xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ตำรวจอันดับ 1 ถูกร้องเรียนใช้ความรุนแรงมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนาลดความก้าวร้าวในสังคมไทย เผยตำรวจติดท็อปชาร์ตถูกร้องเรียนใช้ความรุนแรงมากสุด เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คว้าอันดับรอง ชี้ถูกฟ้องกลั่นแกล้งดำเนินคดี ข่มขู่ และไม่แสดงหมายค้น แฉทหารก็มีฟ้องทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ วอนพวกป่วนใช้สำนึกอย่าทำประเทศบอบช้ำอีก พร้อมเป็นเจ้าภาพยุติปัญหา

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ การกำกับดูแลเพื่อป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงก้าวร้าวในสังคมไทย โดย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวในการเปิดงานว่า ในการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุก เนื่องจากเราเห็นความสำคัญที่ต้องมีมาตรการป้องกัน ก่อนที่ปัญหาความรุนแรงจะพัฒนาจนก่อเป็นเหตุวิกฤต หากทุกคนเข้าใจในคุณธรรมและจริยธรรมก็จะสามารถปลูกจิตสำนึกไม่ให้เกิดความ ก้าวร้าวรุนแรงในระยะยาวได้

ต่อมา นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวในหัวข้อผู้ตรวจการแผ่นดินกับแนวโน้มความรุนแรงของหน่วยงานรัฐในสังคมไทยว่า ที่ผ่านมาเราเคยพบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและคู่ครอง แต่ขณะนี้ได้เลยมาถึงระดับประเทศแล้ว นอกจากนี้ ระดับของความรุนแรงส่วนบุคคลได้รุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิต รวมถึงพัฒนาไปถึงความรุนแรงในระดับการเมือง ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าแต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจไม่จำเป็นต้องได้จากความรุนแรง แต่สามารถได้จากอำนาจทางความเป็นธรรมด้วย

นางผาณิตกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการจัดการปัญหาความรุนแรงในภาครัฐ เนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาทิ การอ้างว่าไม่มีหลักฐานการกระทำความผิด หรือที่เรียกว่าใบเสร็จ ซึ่งจริยธรรมและจิตสำนึก ไม่ต้องการใบเสร็จ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีข้ออ้างว่า ไม่ทราบว่ามีการกระทำความผิด และเพิกเฉยต่อการกระทำความผิด ดังนั้นประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่านี้ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหนึ่งในองค์กรที่สามารถปกป้องประชาชนจากปัญหาเหล่านี้ได้

นางผาณิตเปิดเผยว่า จากสถิติเรื่องร้องเรียนของประชาชนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรง หน่วยงานตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการร้องเรียนมากที่สุด 1,013 เรื่อง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 826 เรื่อง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 112 เรื่อง แต่หากดูสถิติการร้องเรียน ในปีงบประมาณ 2553 ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 44 เรื่อง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 42 เรื่อง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 4 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนของ ตำรวจจะ เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งดำเนินคดี การทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ รวมไปถึงการข่มขู่ และไม่แสดงหมายค้น สำหรับการทำร้ายร่างการให้รับสารภาพ ไม่ได้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทหารอีกด้วย สำหรับการร้องเรียนเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะเกี่ยวข้องกับการแสดง กิริยาไม่สุภาพ การเลือกปฏิบัติ และการกลั่นแกล้งการดำเนินงาน ในขณะที่บางเรื่องนั้นก็เกิดจากกฎหมายที่ล้าหลัง ซึ่งกฎหมายบางฉบับก็ได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2505 สำหรับการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องขัง การแสดงกิริยาไม่สุภาพ และข่มขู่

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังกล่าวถึงแนวโน้มความรุนแรงจากสถานการณ์การเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ว่า เป็นจิตสำนึกของแต่ละบุคคล ซึ่งเกิดจากความเข้าใจและมีความคิดที่ต่างกัน ซึ่งความคิดที่ต่างกันเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา จึงอยากขอร้องให้ผู้ที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงมองประโยชน์ของประเทศสำคัญ อย่าให้ประเทศบอบช้ำไปกว่านี้ เพราะผลกระทบจะส่งผลถึงทุกกลุ่ม ทั้งนี้หากเกิดความชุมนุมและมีความวุ่นวายเกิดขึ้นรัฐควรจะใช้ความรุนแรงให้น้อยและช้าที่สุด ซึ่งตนอยากขอร้องให้ทุกคนคิดถึงประเทศตระหนักถึงภัยที่จะเกิดขึ้น เราต้องร่วมมือกันหาทางยุติปัญหา ซึ่งการหารืออย่างที่รัฐบาลเคยเปิดสภามาแล้วเพียงครั้งเดียว คงจะไม่พอ แต่ต้องพูดกันในหลายๆ ครั้ง และหากต้องการให้ผู้ตรวจการฯเป็นเจ้าภาพก็ยินดี ที่จะรวบรวมทุกหน่วยงาน และทุกกลุ่มมาร่วมกันและให้แต่ละกลุ่มไปคิดหาทางออกให้ตกผลึกมาก่อน ก่อนที่จะมาหาข้อยุติร่วมกันซึ่งต้องใช้เวลาเพราะเพียงแค่ 1-2 วันคงไม่เสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น