xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอสอบ GT200 เอง นัด 5 ก.พ.ถกทุกหน่วยไขข้อข้องใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพการใช้GT200
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงมือเอง!! ขอตรวจสอบ เครื่องตรวจระเบิด GT200 หวังทำข้อสงสัยให้กระจ่าง เล็งเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือไขข้อความกระจ่าง 5 ก.พ.นี้ คาดไม่นานคงเสร็จ เชื่อถ้าจริงใจก็จะยอมให้ตรวจสอบแน่ ชี้หากพบมีโกง ส่งต่อ ป.ป.ช. ฟัน พร้อมชงนายกฯระงับโครงการจัดซื้อได้

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปราโมทย์ โชติมงคล และ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมแถลงข่าวถึงการตรวจสอบเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 โดย พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวแพร่กระจายมากแต่ขาดความชัดเจน และสร้างความสงสัยให้คนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้เครื่องมือ ประชาชน และนักวิชาการก็ได้ออกมาให้ความเห็นที่ขัดแย้งและเกิดความสับสน และสงสัยในประสิทธิภาพของเครื่องมือว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ ดังนั้นเราจึงอยากเป็นคนกลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำข้อสงสัยให้กระจ่าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ นายปราโมทย์กล่าวว่า ตามปกติผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจสอบเรื่องใดต้องมีผู้ร้อง แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ให้อำนาจในการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยระบุว่า “หากเห็นว่าเรื่องใดเกิดขึ้นต่อสาธารณะ และมีผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อเป็นคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้แม้จะไม่มีผู้ร้อง” และในเรื่องนี้ที่ประชุมก็เห็นพ้องว่ามีผลกระะทบและเป็นที่สนใจจึงหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบ โดยในวันที่ 5 ก.พ. เวลา 09.00 น. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพภาคที่ 4 ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหารือในเบื้องต้นว่าจะขจัดความสงสัยเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร โดยอาจจะหาหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้ตรวจสอบโดยจะทำงานอย่างเป็นธรรมและเป็นกลางไม่มุ่งจับผิดหรือเล่นงานใคร แต่จะมุ่งเยียวยามากกว่า และคาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานของรัฐจะให้ความร่วมมือหรือไม่ นายปราโมทย์กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯมีอำนาจที่จะขอให้หน่วยงานอื่นๆให้ความร่วมมือในการส่งเอกสาร หากไม่มาก็จะมีโทษตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยต้องถึงขั้นดำเนินคดีและได้รับความร่วมมือมาโดยตลอด เรื่องนี้ถ้าทุกฝ่ายจริงใจและสุจริตใจก็เชื่อว่าไม่มีใครกลัวท่าจะถูกตรวจสอบเว้นแต่หน่วยงานใดที่ไม่ชอบมาพากลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ผู้ตรวจการฯ มีเจตนาคุ้มครองความเสียหายของประชาชนในแง่ของประสิทธิภาพของเครื่องมือเป็นหลัก แต่หากตรวจสอบและพบว่ามีการทุจริตเราก็จะส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการต่อไป เพราะเมื่อตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดจะพบว่าผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการทุจริตหากไม่มีผู้ร้อง และเราเชื่อว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับกรรมาธิการของสภา เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาเช่นเดียวกัน อีกทั้งเราก็ทำให้ชัดเจนและสามารถใช้กฎหมายบังคับหน่วยงานต้องให้ความร่วมมือได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ทางคณะกรรมาธิการไม่มี แต่หากจะให้ไปร่วมมือกับทางกรรมาธิการก็ไม่มีปัญหา และหากตรวจสอบเบื้องต้นพบความน่าสงสัยก็อาจะทำหนังสือถึงนายกฯเพื่อขอให้ชะลอการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวก่อน” นายปราโมทย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น