xs
xsm
sm
md
lg

ผวาล้มละลายหุ้นJAL-45%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – แจแปน แอร์ไลน์ส (เจเอแอล) อาการย่ำแย่หนักเมื่อวานนี้(12) โดยราคาหุ้นถูกเทขายแบบไม่มีใครซื้อจนลดฮวบลงร่วมๆ 45% สืบเนื่องจากมีรายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังตั้งเงื่อนไขเข้าช่วยเหลืออันเข้มงวด โดยจะให้บริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้ ถอนออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจากนั้นเข้าสู่การปรับโครงสร้างตามกระบวนการล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏว่าสายการบินสหรัฐฯ ยังคงพยายามตามจีบหวังเข้าร่วมลงทุน เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเอเชีย โดยล่าสุด อเมริกัน แอร์ไลน์ส เพิ่มข้อเสนอลงทุนเป็น 1,400 ล้านดอลลาร์
อเมริกัน แอร์ไลน์ส พร้อมด้วยบรรดาหุ้นส่วนในเครือข่ายพันธมิตรสายการบิน “วันเวิลด์” และ ทีพีจี บริษัทเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (ไพรเวต อีควิตี้ คอมพานี) ยื่นเสนอเพิ่มการลงทุนในเจเอแอลเป็น 1,400 ล้านดอลลาร์ จากเดิมซึ่งเสนอไว้ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์
สายการบินใหญ่ในสหรัฐฯแห่งนี้ กำลังแข่งขันกับสายการบินสหรัฐฯอีกแห่งหนึ่ง คือ เดลตา แอร์ไลน์ส ซึ่งก็กำลังเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เจเอแอล 1,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากทั้ง 2 รายต่างกำลังมุ่งหาทางเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตนในเอเชีย ที่มีแนวโน้มเติบโตขยายตัวสูงมาก
ทอมัส ฮอร์ตัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของอเมริกัน แอร์ไลน์สบอกว่า ข้อเสนอของพวกเตน “จะทำให้แจแปน แอร์ไลน์ส มีเสถียรภาพและความมั่นคงในเวลาที่กำลังต้องการอย่างสูงสุด เพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งยากมากทีเดียว”
อเมริกัน แอร์ไลน์ส บอกด้วยว่า การจับมือกับวันเวิลด์ยังทำให้เจเอแอลมีเงินหมุนเวียนเข้ามาราว 2,000 ล้านดอลลาร์ในอีกสามปีข้างหน้า จากการที่เชื่อมโยงกับสมาชิกอื่นๆ ของเครือข่ายพันธมิตรนี้ เช่น บริติช แอร์เวย์ส, แควนตัส, และคาเธย์ แปซิฟิก
“เราเชื่อว่าเราให้ข้อเสนอที่ดีกว่าของคู่แข่งมาก และเรายังมีสายสัมพันธ์กับเจเอแอลมาอย่างยาวนานด้วย” ฮอร์ตันเสริม
ข้อเสนอล่าสุดของอเมริกัน แอร์ไลน์ส ออกมาในวันเดียวกับที่พวกนักลงทุนในตลาดโตเกียวต่างพากันทุบหุ้นตัวนี้ หลังจากสื่อมวลชนญี่ปุ่นอย่างเช่น หนังสือพิมพ์นิกเกอิ และ โยมิอูริ ชิมบุง ต่างรายงานว่า สายการบินแห่งนี้ซึ่งมีหนี้สินมหาศาล น่าจะกำลังถูกสั่งให้ถอนตัวจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว อีกทั้งกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองตามกฎหมายการล้มละลาย โดยคาดว่าจะดำเนินการกันในสัปดาห์หน้า
รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นได้สัญญาว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ให้สายการบินที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ถึงขั้นล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ยอมบอกปัดความเป็นไปได้ที่เจเอแอลต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งการดำเนินการเช่นนั้นอาจจะช่วยให้สายการบินนี้ปรับโครงสร้างกิจการได้ง่ายขึ้น ทว่าก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นจะแทบไม่เหลืออะไรเลย
เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ ได้บ่งชี้ถึงท่าทีเช่นนี้ของรัฐบาล โดยบอกว่า พวกผู้ถือหุ้นควรจะต้องมีส่วนแบกรับความเจ็บปวด เพราะพวกถือหุ้นย่อมต้องมี “ความรับผิดชอบอันแน่นอน”
สภาพบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้วานนี้หุ้นเจเอแอลไหลรูดมีแต่คนเสนอขายโดยแทบไม่มีผู้ซื้อ จนราคาลงสู่ระดับซึ่งจำกัดให้ลงได้ไม่เกิน 30 เยน หรือร่วมๆ 45% และปิดที่ระดับ 37 เยนต่อหุ้น ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมแล้วในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นตัวนี้ทรุดลง 72 %
เจเอแอลมียอดขาดทุนราว 1,500 ล้านดอลลาร์ในรอบ 6 เดือนจนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว และกำลังขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นครั้งที่ 4 นับจากปี 2001 เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ท่ามกลางภาวะหนี้สินล้นพ้น
ด้านสื่อญี่ปุ่นรายงานว่าเจเอแอลจะได้รับเงินอีดฉีดในรูปเงินกู้ของรัฐบาลมูลค่าหลายแสนล้านเยน (หลายพันล้านดอลลาร์) โดยอยู่ภายใต้แผนปรับโครงสร้างกิจการเมื่อได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายจากศาลแล้ว
ขณะเดียวกัน คาดว่าธนาคารเจ้าหนี้ของเจเอแอลจะถูกขอให้ยกหนี้สินจำนวนหลายแสนล้านเยนด้วย
ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ประธานกรรมการฝ่ายบริหารของศูนย์เพื่อการบินเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในเมืองซิดนีย์กล่าวว่า เจเอแอล “ใหญ่เกินกว่าจะล้มได้” แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็อาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอือมระอาเช่นกัน หากทุ่มเงินก้อนโตเข้าไปช่วยสายการบินที่กำลังย่ำแย่แห่งนี้อยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น เจเอแอลจึงต้องการการตัดสินใจปรับโครงสร้างอย่างเฉียบขาดหลังจากที่ “ถูกละเลยไปเป็นเวลานานเกินไปแล้ว”
ก่อนหน้านี้ มีรายงานด้วยว่าเจเอแอลจะปลดพนักงานกว่า 15,000 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อลดการขาดทุนลง
ที่ผ่านมา เจเอแอลแบกรับภาระหนี้ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ และมีเครือข่ายเส้นทางให้บริการภายในประเทศที่ไม่ค่อยทำกำไรเป็นจำนวนมาก
อนึ่ง คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างของเจเอแอล อาจแต่งตั้งคาซุโอะ อินาโมริ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์วัย 77 ปีของบริษัทเคียวเซรา คอร์ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจเอแอลในระหว่างที่มีการปรับโครงสร้างกิจการ
กำลังโหลดความคิดเห็น