เอเอฟพี/เอเจนซี - แจแปนแอร์ไลน์ (เจเอแอล) สายการบินใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและในเอเชีย ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายแล้วในวันนี้(19) โดยที่มีมูลหนี้อยู่เกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์ และเริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างอันเจ็บปวด ซึ่งจะต้องมีการปลดพนักงานกว่า 15,600 คน
เจเอแอลแถลงให้คำมั่นใจแก่บรรดาผู้โดยสารอีกครั้งหนึ่งว่า เที่ยวบินต่างๆ ที่ตนให้บริการอยู่จะไม่มีการหยุดชะงัก ภายหลังที่ได้ยื่นขอความคุ้มครองต่อศาล และดำเนินการขอถอนหุ้นออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
การที่สายการบินแห่งนี้ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในเฉพาะหน้านี้ เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงว่าจะอัดฉีดเงินทุนจากกองทุนริเริ่มฟื้นฟูวิสาหกิจให้เป็นจำนวน 3,300 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งให้เงินกู้ฉุกเฉินอีก 6,600 ล้านดอลลาร์ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่เจเอแอลจะต้องปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้คณะกรรมการบริหารและคณะผู้บริหารใหม่, มีการปลดพนักงานกว่า 15,600 คนหรือราว 30% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน, รวมทั้งถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์, และพวกเจ้าหนี้ที่ถือตราสารหนี้ของเจเอแอลไว้ ก็จะต้องยอมยกหนี้ให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้แต่เดิม
สำหรับหนี้สินทั้งหมดของเจเอแอลที่มีการรายงานล่าสุด คือ ณ สิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีอยู่ 2.3 ล้านล้านเยน (25,700 ล้านดอลลาร์) ซึ่งทำให้การล้มละลายของสายการบินแห่งนี้ กลายเป็นการการล้มละลายในภาคธุรกิจที่ใหญ่เป็นเป็นอันดับ 4 ของญี่ปุ่น และถ้านับเฉพาะพวกกิจการที่ไม่ใช่ภาคการเงินการธนาคารแล้ว ก็จะอยู่ในอันดับ 1
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวแถลงว่า จะถอนเจเอแอลออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ การถูกถอดจากตลาดเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นต้องสูญเงินลงทุนของพวกตนไปทั้งหมดหรือแทบทั้งหมด
อุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลก ต้องเผชิญกับความปั่นป่วนผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายเรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่ขาดสายตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุโจมตีสหรัฐฯของผู้ก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001, สงครามอิรัก, ราคาน้ำมันพุ่งลิ่ว, วิกฤตการเงินทั่วโลก, และความหวั่นผวาเกี่ยวกับโรคระบาด
แต่เจเอแอลเป็นหนึ่งในสายการบินที่ถูกกระทบกระเทือนจากความเลวร้ายเหล่านี้หนักหน่วงกว่าสายการบินอื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า เจเอแอลสมควรที่จะปรับโครงสร้างลดขนาดลงมาอย่างเข้มงวดจริงจัง ตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงมากตั้งแต่สมัยที่ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องบินในเส้นทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจำนวนมากที่ไม่ทำกำไร
ราคาหุ้นของเจเอแอลได้ดำดิ่งอย่างแรงตั้งแต่ย่างเข้าปีใหม่ โดยมูลค่าสูญหายไปกว่า 90% ทีเดียว จนกระทั่งปิดตลาดวันนี้อยู่ที่หุ้นละ 5 เยน โดยที่มีช่วงหนึ่งหล่นลงทำสถิติต่ำสุดที่ 3 เยน หากคำนวณตามราคาปิดวันนนี้ ก็หมายความว่ามูลค่าตามราคาตลาดของสายการบินแห่งนี้อยู่ที่ประมาณ 90 ล้านดอลลาร์เท่านั้น อันเป็นจำนวนเงินน้อยกว่านักเมื่อเทียบกับราคาเครื่องบินโดยสารไอพ่นจัมโบ้เจ็ตใหม่ๆ ลำหนึ่ง
เวลานี้ได้รัฐบาลได้ติดต่อทาบทาม คาซุโอะ อินาโมริ ผู้ประกอบการวัย 77 ปี เพื่อให้มาบริหารสายการบินแห่งนี้ในช่วงของการปรับโครงสร้าง โดยเข้าแทนที่ ฮารุกะ นิชิมัตสึ ผู้ยื่นใบลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทในวันนี้
อินาโมริซึ่งบวชเป็นพระของนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นด้วย ได้ชื่อว่าเป็นนักบริหารธุรกิจและกูรูทางการบริหารจัดการซึ่งเป็นที่ยกย่องนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย เขาเป็นผู้ก่อตั้งทั้งบริษัทเคียวเซรา คอร์ป ที่เป็นซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ และบริษัทซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของ เคดีดีไอ คอร์ป กิจการสื่อสารโทรคมนาคมใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
มาโกโตะ มุระยามะ นักวิเคราะห์แห่งโนมูระซีเคียวริตีส์ ให้ความเห็นว่า อินาโมริเป็นคนที่มีบารมีสูง ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่ดี เพราะในเวลานี้พนักงานของเจเอแอลต่างรู้สึกไม่อยากให้ใครทราบว่าทำงานกับบริษัทแห่งนี้ ดังนั้นจึงต้องมีใครสักคนมาฟื้นฟูศักดิ์ศรีของพวกเขาและนำพาพวกเขา จึงจะเพิ่มโอกาสที่เจเอแอลจะสามารถฟื้นตัวได้
ถึงแม้เจเอแอลจะอยู่ในสภาพลำบากเช่นนี้ แต่ก็ยังเป็นที่สนใจของสายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะสายการบินในสหรัฐฯซึ่งตาโตกับเครือข่ายอันกว้างขวางของเจเอแอลในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นย่านที่คาดหมายกันว่าจะทำกำไรมากที่สุดให้แก่อุตสาหกรรมสายการบินในช่วงหลายปีต่อจากนี้ไป
ในการแถลงวันนี้ เจเอแอลไม่ได้ระบุว่าจะเลือกผูกสัมพันธ์กับสายการบินสหรัฐฯแห่งใด ระหว่าง อเมริกันแอร์ไลน์ กับ เดลตาแอร์ไลน์ ถึงแม้มีรายงานข่าวว่าทั้งเจเอแอลและรัฐบาลญี่ปุ่นเอนเอียงไปทางเดลตามากกว่า