 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช, ดร.ปริญญา ศิริสารการ, นางวิสา เบ็ญจะมโน และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการฯ ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการนัดชุมนุมในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกและหวั่นเกรงในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางว่า อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมประชาธิปไตย การแสดงความเห็น การรวมตัว และการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 ได้ประกันเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
กสม.จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน โดยสมควรปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยรัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนโดย หลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปตามหลักการสากล โดยขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ได้สัดส่วนเหมาะสม เท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์ และคำนึงถึงผลลัพธ์ในทางสันติ ขณะที่ผู้นำและผู้เข้าร่วมการชุมนุม ย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น ไม่กระทบต่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ผู้นำและผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง อันอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
ส่วนประชาชนที่มิได้มีส่วนร่วมในการชุมนุม ขอได้โปรดเข้าใจว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทุกประเทศที่เป็นสังคมประชาธิปไตย จึงขอให้มีความอดทนและอดกลั้น นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดี ด้วยการช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันความปลอดภัยของเคหสถานและชุมชนโดยรอบ หากมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือกฎหมาย โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทันที และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือการปะทะระหว่างกัน อันนำไปสู่ภาวะความวุ่นวายและไร้ระเบียบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พฤติกรรมการชุมนุม ที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพหากพบการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากเหตุการณ์นี้ แจ้งได้ที่สายด่วน 1377 หรือตู้ ปณ.123 ปณ.ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 10210 หรือทางอีเมล 12march@nhrc.or.th
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ทหารและตำรวจตั้งด่านสกัดคนเสื้อแดงที่จะเข้ามาชุมนุมถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ศาสตราจารย์อมรากล่าวว่า คงเป็นการจำกัดสิทธิแต่ไม่ถึงขั้นละเมิดสิทธิ และต้องมาดูว่าการตั้งด่านเป็นการตรวจอาวุธหรือสกัดกั้น หากเป็นการตรวจอาวุธก็ถือเป็นการป้องกันสามารถทำได้ แต่หากเป็นการสกัดไม่ให้มาชุมนุมก็ทำไม่ได้เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรองรับได้ เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังสร้างภาพให้คนเสื้อแดงเป็นปีศาจหรือไม่ นางอมรากล่าวเพียงว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน”
ด้าน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าคนเสื้อแดงได้ใช้วิทยุชุมชนในการปลุกปั่นและมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่ายังไม่ถึงขั้นละเมิดสิทธิ
ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการกรรมการสิทธิ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯได้รับข้อมูลจากที่ต่างๆว่าประชาชนมีความตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่สงบ มีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง จึงทำให้กรรมการหารือและเน้นเรื่องการให้เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมสถานการณ์โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ แต่หากสถานการณ์มีการพัฒนาในแต่ละขั้นตอนก็เป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิจะมีการประชุมวิเคราะห์ก่อนที่จะออกแถลงการณ์ต่อไป
วันนี้ (11 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช, ดร.ปริญญา ศิริสารการ, นางวิสา เบ็ญจะมโน และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการฯ ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการนัดชุมนุมในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกและหวั่นเกรงในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางว่า อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมประชาธิปไตย การแสดงความเห็น การรวมตัว และการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 ได้ประกันเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
กสม.จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน โดยสมควรปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยรัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนโดย หลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปตามหลักการสากล โดยขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ได้สัดส่วนเหมาะสม เท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์ และคำนึงถึงผลลัพธ์ในทางสันติ ขณะที่ผู้นำและผู้เข้าร่วมการชุมนุม ย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น ไม่กระทบต่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ผู้นำและผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง อันอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
ส่วนประชาชนที่มิได้มีส่วนร่วมในการชุมนุม ขอได้โปรดเข้าใจว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทุกประเทศที่เป็นสังคมประชาธิปไตย จึงขอให้มีความอดทนและอดกลั้น นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดี ด้วยการช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันความปลอดภัยของเคหสถานและชุมชนโดยรอบ หากมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือกฎหมาย โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทันที และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือการปะทะระหว่างกัน อันนำไปสู่ภาวะความวุ่นวายและไร้ระเบียบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พฤติกรรมการชุมนุม ที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพหากพบการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากเหตุการณ์นี้ แจ้งได้ที่สายด่วน 1377 หรือตู้ ปณ.123 ปณ.ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 10210 หรือทางอีเมล 12march@nhrc.or.th
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ทหารและตำรวจตั้งด่านสกัดคนเสื้อแดงที่จะเข้ามาชุมนุมถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ศาสตราจารย์อมรากล่าวว่า คงเป็นการจำกัดสิทธิแต่ไม่ถึงขั้นละเมิดสิทธิ และต้องมาดูว่าการตั้งด่านเป็นการตรวจอาวุธหรือสกัดกั้น หากเป็นการตรวจอาวุธก็ถือเป็นการป้องกันสามารถทำได้ แต่หากเป็นการสกัดไม่ให้มาชุมนุมก็ทำไม่ได้เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรองรับได้ เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังสร้างภาพให้คนเสื้อแดงเป็นปีศาจหรือไม่ นางอมรากล่าวเพียงว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน”
ด้าน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าคนเสื้อแดงได้ใช้วิทยุชุมชนในการปลุกปั่นและมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่ายังไม่ถึงขั้นละเมิดสิทธิ
ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการกรรมการสิทธิ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯได้รับข้อมูลจากที่ต่างๆว่าประชาชนมีความตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่สงบ มีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง จึงทำให้กรรมการหารือและเน้นเรื่องการให้เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมสถานการณ์โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ แต่หากสถานการณ์มีการพัฒนาในแต่ละขั้นตอนก็เป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิจะมีการประชุมวิเคราะห์ก่อนที่จะออกแถลงการณ์ต่อไป