xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชะตากรรมคนลุ่มโขงใต้เงาเขื่อนจีน (จบ)คนลุ่มน้ำนัดเปิดเวทีคู่ขนานMRCเมษาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่น้ำโขง ที่จ.หนองคาย มีสภาพไม่ต่างจากจุดอื่นๆ ที่ปริมาณน้ำลดลงจนน่าใจหาย
ศูนย์ข่าวภูมิภาค – เครือข่ายภาคประชาชนคนลุ่มน้ำโขงเตรียมเปิดเวทีคู่ขนาน บี้ MRC แก้วิกฤตคนท้ายเขื่อนต้นเดือนหน้า พร้อมจี้รัฐบาลไทยใช้เวทีประชุม 2-4 เมษาฯนี้ที่ชะอำช่วยอีกทาง เสนอปรับโครงสร้างกรรมการแม่น้ำโขง เพิ่มภาค ปชช.เข้าร่วม-ตัดมหาอำนาจนอกเขตออก เล็งรวมข้อมูลประจานผ่านทูตจีน

“น้ำโขง” สายน้ำนานาชาติ ที่ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก กว่า 100 ปีก่อน นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หนึ่งของยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา เข้ามามีบทบาทโดยการตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC ; The Mekong River Commission)ขึ้น นัยว่า เพื่อพัฒนาพื้นที่

แต่เนื้อแท้ ก็คือ ความพยายามครอบครองพื้นที่เพื่อความได้เปรียบในยุคสงครามเย็น โดยมีธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นฟันเฟืองสำคัญ ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง ภายใต้ข้ออ้างว่า พื้นที่แถบนี้เป็นกลุ่มประเทศยากจน แต่เป้าหมายแท้จริงอยู่ที่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อสหรัฐอเมริกา ต้องล่าถอยออกไป เพราะแพ้สงครามในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้เกิด MRC ขึ้นมาแทนที่คณะกรรมการแม่น้ำโขงชุดเดิม โดยธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังพยายามเข้ามามีบทบาทเช่นเดิม

ยุคปัจจุบัน จีน ก็เข้ามามีบทบาทแทนประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ทำให้ยุคนี้เป็นยุคของจีน โดยที่จีนเองไม่ได้อยู่ใน MRC โดยตรง แต่ก็มีอิทธิพลสูง เพราะมีบทบาทในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS (Greater Mekong Sub region) วันนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่า MRC จะจัดการกับวิกฤตแม่น้ำโขงที่เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ขึ้นแล้วอย่างไร !?

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่หลายประเทศใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่จีนกลับมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ทั้งๆ ที่เขื่อนไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องภัยแล้งหรือน้ำท่วมเลย เพราะหากเกิดฝนตกท้ายเขื่อน หรือต้นเขื่อนก็เสี่ยงต่อน้ำท่วมทั้งนั้น ส่วนภัยแล้งก็พิสูจน์แล้วว่าเขื่อน 4 แห่งในจีนไม่ได้ลดปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งประเทศใต้น้ำต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เขาย้ำว่า สภาพแม่น้ำโขงตอนนี้ฟ้องว่า แม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ ไปถามใครๆ ดู เขาก็บอกว่าเกิดขึ้นหลังสร้างเขื่อนในประเทศจีน แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนกลับออกมาพูดหน้าตาเฉยว่า น้ำโขงแห้งหนนี้อาจไม่ได้เกิดจากเขื่อนอีก

“ผมอยากให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC ซึ่งมีตัวแทนไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ร่วมผลักดันให้จีนเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำทั้งหมดเพื่อจะได้บริหารจัดการร่วมกัน”

เขามองว่า ประเทศท้ายน้ำ ต้องรู้ว่าเดิมน้ำโขงมีปริมาณน้ำที่ไหลจากมณฑลซิงไห่ ของจีน อยู่เท่าใด ทั้งในช่วงน้ำหลาก-น้ำแล้ง เมื่อสร้างเขื่อนแล้ว น้ำถูกกักเก็บเท่าไหร่ หักลบปริมาณน้ำส่วนเกินทั้งสองฤดูหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับคนใต้น้ำ รวมทั้งต้องศึกษาให้ชัดเกี่ยวกับผลกระทบที่เขื่อนอาจได้รับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพราะเขื่อนอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนใต้ดิน ทั้งในพม่า – เสฉวน ที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไม่กี่ปีมานี้ด้วย เนื่องจากหากเขื่อนเกิดได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างขนานใหญ่ใต้น้ำด้วย

“ลำพังแค่ 4 เขื่อนที่มีอยู่ก็ทำให้น้ำโขงกระทบหนักหนาสาหัสแล้ว ถ้าจีนยังจะสร้างเพิ่มอีก 4 แห่ง บวกกับอีก 9 เขื่อนตามลำน้ำสาขาทั้งในไทย-ลาว ที่ราบลุ่มปากน้ำโขงที่เวียดนาม ที่แล้งนี้กลายเป็นน้ำกร่อยเพราะน้ำทะเลหนุนแล้ว จะตกอยู่ในสภาพไหน”

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า MRC มีกำหนดจะจัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2553 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ดังนั้นในระหว่างที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับการร่างหนังสือเกี่ยวกับปัญหาสภาพแม่น้ำโขงแห้งไปยังรัฐบาลไทย เครือข่ายฯ จะมุ่งเข็มไปยังการประชุม MRC ครั้งนี้ด้วย เนื่องจากมีผลเกี่ยวข้องโดยตรงและประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก MRC

