เลขาธิการนายกฯ เรียกประชุม ตร.หามาตรการอารักขาเข้ม “นายกฯ” ช่วงคนเสื้อแดงชุมนุม สั่ง ตร.น้ำ จัดระเบียบการจราจรทางน้ำ พร้อมดูแลท่าเรือ บริเวณพื้นที่ กทม.ชั้นใน ตั้งแต่ช่วงอยุธยา ถึง สมุทรปราการ
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองเลขาธิการนายกฯ ประชุมร่วมกับฝ่ายตำรวจ เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง อาทิ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผช.ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก., พล.ต.ต.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ผบช.ส.โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง หลังการประชุม นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวสั้นๆ ว่า วันนี้คุยกันเรื่องการดูแลนายกรัฐมนตรี ส่วนที่นายกฯมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานกับแกนนำกลุ่มเสื้อแดง นายกอร์ปศักดิ์ ปฎิเสธที่จะตอบคำถามโดยอ้างว่ายังไม่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการ
ด้าน พล.ต.ต.ตรีทศ กล่าวหลังประชุม ว่า วันนี้มาประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการอารักขานายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยนายกฯ โดยในช่วงที่มีการชุมนุมจะต้องปรับแผนให้เข้มขึ้น แม้ว่ากำลังพลยังคงเท่าเดิมแต่ก็พร้อมที่จะเรียกสนับสนุน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้หน้าที่ในการ รปภ.นายกฯนั้น ทำร่วมกับทหารซึ่งที่ผ่านมาก็มีการฝึกฝนร่วมกันเป็นอย่างดี
เมื่อถามว่า ช่วงที่ประกาศ พ.ร.บ ความมั่นคง จะมีเซฟเฮาส์ให้นายกฯหรือไม่ พล.ต.ต.ตรีทศ กล่าวว่า “ตอบไม่ได้” แต่ทุกวันนี้ รปภ.นายกฯ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว โดยหลังจากนี้จะเข้มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เมื่อถามถึงข่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงจะทำร้ายบุคคลสำคัญ พล.ต.ต.ตรีทศ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรบุคคลสำคัญ คณะรัฐมนตรี ก็ต้องจัดชุดดูแลอยู่แล้ว และมีบุคคลบางคนที่เราต้องดูแล
เมื่อถามว่า สถานการณ์เช่นนี้หนักใจหรือไม่ ผบช.ส.กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าหนักใจหรือไม่หนักใจ
ด้าน พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวภายหลังร่วมประชุมว่า ในการประชุมได้รายงานเกี่ยวกับมาตรการที่จะรักษาความปลอดภัยเส้นทางการเดินเรือทางน้ำ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาโดยรายงานว่ามีการกำหนดมาตรการไว้ แต่หลักการใหญ่คือ ให้ประชาชนที่สัญจรทางน้ำไม่เดือดร้อน และขณะเดียวกัน จะต้องไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ในเรื่องของอุบัติเหตุทางน้ำที่หลายฝ่ายกังวลนั้นก็มีการประสานกับ ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ และ ทางกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ส่วนในเรื่องกำลังเพิ่มเติม นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลจะรับผิดชอบ
เมื่อถามว่า ทางเรืออาจจะมีอันตรายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้นั้น พล.ต.ท.ไถง กล่าวว่า ก็จะพยายามให้มีการเดินทางทางเรือให้น้อยที่สุด และคงไม่ถึงกับต้องมีการตั้งด่านสกัดการเดินทาง แต่จะดูว่ามีการจอดแช่กีดขวางเส้นทางทางน้ำหรือไม่ หรือจอดในบางท่า ที่มีการประกาศห้ามจอดเรือ รวมทั้งอาจจะมีการจัดระเบียบการเดินเรือในช่วงดังกล่าว