xs
xsm
sm
md
lg

“นพเหล่” ไม่พ้นวิบากกรรม วุฒิฯ จ้องเพิกถอนสิทธิ์ ยกเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเดินหน้าถอดถอน “นพดล” ตามคำชี้มูล ป.ป.ช.กรณีจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี พร้อมอโหสิกรรม “สมัคร” ยุติการพิจารณาหลังถึงแก่อสัญกรรม

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีการพิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้ถอดถอนนาย นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งกรณีเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเห็นว่ามีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ และมีมูลเป็นความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานแต่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้บรรจุวาระครั้งแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ประธานได้แจ้งให้รับทราบว่าได้หยุดดำเนินการเพราะนายสมัคร และนายนพดลพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ภายหลัง นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ได้เสนอต่อที่ประชุม เห็นควรให้มีการดำเนินการต่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270-274 โดยหากวุฒิสภามีมติถอดถอน จะทำให้มีโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภามีการหารือถึงกรณีของนายสมัคร ว่าเห็นควรให้ยุติการพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากนายสมัครได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว โดยนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว ถ้าบุคคลที่ไม่มีตำแหน่งแล้ว ก็ไม่ควรดำเนินการถอดถอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของนายสมัครได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว จึงไม่รู้จะถอดถอนอะไรอีก ทั้งการถอดถอนจากตำแหน่ง และถอดถอนเพื่อให้มีการลงโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีด้วย อีกทั้งนายสมัครไม่มีสภาพความเป็นมนุษย์อีกแล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขที่วุฒิสภาจะดำเนินการได้ วุฒิสภาจึงไม่ควรดันทุรัง หรือจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญ

ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า กรณีผู้ถูกกล่าวหาถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว และไม่มีความผิดทางแพ่ง ตนก็เห็นว่าไม่ควรเข้าสู่กระบวนการการถอดถอน ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ ป.ป.ช.มีมติยุติการพิจารณา วุฒิสภาก็ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาต่อ ทำให้ น.ส.ทัศนา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าวุฒิสภามีมติยุติการดำเนินการถอดถอนนายสมัคร

จากนั้นมีการพิจารณากรณีของนายนพดล โดย ส.ว.ส่วนใหญ่ เช่น นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา นายคำนูณเห็นว่ากรณีของนายนพดลสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จึงเห็นควรให้ยึดบรรทัดฐานมติการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ผ่านมา คือต้องดำเนินการถอดถอนนายนพดลต่อไป

ขณะที่ ส.ว.อีกกลุ่ม อาทิ นายอนุรักษ์ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ไม่เห็นด้วยให้ดำเนินการถอดถอนต่อ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนอีกต่อไป และวุฒิสมาชิกไม่ควรนำความต้องการที่จะเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองมาเป็นที่ตั้งในการตัดสิน จึงเห็นควรให้มีการลงมติใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเห็นว่าองค์ประชุมเปลี่ยนไป จึงอาจส่งผลต่อการลงมติด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปราย น.ส.ทัศนา เห็นควรวุฒิสภามีมติเหมือนกรณีของนายสมชาย คือให้ดำเนินการถอดถอนต่อไป โดยได้แจ้งขั้นตอนต่อจากนี้ตามข้อ 117 ให้นัดประชุมภายใน 15 วันหลังจาก ส.ว.ได้รับเอกสารสำนวนจาก ป.ป.ช. โดยขอนัดประชุมนัดแรกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เพื่อกำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหา และการนัดประชุมครั้งที่สอง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ ป.ป.ช.แถลงและผู้ถูกกล่าวหาแถลงเปิดสำนวน โดยไม่มีการซักถาม ตามข้อ บังคับข้อ 120 ทั้งนี้ หากที่ประชุมมีมติซักถามในประเด็นใดเพิ่มเติม ให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมาคณะหนึ่ง และนัดให้มีการประชุมวุฒิสภา ภายใน 7 วันตามข้อบังคับข้อ 120 วรรคสามเพื่อให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวซักถาม

จากนั้นจะเปิดโอกาส ให้ ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิยื่นขอคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือต่อที่ประชุมวุฒิสภาได้ภายใน 7 วันนับแต่วันแถลงเปิดสำนวนเสร็จสิ้น ตามข้อบังคับข้อ 122 วรรคหนึ่ง และให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายใน 3 วันนับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาหรือวันพ้นกำหนดให้ยื่นคำแถลงปิดสำนวนเป็นหนังสือ
กำลังโหลดความคิดเห็น