xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่เปิดเขื่อนระบายน้ำลงแม่โขง อ้าง“หยุนหนัน”แล้ง-ให้รอฝนพฤษภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่จ.หนองคาย พระธาตุหล้าหนอง ที่จมมานานหลายร้อยปีโผล่ขึ้นมาให้ชาวบ้านได้ชื่นชม หลังน้ำโขงแห้งหนัก
เชียงราย – ผู้ว่าฯสิบสองปันนา-JCCCN จีน ยันไม่พร้อมเปิดเขื่อนปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขง แก้ปัญหาความแห้งแล้งที่ลุกลามไปทั่วลุ่มน้ำ อ้าง “หยุนหนัน” ยังแล้งอยู่ ต้องรอยาวถึงพฤษภาคม 53 อาจมีฝนตก จนระดับน้ำเพิ่มถึงเปิดประตูได้

หลังเกิดวิกฤตแม่น้ำโขงแห้งต่อเนื่อง จนทำให้ระดับน้ำบางวันเกือบจะหลุดมาตรวัดเลข 0 เมตรของกรมอุทกวิทยา ขณะที่การเดินเรือเกือบทุกชนิดทั้งเรือสินค้าในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ “ไทย จีน สปป.ลาว พม่า” ทั้งเรือโดยสารและท่องเที่ยว ต้องหยุดอย่างสิ้นเชิง เพราะเกรงจะเกยตื้นหรือประสบอุบัติเหตุ ชนโขดหินที่โผล่มากลางแม่น้ำโขงนั้น ล่าสุดกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และฝ่ายปกครอง จ.เชียงราย ต่างพากันใช้คอนเนกชัน ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ส่งหนังสือไปยังจีน เพื่อขอให้มีการระบายน้ำจากเขื่อนที่มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ มณฑลที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดและมีการเปิดใช้เขื่อนในแม่น้ำโขงถึงจำนวน 4 แห่ง

นายอภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จ.เชียงราย เปิดเผย "ASTVผู้จัดการ" ว่า กรมเจ้าท่า ได้ใช้ช่องทางของข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติซึ่งไทย สปป.ลาว พม่าและจีนตอนใต้ ได้ร่วมลงนามกันมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน คือ "The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong Riveramong China, Laos, Myanmar and Thailand" (JCCCN) โดยทำหนังสือไปถึง JCCCN ของจีน ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรมเจ้าท่า ของจีนว่า ขอให้จีนระบายน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขง เพื่อให้เรือสินค้าสามารถขนสินค้าได้ตามปกติ เพราะสภาพที่ผ่านมาคือเรือไม่สามารถแล่นออกจากฝั่งได้ เนื่องจากเจอปัญหาแม่น้ำตื้นเขินเกินไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังแจ้งให้จีน ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งระบุให้ทุกฝ่ายส่งเสริมให้สามารถเดินเรือพาณิชย์ระหว่างเมืองท่าของประเทศสมาชิกได้ตลอดทั้งปี แต่สภาพในปัจจุบันไม่สามารถเดินเรือได้

แต่ปรากฏว่า ทางการจีนก็ได้มีหนังสือตอบกลับมา โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะทำการระบายน้ำจากเขื่อนลงมาให้หรือไม่ แต่มีเนื้อหาของคำตอบว่า ในมณฑลหยุนหนัน กำลังประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน และยังคาดว่าปัญหาภัยแล้งจะยุติลง และจะมีฝนตกลงมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 นี้เป็นต้นไป
ระดับน้ำที่ลดลงทุกขณะ ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อทุกฝ่ายที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีพ ทั้งธุรกิจเดินเรือขนส่งสินค้า เพื่อการท่องเที่ยว และกลุ่มชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในหนังสือของจีน ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะระบายน้ำเมื่อไหร่ แต่มีนัยว่าอาจจะไม่มีการระบายน้ำไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้ตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน โดยตัวเลขของกรมอุทกวิทยาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พบว่าแม่น้ำโขงมีระดับกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยคือประมาณ 1.20 เมตร จากเดิมที่บางช่วงไม่ถึง 1 เมตร แต่มีข้อน่ากังวลอยู่ว่า แม้ระดับน้ำจากมาตรวัดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น แต่สภาพของแม่น้ำโขงแตกต่างจากในอดีตมาก โดยสถานการณ์แห้งแล้งปีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2547 ครั้งนั้นระดับน้ำลดลงต่ำสุดถึง 0.90 เมตร แต่ยังพอแล่นเรือสินค้าได้บ้างด้วยการลดระวางบรรทุกลง

"ปีนี้พบว่าแม้ระดับน้ำจะดูเหมือนลึกกว่า แต่ก็ลึกแค่ผิวน้ำเท่านั้น ส่วนใต้น้ำมีตะกอนดินทรายพอกพูนขึ้นมาจนทำให้ระดับน้ำจากพื้นสู่ผิวจริงๆ มีความตื้นเขินอย่างมาก ขณะที่มาตรวัดที่ใช้ยังคงอยู่ในระดับเดิมโดยกรมอุทกวิทยาได้ใช้ค่า 0 เมตรไปเทียบกับค่าของระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นสำคัญ" นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ไปอีกช่วงหนึ่ง เพราะล่าสุดได้รับแจ้งว่าเริ่มมีเรือสินค้าบางลำแล่นแล้ว แต่ได้ปรับระวางบรรทุกลงจากเดิมเคยบรรทุกสินค้าขนาด 200-300 ตัน ก็หันมาบรรทุกตั้งแต่ 100 ตันลงมา รวมทั้งต้องแล่นเรืออย่างระมัดระวังมากขึ้นด้วย

