ผบช.ส.บอกจับตาเสื้อแดงปลุกระดมมวลชน ตรวจสอบกฎหมายเล่นงาน “เคทอง” แพร่คลิปทำนายวินาศกรรมผ่านยูทิวบ์ ระบุไม่สามารถเรียกสอบได้เพราะหนีไปแล้ว
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ผบช.ส. กล่าวถึงสถานการณ์ก่อนการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ว่า สรุปง่าย ๆ เลยว่า ตอนนี้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ทำงานร่วมกัน โดยการทำสำนวนคดีจะเป็นหน้าที่ของ บช.น.และ บช.ก.เป็นหลัก ส่วน บช.ส.จะเป็นส่วนเสริมด้านข้อมูลให้กับ บช.ทั้งสอง ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จับตากลุ่มเสื้อแดงอยู่ โดยพบว่าแกนนำอยู่ระหว่างการปลุกระดมให้เข้ามาชุมนุม
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้จับตากลุ่มเสื้อแดงบางคนเป็นพิเศษนั้น พล.ต.ท.ตรีทศ กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องการทำงาน คงไม่สามารถบอกได้ แต่ยืนยันว่าไม่มีการขึ้นแบล็กลิสต์คนเสื้อแดงไว้ อาจเป็นการเต้าข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ส่วนข้อถามที่ว่าเหตุระเบิดทั้ง 4 จุดในพื้นที่ กทม.และ จ.สมุทรปราการ เป็นฝีมือของกลุ่มใด พล.ต.ท.ตรีทศ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน แต่เราสามารถบอกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์จากผลคำพิพากษายึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง บช.ส.ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับการดำเนินการตรวจสอบคลิปภาพและเสียงของนายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ หรือเคทอง หนึ่งในแกนนำนักรบพระเจ้าตาก คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์ พล.ต.ท.ตรีทศ กล่าวว่า ถ้าเราพบพยานหลักฐานชัดเจนจะดำเนินคดีหมด โดยจะดูทางข้อกฎหมายว่าจะเข้าข้อกฎหมายใด ส่วนจะเรียกมาสอบสวนหรือไม่นั้น ตอนนี้คงไม่สามารถทำได้เพราะนายเคทองหนีไปแล้ว
“ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ไปหาเรื่องเขานะ แต่เร่าจะดูองค์ประกอบว่า การที่ออกมาพูดลักษณะนี้ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายจะเข้าในกรอบกฎหมายไหน” ผบช.ส.กล่าว
เมื่อถามว่า ทาง บช.ส.มีข้อมูลมาก่อนหรือไม่ว่า นายเคทองเป็นกลุ่มใด หรือต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหรือไม่ พล.ต.ท.ตรีทศ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานก่อน
ที่ บช.น.พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีนายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ ฉายาเคทอง ลูกน้องคนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล พูดผ่านวิดีโอคลิปเมื่วันที่ 26 ก.พ.และเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตว่า หลังจากวันที่ 26 ก.พ.จะมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นใน กทม.จนกระทั่งมีเหตุระเบิดธนาคารกรุงเทพฯหลายแห่งว่า ฝ่ายสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบัญชาการตำรวจสันติบาลกำลังสืบสวนและวิเคราะห์ทางกฎหมายว่า คำพูดดังกล่าวของนายพรวัฒน์มีเนื้อหาถ้อยคำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และกำลังสืบสวนที่มาที่ไปว่า พูดด้วยวัตถุประสงค์ใดมีเจตนาอย่างไรหรือเป็นการพูดระหว่างที่คล้ายกับการปราศรัยบนเวที จะเห็นว่าที่ผ่านมาคนที่ปราศรัยบนเวทีนั้นมักจะพูดไปเรื่อยเปื่อยพูดอะไรก็ได้พูดอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อพูดแล้วมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามคำพูดนั้นก็ต้องสืบสวนสอบสวนกัน
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า หากพบว่าคำพูดถ้อยคำของนายพรวัฒน์ เข้าข่ายผิดข้อกฎหมายก็ต้องมีการออกหมายเรียกตัวมาสอบสวนกัน หากไม่มีตามหมายเรียก 3 ครั้งก็ต้องออกหมายจับ ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนมีขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงทางสันติบาลกำลังดำเนินการอยู่มีการประสานจ้อมูลร่วมกับนครบาลตลอดเวลา
“ไม่อยากให้ประชาชน เกิดความวิตกกังวลมากนัก เพราะใครๆ ก็ออกมาพูดได้ จึงไม่อยากให้เป็นห่วงหรือวิตกจนเกินไป ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยหลังมีกระแสข่าวดังกล่าวนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล อยู่ระหว่างการวางแผนว่า จะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างไรเพิ่มเติมอีก เพราะขณะนี้ได้วางกำลังอย่างเต็มที่แล้ว” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงประกาศรวมพลเคลื่อนไหววันที่ 12- 14 มี.ค.ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ที่ปรึกษา สบ.10 ดูแลด้านความมั่นคงเรียกประชุมนายตำรวจระดับผู้บัญชาการตำรวจและรองผู้บัญชาการทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซักซ้อมทำความเข้าใจการปฏิบัติกรณีที่ผู้ชุมนุมทำการปิดถนนว่า เจ้าหน้าที่ควรจะทำอย่างไร ในเวลา 10.30 น.วันที่ 3 มี.ค.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมร่วมกันประเมินสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ทั่วรัศมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยในข่วงเช้าจะประชุมระบบคอนเฟอร์เร้นซ์ร่วมประเมินสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ กทม.ร่วมกับ ผบช.น.และรอง ผบช.น. ผบก.ที่รับผิดชอบพื้นที่สำคัญๆต่างๆ และแนวทางการปฏิบัติกรณีผู้ชุมนุมปิดถนน
