หน่วยข่าวกรองประเมินมอบแดง 7 หมื่น สูงสุดแค่ 1 แสน แนะจับตาสถานการณ์เปราะบางช่วง 13-14 มี.ค.เหตุมีม็อบมาก หากถูกปลุกเร้าจนขาดสติ เสี่ยงจลาจลเผาบ้านเผาเมือง ชี้ 5 กลุ่มแสบจ้องสร้างสถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง ระบุมวลชน กทม.และปริมณฑล ชี้ชะตาทัพหางแดง เตือนรัฐบาลเสียเปรียบทำสงครามข่าวสารกับสมุน “นช.แม้ว”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ฝ่ายความมั่นคง ทั้งสำนักข่าวกรอง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทหาร ตำรวจ ได้ประเมินสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.เสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย
ข่าวกรองระบุว่า น่าจะเป็นการชุมนุมให้แตกหักภายในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ หวังผลจะกดดันให้รัฐบาลต้องยุบสภา หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน 7-8 วัน คาดว่าสถานการณ์จะตึงเครียดที่สุดในช่วงระหว่าง 14-17 มี.ค.2553 ลักษณะการชุมนุมแม้จะรุกเพื่อกดดันรัฐบาลพร้อมกันทั้งในและต่างจังหวัด แต่กลุ่มที่จะมีผลต่อการแพ้-ชนะน่าจะเป็นมวลชนในเขต กทม.ปริมณฑล และภาคกลาง
หน่วยงานด้านความมั่นคงระบุว่า ช่วงที่มีความเปราะบาง น่าจะเริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ 13-14 มี.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีมวลชนรวมตัวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง การควบคุมมวลชนจะมีปัญหามากที่สุด และหากมีการปลุกเร้ามวลชนมากขึ้นจนขาดสติ มีความเสี่ยงสูงที่มวลชนจะกลายสภาพเป็นม็อบที่ขาดการควบคุม จนอาจมีการเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนได้ นอกจากนี้ กลุ่มมือที่สามก็อาจจะเลือกใช้เวลานี้สร้างสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การก่อเหตุจลาจลได้
สำหรับจำนวนมวลชนและยานพาหนะ ประเมินจนถึงช่วงวันที่ 10 มี.ค.คาดว่า จะมีมวลชนเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 70,000 คน (สูงสุดประมาณ 100,000 คน) ยานพาหนะทุกประเภทประมาณ 5,000 คัน สำหรับจำนวนมวลชนที่จะเดินทางเข้าร่วมการชุมนุม แยกตามภาค มีดังนี้ ภาคเหนือ ประมาณ 5,800 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 20,000 คน ภาคกลางและภาคตะวันตก ประมาณ 2,500 คน ภาคตะวันออก ประมาณ 10,000 คน ภาคใต้ ประมาณ 500 คน และ กทม.ปริมณฑล 30,000 คน อย่างไรก็ตาม การประเมินจำนวนรถทำได้ยาก เพราะ นปช.ในพื้นที่ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล อาจนำรถเข้าไปเองโดยไม่ลงทะเบียน
ส่วนกลุ่มที่อาจสร้างสถานการณ์ น่าจะมี 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายของนายทหารและอดีตนายทหารที่นิยมแนวทางรุนแรง และไม่พอใจรัฐบาล หรือประธานองคมนตรีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ได้แก่ กลุ่ม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง ) พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี กลุ่มนายทหารรุ่น 10 ที่มีพฤติกรรมเชื่อมโยงกลุ่มมาเฟีย นายทหารในสังกัด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทะ และกลุ่มของนักการเมืองที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ และมีประวัติชอบใช้ความรุนแรง
สำหรับจุดมุ่งหมาย วิธีการ และเป้าหมายของกลุ่มสร้างสถานการณ์ มีความเป็นไปได้ที่จะใช้การก่อเหตุเพื่อกระตุ้น/ยั่วยุ ให้สถานการณ์การชุมนุมทวีความทร้อนแรง ทั้งการวางเพลิง ลอบวางระเบิด/ขว้างระเบิด หรือ ซุ่มยิง M-79 เข้าใส่สถานที่ราชการหรือแม้กระทั่งในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยอ้างว่าฝ่ายรัฐบางเป็นฝ่ายสร้างสถานการณ์เองเพื่อที่จะปราบปรามประชาชน นอกจากนี้ จากที่กลุ่ม นปช.เป็นเที่เกลียดชังของกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม เช่น บุคคลในย่านชุมชนใกล้ทำเนียบรัฐบาลที่เคยถูกกลุ่ม นปช. ทำร้าย จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะตอบโต้ล้างแค้นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เครื่องมือด้านสงครามข่าวสาร เครือข่ายของกลุ่ม นปช.มีความหลากหลาย ทั้งการใช้วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ของกลุ่ม สื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่ม เว็บไซต์ การส่งข้อความสั้น (SMS)และการประชุมกลุ่มย่อยเป็นช่องทางสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสาร ปลุกเร้า/ปลูกฝังความคิดอุดมการณ์แก่สมาชิกของกลุ่ม และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังใช้เครือข่ายแท็กซี่เผยแพร่ข้อมูลผิดๆ แก่ประชาชนที่ใช้บริการ นอกจากนี้ การสร้าสถานการณ์ให้ปรากฏเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอ ยังมีผลทำให้สื่อมวลชนทั่วไป ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ให้ความสนใจรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.มาโดยตลอด
ส่วนเครื่องมือด้านสงครามข่าวสารของฝ่ายรัฐ ส่วนใหญ่เป็นวิทยุ โทรทัศน์ ในเครือของกรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุชุมชนในเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ขณะที่สื่ออื่นๆ มีการรายงานข่าวสารอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวถูกวิจารณ์ว่าขาดความเป็นกลาง ดังนั้น การทำสงครามข่าวสารของฝายรัฐจึงเสียเปรียบ นปช.และยังไม่สามารถโน้มน้าว/ชักจูงให้กลุ่มบุคคลที่หลงเชื่อข้อมูลของ นปช.ปรับเปลี่ยนความคิดได้