นายกฯ ยันตั้งกรรมการสอบซื้อขายเก้าอี้ตำรวจ เฉพาะภูธรภาค 2 แนะ “เฉลิม” ส่งข้อมูลมา ชี้พูดลอยๆ ก็จัดการยาก จ่อรื้อระบบราชการแก้ปัญหาวิ่งเต้นรับเงินใต้โต๊ะซื้อตำแหน่ง ขอบคุณ “กำธน” ติงรัฐปราบพวกหมิ่นสถาบันเหลว พร้อมนำไปปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้น รับตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคดีความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวกับ องค์พระมหากษัตริย์ หวังแยกคดีให้ชัดเจนขึ้น
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่กรมชลประทาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ตนลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว เริ่มปฏิบัติงานได้ทันที ซึ่งเป็นการดำเนินการกับกรณีที่มีการร้องเรียนการซื้อขายตำแหน่งในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 2 เพราะตรงนั้นมีการร้องเรียนมากเป็นพิเศษ แต่ในกรณีภาคอื่นสามารถส่งให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบได้ เช่นในหลายพื้นที่ก็ให้ทาง สตช.ช่วยตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรม ก็เหมือนกับเวลาที่มีการร้องเรียนการแต่งตั้งต่างๆ ส่วนกรอบของเวลาการทำงานตนก็อยากให้เร็วที่สุด แต่ในที่นี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุพาดพิงว่าให้สอบถามคนใกล้ตัวนั้น ก็ขอให้ส่งข้อมูลมา คนใกล้ตัว ไกลตัวไม่มีใครมีสิทธิเหนือกว่าคนอื่น ทั้งนี้ก็ต้องดูเรื่องที่ส่งเข้ามา ถ้าเรื่องร้องเข้ามาขยายผลไปสู่อื่นๆก็สามารถดำเนินการได้
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยว่า ถ้ามีเรื่องที่เป็นข้อมูลก็ขอให้ส่งมา อย่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจพอเราเห็นว่ามีคนส่งข้อมูลเข้ามา ถ้าเราเห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอได้ ก็จะดำเนินการ แต่ถ้าพูดลอยๆ เฉยๆ ก็ยาก ขณะที่ที่อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาเปิดเผยว่ามีการเรียกรับเงิน ตนก็อยากให้ส่งข้อมูลเข้ามา แม้ว่าเรามีข้อมูลระดับหนึ่งที่ไม่ระบุชื่อคนส่งข้อมูลเข้ามา มีการระบุพฤติกรรมที่ชัดเจน มีน้ำหนัก เราก็สามารถดำเนินการได้ มีระเบียบทางราชการอยู่บอกไว้เช่นนั้น ถ้าคิดว่าอยากให้มีการดำเนินการก็ต้องส่งเข้ามา ส่วนการจะแก้ปัญหาการรับเงินใต้โต๊ะเมื่อถึงเวลาโยกย้ายข้าราชการในหลายกระทรวงนั้น ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งตนกำลังดูอยู่ในระบบราชการว่า ตำแหน่งต่างๆมีผลประโยชน์อะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลประโยชน์ที่ไม่พึงจะได้ตามหลักที่เป็นเรื่องธรรมาภิบาล ก็ต้องมีการปรับปรุง เพราะถือเป็นที่มาของการแก่งแย่ง หรืออาจถึงขั้นซื้อขายกันก็อาจจะมาจากตรงนี้ ฉะนั้นจะพยายามดูในส่วนนั้นด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณี พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ออกมาแสดงความเห็นรู้สึกไม่สบายใจข่าวทำลายสถาบัน พร้อมทั้งตำหนิรัฐบาล ที่เอาแต่ตั้งรับจนปล่อยให้มีการพาดพิงสถาบันว่า ต้องขอขอบคุณที่ท่านได้เตือนรัฐบาล จริงๆแล้วรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มีกลไกที่ทำงานอยู่ทุกๆด้าน ทั้งในด้านการทำความเข้าใจ และด้านการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คงต้องไปปรับปรุงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคดีความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ที่ตนตั้งขึ้นก็จะช่วยในเรื่องที่เกิดคดีขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาว่าคดีถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง หรือเป็นการตีความกฎหมายไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย กฎหมายมีไว้ปกป้องสถาบัน เราก็ช่วยกันดูแลกฎหมายไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้แล้วไม่เป็นผลดีกับสถาบันกรรมการก็มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ก็ได้มีการรายงานความคืบหน้าอยู่ ซึ่งการเคลื่อนไหวโจมตีทำผิดกฎหมายในเรื่องดังกล่าวก็มีอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งมีการติดตามและดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคดีความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวกับ องค์พระมหากษัตริย์ ที่นายกฯแต่งตั้งขึ้น ประกอบไปด้วยนาย กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานพร้อมด้วยปลัดกระทรวงทุกกระทรวง นอกจากนี้มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเลขานุการ โดยมีบทบาทหน้าที่ในการให้คำปรึกษาการดำเนินคดีความมั่งคงที่เกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความรอบคอบ เป็นธรรมและเกิดความเหมาะสม