xs
xsm
sm
md
lg

ตัวอย่างการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ศึกษาจากต้นตำรับ ของแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีก 3 วัน เท่านั้น ก็จะได้รู้กันว่า ยึดไม่ยึด เงิน 76,000 ล้านบาท ค่าขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ที่นช. ทักษิณ ชินวัตร กับคุณหญิงพจมาน ถูกกล่าวหาว่า เอาไปซุกไว้กับลูกชาย ลูกสาว และพี่เมีย ฯลฯ

เงินก้อนนี้แหละ ที่เป็นชนวนให้กระเด็นตกจากเก้าอี้ ต้องระหกระเหินอยู่ในทะเลทรายจนถึงทุกวันนี้ ถ้าถูกยึดไปด้วย ก็คงเป็นเรื่องที่สุดแสนจะเจ็บปวด

จนถึงวันนี้ สถานการณ์บ้านเมืองยังปกติ ไม่มีเหตุร้าย รุนแรง ไม่มีการนองเลือด ไม่มีการยึดอำนาจ รัฐประหาร เหมือนที่หมอดู และสื่อ ทำนายไว้ล่วงหน้า เพราะว่า คนเสื้อแดง ตั้งแต่ระดับแกนนำลงมาจนถึงทหารเลว ไม่รัก นช. ทักษิณ จริง อุตส่าห์ ทวิตเตอร์ และโฟนอินทุกวัน ว่า ให้มากันเยอะๆ เดินเข้ากรุงเทพฯ ให้เหมือนสายน้ำ ก็ไม่มา หลอกว่า ถ้าได้กลับบ้าน จะปลดหนี้ให้ทุกคนภายใน 6 เดือน ก็ไม่เชื่อ สมแล้ว ที่ใครๆก็กล่าวหาว่า คนเสื้อแดงรักเงินทักษิณ ไม่ใช่รัก ตัวทักษิณ

โค้งสุดท้ายของ นช. ทักษิณ อยู่ในสภาพจนตรอก ยอมรับสภาพ ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า ทวิตเตอร์ และโฟนอิน กระบอกเสียง ที่คอยเปิดประเด็นใหม่ๆให้ ก็เหนื่อยหน่ายสุดกำลัง เพราะทุกประเด็นที่ปล่อยออกไป แป้กหมด จนปัญญาถึงขนาดงัดมุกประหลาดๆมาขายว่า ถ้านช. ทักษิณ ถูกยึดเงิน ที่ฝากไว้ธนาคาร จะทำให้ต่อไปนี้ ผู้ที่ทำธุรกิจสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย ไม่กล้า ฝากเงินไว้กับธนาคาร เพราะกลัวถูกยึด จะเอาเงินมาเก็บไว้กับตัว ทำให้เงินหายไปจากวงจรเศรษฐกิจ

พิโธ่เอ๋ย ! คิดได้อย่างไร

ทวิตเตอร์ล่าสุดจากคนชายขอบทะเลทราย พุ่งเป้าไปที่ศาล เพราะชะตากรรมของเขา ขึ้นอยู่กับ คำพิพากษาของศาลในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้อย่างเดียว ไม่ใช่อำมาตย์ หรือ รัฐบาลที่เขาพยายามบิดเบือน เพื่อกวนน้ำให้ขุ่น ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา

นช. ทักษิณ บอกว่า ถ้าศาลไทยไม่ให้ความเป็นธรรม จะไปต่อสู้ในเวทีโลก ความเป็นธรรมของ นช. ทักษิณ ก็คือ ตัวเองต้องชนะคดี ได้เงินคืนเท่านั้น ใช่ไหม ผิดไปจากนี้ ไม่ใช่ความเป็นธรรม

นช. ทักษิณ กล่าวหาศาลว่า ตามปกติ ระบบยุติธรรมของไทยถือว่า มีมาตรฐานค่อนข้างดี เพิ่งจะมาเสียหายไม่นานนี้เอง ท่ามกลางความอึดอัดของผู้พิพากษาส่วนใหญ่ เพราะถูกแทรกแซง

ไม่รู้ว่า ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ที่รู้สึกอึดอัดนั้น รวมถึงนายอุดม มั่งมีดี ด้วยหรือไม่

การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เป็นข้อกล่าวหาที่ นช. ทักษิณ ใช้ปกป้องความผิดของตัวเองมาโดยตลอด โดยไม่สามารถหาพยาน หลักฐานมายืนยันได้ ได้แต่พูดลอยๆเท่านั้น

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ต้องฟังนช. ทักษิณ บ้าง เพราะ ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งในประเทศนี้ ที่รู้เรื่อง การแทรกแซง กระบวนการยุติธรรมดีที่สุดก็ต้องเป็นเขาคนนี้แหละ เพราะทำมากับมือ


เรื่องเอาขนมมาฝากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนทนายถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนนั้น เป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับการล้อบบี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีซุกหุ้นภาค 1 เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริง เชื่อถือได้ เพราะเป็นการเบิกความในศาล ของประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ในขณะนั้นคือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

นายวสันต์ ไปเบิกความเป็นพยานจำเลย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ในคดีที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ที่ลงมติว่า นช. ทักษิณไม่ได้ซุกหุ้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ฟ้อง นสพ.แนวหน้า และ นต. ประสงค์ สุนศิริ ใน คดีหมิ่นประมาท ที่ไปเขียนว่า ตุลาการทั้ง 8 คน วินิจฉัยเพื่อช่วยเหลือ นช. ทักษิณ

