xs
xsm
sm
md
lg

ดูแจแปนแอร์ไลน์ แล้วย้อนมองการบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาของแจแปนแอร์ไลน์คือ ใหญ่เกินไป มีต้นทุนสูงเกินไป มีเส้นทางบินที่ขาดทุนอยู่ จำนวนมาก และไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ทั้งที่เป็นสายการบินต่างชาติ และสายการบินญี่ปุ่นด้วยกันเอง ที่เป็นของเอกชน เมื่อปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แจแปน แอร์ไลน์จึงต้องมีวันนี้

การบังคับให้สายการบิน แจแปน แอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น ต้องยื่นขอความคุ้มครองต่อศาลตามกฎหมายล้มละลาย ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกของนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คะแนนความนิยมก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนอย่างที่คุยไว้ตอนหาเสียงว่า จะนำการเมืองใหม่ ที่ประชาชนต้องมาก่อน มาสู่ญี่ปุ่น

การล้มละลายของแจแปนแอรไลน์ เป็นการตัดสินใจทางการเมือง ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ต้องการส่งสัญญาณว่า นโยบายเศรษฐกิจจะต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น และต้องเลิกอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีปัญหา

กระนั้นก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังต้องอัดฉัดเงินถึง 10,000 ล้านเยน เพื่อให้แจแปนแอร์ไลน์ ยังคงบินต่อไปได้ ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ที่มีระยะเวลา 3 ปีตามแผน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี เคยให้เงินช่วยเหลือกับแจแปน แอร์ไลน์ มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2001 โดยแจแปน แอร์ไลน์อ้างว่า ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ วันที่ 11 กันยายน 2001 ครั้งที่สอง เมื่อเดือนตุลาคม 2003 โดยอ้างว่า การระบาดของโรคซาร์ส และสงครามในอิรัก ส่งผลกระทบต่อ การเดินทาง และครั้งที่สาม เมื่อ เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

เมื่อรัฐบาลคอยล้วงกระเป๋า ควักเงินภาษีประชาชน เข้ามาโอบอุ้มตลอด ทำให้แจแปนแอร์ไลน์ ไม่มีแรงกดดันที่จะต้องปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้น เพราะเชื่อว่า อย่างไรเสียรัฐบาลคงไม่ปล่อยให้ล้มลงไป การให้ความช่วยเหลือแต่ละครั้งก็ไม่มีการตั้งเงื่อนไขว่าแจแปนแอร์ไลน์จะต้องปรับปรุงตัวอย่างไรบ้าง สิ่งที่แจแปนแอร์ไลน์บอกว่าเป็นการแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวยทางการตลาด เช่น การเปลี่ยนโลโก้ บริษัท การซื้อสายการบินในประเทศอื่นๆ การซื้อเครื่องบินใหม่ การเป็นพันธมิตรกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่รากเหง้า

ปัญหาของแจแปนแอร์ไลน์ คือ ใหญ่เกินไป มีต้นทุนสูงเกินไป มีเส้นทางบินที่ขาดทุนอยู่จำนวนมาก และไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ทั้งที่เป็นสายการบินต่างชาติ และสายการบินญี่ปุ่นด้วยกันเองที่เป็นของเอกชน เมื่อปัญหาเหล่านี้ไมได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แจแปนแอร์ไลน์จึงต้องมีวันนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีที่ล้ว ก็เพราะรัฐบาลญี่ปุ่น ใข้วิธีแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้ ไม่ยอมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีปัญหา โดยเฉพาะสถาบันการเงินล้มลงไป แต่กลับเลือกการปกปิดปัญหา ให้ความช่วยเหลือ ประคับประคองให้ธุรกิจเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่ได้ เนื่องจากความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมือง กับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ฝังรากมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แจแปนแอร์ไลน์ถูกแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น เมื่อปี 1987 ณ วันที่ยื่นขอความคุ้มครองจากศาล มีหนี้สิน 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นธุรกิจ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดที่ล้มละลายในรอบ 10 ปี และถ้ารวมสถาบันการเงินแล้ว แจแปนแอร์ไลน์ เป็นกิจการที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ที่ล้มละลาย อันดับ 1 คือ เลห์แมน บราเธอร์ สญี่ปุ่น ซึ่งล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

แต่ความช่วยเหลือครั้งล่าสุด ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตปาร์ตี้ ออฟ แจแปน หรือ ดีพีเจ หยิบยื่นให้ ไม่ใช่ของฟรี แจแปนแอร์ไลน์ ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต้องยอมเจ็บ กล่าวคือ พนักงานทั้งที่เกษียณแล้ว และที่ยังทำงานอยู่ ต้องยอมให้ตัดเงินกองทุนบำนาญมูลค่ามากกว่า11,000 ล้านเหรียญและต้องถูกเลิกจ้างถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 15,000 คน เส้นทางบินที่ขาดทุน 34 เส้นทางถูกยกเลิก เจ้าหนี้ต้องตัดหนี้สูญเป็นจำนวนมากว่า 8 พันล้านเหรียญ ผู้ถือหุ้น ต้องสูญเงินลงทุน เพราะแจแปนแอร์ไลน์ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารถูกปลดหรือลาออก

ซีอีโอคนใหม่ของแจแปน แอร์ไลน์ มาจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์และไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินเลย คือ นายคาซูโฮะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งบริษัท เคียวซีรา ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นกูรูทางด้านบริหารธุรกิจคนหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้เขียนหนังสือ A passion for success

เรื่องของแจแปน แอร์ไลน์ ดูไปแล้ว ก็เหมือนกับการบินไทยหลายอย่าง เป็นสายการบินแห่งชาติเหมือนกัน เติบโตขึ้นมาในยุคแรกๆ เพราะอุตสาหกรรมการบินยังไม่มีการแข่งขัน เป็นการลงทุนโดยรัฐและได้รับการปกป้องจากรัฐ มีการแปรรูปโดยนำเข้าตลาดหุ้น ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อปรับปรุงกิจการให้มีประสิทธิภาพ แต่เอาเข้าจริง ทุกอย่างเหมือนเดิม สมัยเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือแย่ลงกว่าเก่าด้วยซ้ำ เมื่อมีการเปิดเสรี อุตสาหกรรมการบิน ต้องเผชิญกับการแข่งขัน ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ เพราะบริหารงานแบบราชการ มีต้นทุนสูง มีระบบอุปถัมภ์ มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งจากนักการเมือง ข้าราชการและคนในองค์กรด้วยกันเอง มีการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คัน เช่น เปลี่ยนโลโก้ใหม่ ออกโฆษณาชุดใหม่ ซื้อเครื่องบินใหม่ ขยายเส้นทางบินใหม่ พอขาดทุนก็เลิก ฯลฯ

จุดจบจะเหมือนกันหรือไม่ อีกไม่นานคงได้เห็น


กำลังโหลดความคิดเห็น