xs
xsm
sm
md
lg

จุดเสี่ยงไทยเสียรู้ “ฮุนเซน” ฮุบพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮุนเซน
เรื่องมันฟ้อง
โดย...กรงเล็บ


การออกมาเต้นแร้งเต้นกา แสดงธาตุแท้สันดานกาของ “ฮุนเซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า “เขมร” กำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากต่อการผลักดันให้คณะกรรมการมรดกโลกผ่านแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร เพื่อให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาอย่างสมบูรณ์


จากเดิมที่คิดว่าประเด็นปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของอ้อยที่กำลังจะเข้าปากช้าง และพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็อยู่ในวิสัยที่เขมรจะกลืนกินอธิปไตยของชาติไทยได้อย่างสะดวกดาย

เพราะรัฐบาลนอมินียุคสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เปิดรั้วบ้านให้ “ฮุนเซน” มาถือสิทธิเหนือดินแดนไทย

แต่ทุกอย่างสะดุดหยุดลงเมื่อรัฐบาลนอมินีสิ้นอำนาจ

เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองโดยพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีของไทยกลายเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ที่ทำให้เขมรกลืนกินพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยไม่ได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ฮุนเซน” จะเกิดอาการบ้าคลั่งด่าทอผู้นำไทยด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่ต่างอะไรจากกุ๊ยข้างถนน

ความไม่พอใจของ “ฮุนเซน” เริ่มต้นจากการที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ให้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ว่า คณะกรรมการมรดกโลกดำเนินการไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามมาตรา 11(3) ของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก และข้อบัญญัติ 103,104,108 ของ Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention

ในการพิจารณาครั้งนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทักท้วง และแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เสื่อมทรามลง แต่ “อภิสิทธิ์” ที่นั่งหัวโต๊ะยืนยันว่า

การรักษาอธิปไตยของชาติไว้ มีความหมายมากกว่าการรักษาสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อไทยเดินหน้าคัดค้านอย่างเป็นระบบ ส่ง “สุวิทย์ คุณกิตติ” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 33 ที่เมืองเซบิญ่า ประเทศเสปน โดยได้ยื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก และประธานกรรมการมรดกโลก นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือถึงนาย Koichiro Matsuura ผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์มรดกโลก เพื่อขอรับเอกสารที่ฝ่ายกัมพูชายื่นแก่ศูนย์มรดกโลก

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนั้นมีมติให้กัมพูชายื่นรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 และจะประชุมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณาแผนบริหารจัดการที่สมบูรณ์สำหรับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งจะเป็นการชี้ขาดว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะเป็นผลโดยสมบูรณ์หรือไม่ และการคัดค้านของไทยได้ผลเพียงใด

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทางฝ่ายไทยได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารตามกติกาสากล และดูจะมีความรัดกุมพอสมควร แต่ก็ยังมีหลายจุดที่น่ากังวล

1 ทางศูนย์มรดกโลกได้มีหนังสือตอบ “สุวิทย์” ลงวันที่ 20 ก.ค.52 ว่า ไม่สามารถส่งเอกสารต้นฉบับของกัมพูชาให้ฝ่ายไทยได้ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากกัมพูชา เท่ากับว่าไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นเอกสารนี้ เพราะกัมพูชาคงไม่ยอมให้ศูนย์มรดกโลกส่งเอกสารให้กับฝ่ายไทย

2 เมื่อไม่ได้เห็นรายงานของกัมพูชาก็จะไม่รู้เลยว่าทางเขมรจะใช้แผนที่ที่กินดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยผนวกเข้าไปด้วยหรือไม่ แม้ว่าเดิมกัมพูชาจะเคยส่งรายงานแก่ศูนย์มรดกโลก แนบพื้นที่กำหนดขอบเขตของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนและเขตกันชนไม่รวมพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือขององค์ปราสาทซึ่งเป็นข้อพิพาทกับไทย และกัมพูชา (4.6 ตารางกิโลแมตร) โดยระบุว่าการกำหนดพื้นที่จะต้องเป็นไปตามผลการจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา

แต่การส่งรายงานเพิ่มเติมที่เพิ่งเสนอต่อศูนย์มรดกโลกและไทยยังไม่ได้เห็น ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ากัมพูชาจะไม่แอบผนวกเอาพื่นที่พิพาทเข้าไปด้วย

3 ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้เกิดความบกพร่องในการเผยแพร่เอกสารในเวปไซต์ของศูนย์มรดกโลก ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าแผนผังขอบเขตของทรัพย์สินที่ขอขื้นทะเบียน (RGPP) รวมแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ลงนามวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งจะทำให้ไทยเสี่ยงต่อการเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กับกัมพูชา แม้ในภายหลังทางศูนย์มรดกโลกจะแก้ไขความคลาดเคลื่อน โดยนำแผนที่แนบท้ายดังกล่าวออกแล้วใส่แผนผังขอบเขตของทรัพย์สินที่ขอขื้นทะเบียนเข้าไปแทน พร้อมกับระบุว่าจะไม่นำคำแถลงการณ์ร่วมฯที่มีแผนที่แนบท้ายมาพิจารณา แต่การที่ศูนย์มรดกโลกปรับปรุงเอกสาร WHC-08/32.COM/INF.8B1.Add2 หรือ Evaluations des biens culturels ซึ่งจัดทำโดย ICOMOS ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 มารวมกับแผนผัง RGPP ด้วยนั้น เป็นการนำเอกสารที่เกิดขึ้นต่างช่วงเวลาและต่างผู้จัดทำมาผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิความสับสนว่าแผนผัง RGPP คือแผนผังฉบับเดียวกับแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมฯ

แม้ว่ารัฐบาลไทยมีเหตุผลเพียงพอที่จะคัดค้านในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องทำงานบนข้อจำกัดหลายประการ เพราะรัฐบาลนอมินีก่อนหน้านี้เคยไปสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจให้เขมรกลืนกินผืนแผ่นดินไทย ยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จนกลายเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ในปัจจุบัน


จากนี้ไปทุกก้าวย่างของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต้องมีความละเอียดรอบคอบ รัดกุม และเท่าทันต่อเกมของกัมพูชา เพื่อไม่ให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้บนเวทีประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยจะละเลยประเด็นใดไม่ได้เลย

เพราะมีอธิปไตยของชาติไทยเป็นเดิมพัน
กำลังโหลดความคิดเห็น