xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จวกพวกทำร้ายชาติ ส่งข้อมูลมั่วให้ ตปท.กลัวหัวหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
โฆษกประชาธิปัตย์รับต่างชาติแจงพลเมืองห้ามมาไทยส่งผลกระทบการท่องเที่ยว ปูดมีพวกส่งข้อมูลมั่วให้ต่างประเทศระวังสงครามกลางเมือง ซัดพวกทำร้ายชาติ คาดมี 4 สถานการณ์ ก่อนและหลังยึดทรัพย์ “นช.แม้ว” สวนกลับนักโทษชาย เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีรัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศแจ้งเตือนพลเมืองของแต่ละประเทศให้ระมัดระวังการเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงนี้ว่า ประกาศดังกล่าวกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่กำลังกลับมาดีในช่วงปีที่ผ่านมา แต่กลับต้องมาชะลอตัวชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะรักษาความเชื่อมั่นไว้

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ได้มีการสอบถามไปยังสื่อต่างประเทศพบว่า มีการส่งข้อมูลคาดเคลื่อน ผ่านไปยังรัฐบาลต่างประเทศ โดยเครือข่ายของผู้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ เรื่องของความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองหรือสงครามประชาชน ซึ่งข้อเท็จจริงขณะนี้ ไม่มีมวลชนจำนวนมากที่สนับสุนแนวทางการเกิดสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน การให้ข่าวดังกล่าวถือเป็นการโจมตีทำร้ายประเทศไทย ลดทอนความน่าเชื่อถือ อยากให้รัฐบาลตรวจสอบแหล่งที่มาให้กระจ่างชัดว่าผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิด ความสงบเป็นคนส่วนน้อยที่อาจจะเตรียมการทำวิธีการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก่อความวุ่นวายหรือก่อการจลาจล อีกทั้งมีการปล่อยข่าวลือผ่านสื่อต่างประเทศว่าจะมีการรัฐประหาร สื่อบางสำนักถึงกับรายงานว่ามีการขนย้ายกำลังทหารออกจากกรม กอง ออกมาสู่ถนนต่างๆ และมีการติดอาวุธ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การปล่อยข่าวดังกล่าวเป็นเพียงการหวังปลุกระดมให้ประชาชนปฏิเสธกองทัพ มีการพาดพิงต่อสถาบันองคมนตรีต่อเนื่อง เป็นการกระทำที่กระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข จึงขอสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลในการเร่งทำความเข้าใจต่อรัฐบาลต่างประเทศที่ ประกาศแจ้งเตือนพลเมืองของแต่ละประเทศไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเพื่อการทำร้าย ประเทศไทยจากกลุ่มคนที่ไม่หวังดีและเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามพฤติกรรมเหล่านี้เป็นหลัก หากมีการดำเนินการก็ต้องจัดการตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ข้อสนับสนุนการเตรียมการประเมินสถานการณ์ที่คาดว่าจะเผชิญกับ 4 สถานการณ์ก่อนและหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท คือ 1.ใช้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง โดยการเดินทางจากชนบทด้วยยานพาหนะเข้ากรุงเทพมหานคร มีการกดดันปิดเส้นทางสัญจร ซึ่งมีเตรียมการป้องกันการปิดทางสัญจร หากมีการเดินทางมาชุมนุมเพื่อปิดสี่แยกสำคัญ 2.แนวทางการยั่วยุเพื่อให้เกิดปะทะกัน รัฐบาลก็ได้วางแนวทางที่จะไม่ติดอาวุธ แต่จะใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนที่เป็นสากลและจะไม่มีความรุนแรงจากการใช้ เครื่องมือดังกล่าว โดยรัฐบาลจะไม่โต้ตอบการใช้กำลัง ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันว่าจะไม่เกิดความรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาล 3.อาจจะมีการเผชิญหน้ากันด้วยสร้างมวลชนที่รวมตัวกันเพื่อป้องกันชุมชนของตัวเอง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้รัฐบาลทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมในเพื่อต้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะจะเป็นประเด็นให้ผู้เคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ การปะทะกันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และ 4.แนวการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตั้งด่านตรวจจับทั้งใน กทม.และปริมณฑลตามสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันจุดที่เป็นจุดเสี่ยง ซึ่งพรรคได้ประเมินว่า อาจจะมีการสร้างความวุ่นวายให้ลุกลามบานปลายจนอยู่นอกเหนือความควบคุมของ รัฐบาล เพื่อทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้างว่ากระทำการเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องความยุติธรรม แต่ที่จริงต้องการล้มรัฐบาลเตรียมการเคลื่อนไหวที่จะไม่ยอมรับคำตัดสินวินิจฉัยของศาล กล่าวหาว่ามีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า เพื่อนำไปสู่การล้มคดีที่ถูกตัดสินไปแล้ว รวมทั้งคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและคดีที่อยู่ก่อนชั้นศาล

อีกทั้งยังมีการใช้สื่อเพื่อการปลุกระดมผ่านเว็บไซต์และวิทยุชุมชน พาดพิงสถาบันองคมนตรีและพาดพิงสถาบันสูงสุดควบคู่ไปกับการให้สัมภาษณ์สื่อ ข่าวต่างชาติ สำหรับการกดดันกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทวิตเตอร์ว่าระบบยุติธรรมที่มาหลายชั่วคนกำลังกลายเป็น เครื่องมือทางการเมือง ก็ต้องกลับไปถาม พ.ต.ท.ทักษิณว่าที่พูด ตรงกับพฤติกรรมที่ได้เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ สถาบันยุติธรรม ด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองจนทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤต พ.ต.ท.ทักษิณสามารถแทรกแซงอัยการได้ แต่ไม่สามารถแทรกแซงศาลได้จนเกิดการติดสินบนในคดีที่ดินรัชดาภิเษก จนมีผู้ถูกดำเนินคดี ซึ่งสังคมต้องแยกแยะต่อคำพูดดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น