ด้านนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า จังหวัดก็ได้ยื่นหนังสือไปยังเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ด้วยเช่นกัน โดยตนได้ทำหนังสือไปถึงนางเตา หลินอิน ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เพื่อหารือให้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อน แก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแห้ง จนกระทบต่อการเดินเรือ ซึ่งนางเตา หลินอิน ก็ได้แจ้งกลับมาในทำนองเดียวกันว่า ที่มณฑลหยุนหนัน ก็กำลังประสบกับปัญหาความแห้งแล้งเช่นกันจึงมีความจำเป็นต้องกักน้ำเอาไว้

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศจีน มีเขื่อนในแม่น้ำโขง เขตมณฑลหยุนหนัน หลายแห่ง คือ เขื่อนเสี่ยววาน มีความสูง 300 เมตร ความจุอ่างน้ำกว่า 145,560 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เขื่อนมานวาน มีความสูง 126 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ เขื่อนต้าเฉาซาน สูง 110 เมตร 1,350 เมกะวัตต์ และเขื่อนจิ่งหง มีความสูง 118 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์
เขื่อนจีน 1 ใน 4 แห่ง ที่มีการคาดหมายว่าเป็นต้นเหตุน้ำโขงแห้ง
นอกจากนี้มีโครงการจะสร้างอีก 4 เขื่อนได้แก่เขื่อนเขื่อนนัวจาตู้ มีความสูง 254 กำลังผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ กำหนดสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2563 เขื่อนกงกว่อเฉียว มีความสูง 130 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 750 เมกะวัตต์ เขื่อนกันลันปา กำลังผลิตไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ และเขื่อนเมงซอง กำลังผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์

จีนมีเนื้อที่ลุ่มแม่น้ำโขงรวมกันประมาณ 162,760 ตารางกิโลเมตรคิดเป็น 21% ของลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งไหลผ่านทั้งจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมกันประมาณ 775,740 ตารางกิโลเมตร โดยแม่น้ำโขงเฉพาะที่ผ่านมาประเทศจีนเรียกกันว่าแม่น้ำหลานชาง มีความยาวประมาณ 2,130 กิโลเมตร จากความยาวของแม่น้ำทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหยุนหนัน

น้ำโขงลดต่ำจนเห็นพระธาตุกลางน้ำโผล่ชัดเจน

ด้านจ.หนองคาย ด.ต.บุญล้วน ริยะบุตร ผบ.หมู่ผู้ควบคุมเรือ พ.12 สถานีเรือหนองคาย 6 กองกำกับการ 11 กองบังคับการตำรวจน้ำ (สรน.6กก.11บก.รน.) ได้นำสื่อมวลชนสำรวจระดับน้ำโขง ตั้งแต่จุดจอดเรือตำรวจน้ำไปจนถึงพระธาตุกลางน้ำ ระยะทางประมาณ 3 กม.

หลังจากที่น้ำโขงลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง วัดได้ 0.32 เมตร ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้พระธาตุกลางน้ำ หรือพระธาตุหล้าหนอง ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุฝ่าพระบาทเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน 9 องค์ ซึ่งเดิมตั้งอยู่กลางลานวัดธาตุ แต่ถูกกระแสน้ำโขงที่เชี่ยวกรากกัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย

ทำให้องค์พระธาตุจมลงไปในแม่น้ำโขง เมื่อ ปี พ.ศ.2390 ระยะเวลาที่จมลงในแม่น้ำโขงจนถึงปีนี้รวม 163 ปี ในลักษณะล้มตะแคงด้านขวา ยอดพระธาตุจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อน้ำโขงลดระดับในทุกปีจะเห็นเพียงริมขอบฐานด้านล่างขององค์พระธาตุเพียง 1-2 เมตรเท่านั้น

แต่มาถึงปีนี้ปรากฏว่าสามารถมองเห็นฐานของพระธาตุและส่วนกลางองค์พระธาตุได้อย่างชัดเจน หรือประมาณ 4-5 เมตรจากผิวน้ำโขง

ด.ต.บุญล้วน ริยะบุตร กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำโขงลดลงมากผิดปกติจากทุกปี บริเวณฝั่งตรงข้ามกับท่าจอดเรือตำรวจน้ำหนองคาย เกิดเป็นหาดทรายของฝั่งลาวกว้างกว่าทุกปี ทำให้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาที่ตำรวจน้ำออกลาดตระเวนก็ต้องสังเกตแนวร่องน้ำลึกไม่ให้ท้องเรือติดกับพื้นทราย ซึ่งมักจะเกิดปัญหาท้องเรือติดพื้นทรายอยู่บ่อยครั้งในขณะน้ำลด ส่งผลให้การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ลำบากขึ้นและเสี่ยงต่อการชำรุดของเรือตรวจการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น