ตุลาการทั้ง 8 คนคือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ พล.ท.จุล อติเรก นายอนันต์ เกตุวงศ์ และนายสุจินดา ยงสุนทร

นายวสันต์เบิกความว่า ก่อนการลงมติในคดีซุกหุ้นของนายกรัฐมนตรี นายจุมพล ณ สงขลา ได้เดินทางมาพบที่ห้องทำงานชั้น 4 ของศาลฎีกา เพื่อมาขอคำปรึกษาว่าหากจะเขียนคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดในคดีซุกหุ้น เพราะไม่เข้าข่ายมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ จะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งนายวสันต์ได้สอบถามนายจุมพลว่า ตกลง "จะอุ้มนายกฯ ทักษิณ" ใช่หรือไม่ นายจุมพลตอบว่าประชาชนกว่า 11 ล้านคนเลือก พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นนายกฯ จะให้เสียงของคนไม่กี่คนมาทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นตำแหน่งได้อย่างไร

ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังเบิกความด้วยว่า เขาได้ทักท้วงนายจุมพลว่า เมื่อเป็นผู้พิพากษาถ้าหากใครทำผิดกฎหมายก็ต้องลงโทษไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ก็แนะนำไปว่า ถ้าจะ "อุ้ม" ควรจะวินิจฉัยในเรื่องของข้อเท็จจริงของคดี มากกว่าใช้การตีความตามข้อกฎหมาย ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการลงมติในคดีซุกหุ้นไปแล้ว ก็ได้พบกับนายจุมพลอีกครั้งหนึ่ง และได้ซักถามว่าเหตุใดนายจุมพลจึงวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิด เพราะไม่เข้าข่ายตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้นตุลาการที่วินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิด เพราะไม่เข้าข่ายมาตรา 295 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง กว่าตุลาการที่วินิจฉัยในข้อเท็จจริง

นายวสันต์เบิกความต่อไปว่า นายจุมพลได้ให้เหตุผลกับเขาว่า ที่ไม่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงก็เพราะเกรงว่าจะฝืนกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ทั้งระหว่างพิจารณาคดีซุกหุ้นนายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ได้อ้างวารสาร Who is Who ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า มีคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยข้อกฎหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295

นายวสันต์ยังเบิกความว่า ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายบัณฑิต ทนายจำเลย ฟังในการพบกันครั้งหนึ่ง ซึ่งเขาและนายบัณฑิตมักจะนัดพบกันเสมอ เพื่อพูดคุยเรื่องต่างๆ เพราะเคยทำงานในสำนักงานทนายความเดียวกันมาก่อน และได้เล่าให้นายกำพล ภู่สุขแสวง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาฟัง เนื่องจากนายกำพลเห็นนายจุมพลเข้าพบตนที่ห้องทำงาน

"ผมคิดไม่ถึงว่าจะมีคดีนี้ (คดีหมิ่นประมาท) ผมจึงพูดให้คุณบัณฑิตฟัง ถ้าผมรู้ ก็คงไม่คุยให้ใครฟังเลย แต่เมื่อทราบจากทนายจำเลยว่า ในสำเนาคำฟ้องหมิ่นประมาทมีการปฏิเสธว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เคยไปพบกับผู้พิพากษาศาลฎีกาก่อนจะลงมติ จึงต้องมาเป็นพยาน" นายวสันต์กล่าว

ก่อนหน้านี้ในการสืบพยานในวันที่ 10, 11 และ 13 สิงหาคม นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายจำเลย ยังได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานด้วยตนเองว่า เขาได้พบกับนายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุระเล่าให้ฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้มาพบกับนายอุระ เพื่อขอให้ช่วยเหลือ โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวกับนายอุระว่า ขอคะแนน 1 เสียง แล้วลูกชายของนายอุระที่ทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศจะย้ายไปเป็นเลขาทูตที่ประเทศไหนก็ได้ หรือจะลาออกจากราชการมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยก็ได้ ในขณะที่นางเยาวภาก็ไปพบนายอุระที่บ้านถึง 3 ครั้ง แต่นายอุระก็ไม่ได้ลงมติตามที่ถูกร้องขอ

นายบัณฑิตเบิกความว่า นายอุระได้เล่าให้เขาฟังว่าครั้งสุดท้ายที่นางเยาวภาไปพบที่บ้าน ได้ระบุว่า ขณะนี้มีตุลาการ 4 คนที่รับปากจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ, นายจุมพล ณ สงขลา, นายผัน จันทรปาน และนายศักดิ์ เตชาชาญ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและเอกสาร แต่ให้ลงโทษฐาน ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ เป็นการดูหมิ่นคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำคุก นต. ประสงค์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้า คนละ 1 ปี ปรับคนละ 7,000 บาท โดยโทษจำคุก ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ มีแต่นายจุมพล และนายปรีชา ที่ไปให้การในศาล ตุลาการที่เหลืออีก 6 คน ที่เป็นโจทก์ร่วม ไม่ไปให้การ จะขอใช้คำให้การของนายจุมพล และนายปรีชา แต่ศาลไม่อนุญาต

ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน แต่ให้เพิ่มระยะเวลาการรอลงอาญาเป็น 2 ปี

เรื่องนี้ ได้รับการถ่ายทอดผ่านสิ่อมาหลายครั้งแล้ว ขอนำมาเสนออีกรอบหนึ่ง ในวาระก่อนจะถึงวันพิพากษา 26 กพ. เพื่อให้เห็นว่า ใครคือ ตัวจริง เสียจริง ที่มีพฤติกรรมแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น