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับลุ่มแม่น้ำโขง จะจัดเวทีคู่ขนาน เพื่อวิเคราะห์วิกฤตของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น ผลกระทบเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในจีน ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งลุ่มแม่น้ำโขง ฯลฯ จากนั้นก็จะยื่นหนังสือเกี่ยวกับสภาพปัญหาดังกล่าวไปยัง MRC

เมื่อน้ำโขงแห้ง แก่งหินกลางน้ำเริ่มโผล่ให้เห็นทั่วลำน้ำ
พร้อม ๆ กันนั้นจะยื่นหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบที่คนลุ่มแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนจีนได้รับ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 4 แห่งในจีนตอนใต้ต่อสถานทูตจีนประจำประเทศไทยด้วย

“ความจริงใน MRC น่าจะมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการบริหารด้วย เพื่อจะได้เห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น”

แต่ปัจจุบันโครงสร้าง MRC กลับไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วมเลย

ไม่เพียงเท่านั้น ปีนี้ประธาน MRC กลับเป็นประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีอาณาเขตที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางของ MRC ได้ว่า เป็นองค์กรที่ต้องรับทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงทำให้กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพด้านเงินทุนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งๆ ที่ควรจะมีกรรมการบริหารที่เป็นคนจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น ส่วนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมควรจะเป็นไปในรูปแบบของผู้ให้การสนับสนุนหรือที่ปรึกษาเป็นหลัก

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ ชมรมผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม และ ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบบสรรหา ก็มีกำหนดจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและดูสภาพปัญหาความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย โดยมีการลงเรือสำรวจพื้นที่ด้วย

มิติ ยาประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงแสน อ.เชียงแสน กล่าวเสริมว่า ณ วันนี้ น่าแปลกใจที่มีหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลว่าวิกฤตแม่น้ำโขงแห้งไม่ได้เกิดจากเขื่อนในจีน แต่มองว่าสาเหตุที่เรือจีนหยุด เพราะตรุษจีนแค่นั้น

มิติ ยาประสิทธิ์
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงตามเขื่อนต่างๆ ดำเนินการโดยทางการจีนทั้งหมด หลายครั้งที่มีการสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เช่น กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ฯลฯ มักได้คำตอบว่า ต้องสอบถามไปยังคนเรือจีน หรือคณะทำงานตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่ใช้ชื่อว่า The Joint Committee on Coordinating of Commercial Navigation on the Lanchang-Mekong River among China, Laos, Myanmar and Thailand (JCCCN) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นช่องทางเดียวของทางการไทยในการประสานกับจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่ที่ผ่านมา JCCCN ก็เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในโครงการระเบิดเกาะแก่งในน้ำโขง โดยมีส่วนร่วมในการสำรวจความเหมาะสมในการระเบิดเกาะแก่ง และปรับปรุงร่องน้ำ เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ 4 ชาติ ที่จีนทุ่มงบประมาณกว่า 200-500 ล้านหยวนในการดำเนินการ ด้วยการระเบิดเกาะแก่งจำนวน 11 แห่งและกลุ่มหินใต้น้ำ 10 แห่งในระยะแรก เพื่อให้เดินเรือสินค้าได้อย่างต่ำ 100 ตันไม่ต่ำกว่า 75% ของระยะเวลาตลอดทั้งปี ขั้นตอนนี้แล้วเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2546

ส่วนระยะที่ 2 จะระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนทรายอีก 51 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือขนาด 300 ตันขึ้นไปให้แล่นได้ตามอัตราเวลาเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการเกือบแล้วเสร็จคงเหลือเพียงเกาะแก่งบางแห่งที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่ จ.เชียงราย ร่วมกันคัดค้าน เช่น คอนผีหลง อ.เชียงของ ฯลฯ ทำให้แม่น้ำโขงท้ายแถบเชียงราย ลงไปยังไม่ถูกกระทำ และในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายประสงค์จะให้แม่น้ำโขงกลายเป็นคลองจนสามารถแล่นเรือขนาด 500 ตันเกือบตลอดทั้งปี

“อยากให้ยกปัญหานี้เป็นปัญหานานาชาติ รัฐต้องให้ความสำคัญและดำเนินการตามกรอบเวทีระหว่างประเทศต่างๆ หรือประสานกันระหว่างประเทศ เพื่อให้แก้ไขปัญหาพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ปล่อยให้ประเทศใต้น้ำได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียว” มิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ สุขวิทย์ บัวเผื่อน หัวหน้าส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ กลับมองต่างว่า เขื่อนจีนมีผลต่อระดับน้ำโขงเล็กน้อยเท่านั้น ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ เพราะน้ำสะสมปีกลายมีน้อย และไม่มีน้ำท่วมในพื้นที่ ทำให้น้ำโขง-น้ำสาขาปริมาณน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 40 ปี พอถึงฤดูน้ำลดจึงทำให้น้ำโขงลดลงตามไปด้วย อีกทั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ที่มักจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำโขง ทำให้ปริมาณน้ำโขงเพิ่มขึ้น แต่ปีนี้กลับไม่มีเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น