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ตำรวจนครบาลและหน่วยงานด้านการข่าวของตำรวจสันติบาลประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาแบบวันต่อวัน ส่วนการปฏิบัตินั้น ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการเตรียมการป้องกัน และคลี่คลายสถานการณ์เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน พร้อมกำชับตำรวจนครบาลให้กำหนดตัวผู้รับผิดชอบ ผู้สั่งการในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดตัวผู้ปฏิบัติแต่ละหน้าที่ หัวใจคือ การใช้มาตรการคลี่คลายสถานการณ์ต้องเป็นมาตรการที่สังคมและประชาชนรับได้ และให้ฝ่ายจราจร เป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปิดเส้นทางจราจร
โฆษก บช.น.กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุระเบิด พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.เรียกประชุมแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ เน้นงานสายตรวจ และงานป้องกันและปราบปราม โดยกำชับ ผกก.และรอง ผกก.ป.ให้สำรวจพื้นที่และกำหนดมาตรการปฏิบัติ ฝ่ายจราจรให้ช่วยเหลือการปฏิบัติ รวมทั้งเรียกฝ่ายสืบสวนติดตามเร่งรัดคดีจับกุมคนร้าย
ผู้สี่อข่าวถามว่า มีประชาชนแจ้งเบาะแสจากภาพสเกตช์หรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า มีแจ้งเข้ามาบ้างยังตรวจสอบอยู่ยังไม่ได้ข้อมูลละเอียดเท่าที่ควร ขณะนี้มีการแกะรายละเอียดของภาพ รวมทั้งนำภาพจากกล้องวงจรปิดจุดอื่นเส้นทางใกล้เคียงเข้ามาประกอบกัน เพื่อให้ภาพคนร้ายชัดเจนยิ่งขึ้น และหาพยานแวดล้อมเพิ่มเติม โดยให้ กก.สส.บก.น.1-9 และ บก.สส. ติดตามคดี ขณะนี้ไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายกลุ่มใด แต่ทั้ง 4 จุดน่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เพราะแผนประทุษกรรมเหมือนกัน เป้าหมายตำรวจต้องจับตัวคนร้ายให้ได้ การออกหมายจับคนร้ายอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานก่อน
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึงคำถามภายหลังธนาคารกรุงเทพ จำกัด เปิดทำการวันนี้เป็นอย่างไรว่า เป็นไปด้วยดียังไม่พบการแจ้งเหตุรุนแรงใดๆ ส่วนเหตุกระจกแตกที่ช่อง 3 นั้นตรวจสอบแล้วยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับเหตุปาระเบิด ตอนนี้ตำรวจดูแลธนาคารและสถานที่ราชการสำคัญทุกแห่งทุกแห่งในพื้นที่ กทม. และใกล้เคียงอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐดูแลเราต้องให้ความมั่นใจประชาชดูแลความปลอดภัย แต่ต้องไม่ใช่ตำรวจเท่านั้น รปภ. และผู้บริหารของหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เช่น ศูนย์การค้า หรือธนาคารต่างๆ ควรตรวจตราข้างนอกถนน เพิ่มกำลังเหมือนตำรวจ น่าจะเกิดประโยชน์ดีกว่าปล่อยเป็นภาระของตำรวจฝ่ายเดียว ทางเจ้าหน้าทีตำรวจมีการประสานกับฝ่ายบริหารกับธนาคารกรุงเทพทุกสาขา ประสานกับ ผกก.สน.กำหนดตัวบุคคลในการติดต่อสื่อสาร ตรวจกล้องวงจรปิด และการแจ้งเหตุต่อตำรวจ
ด้าน พ.ต.อ.มนตรี แป้นเจริญ ผกก.สายตรวจตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กล่าวว่า หลังจากที่เกิดเหตุปาระเบิด ธ.กรุงเทพ หลายสาขาใน กทม. และปริมณฑล ทาง บช.น.ได้สั่งการให้ผู้กำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ เข้มงวดมากขึ้นในการเฝ้าระวังสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัทของเพื่อนประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่คาดว่าอาจจะเป็นเป้าหมายการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อไป เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทางตำรวจสายตรวจได้เฝ้าระวังกลุ่มบริษัทของเครือซีพี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ ที่ถนนสีลมมากขึ้น โดยประสานกับตำรวจท้องที่ ที่กลุ่มบริษัทเหล่านั้นตั้งอยู่
อย่างไรก็ตาม ทางสายตรวจ ตำรวจปฏิบัติการพิเศษ มีภารกิจหลัก ในการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญอยู่แล้ว ซึ่งได้เพิ่มมาตรการดูแลอย่างเข้มข้นมาก่อนหน้าที่เกิดเหตุแล้ว