อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มุดเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวที่เล็ดลอดออกมาจากบ้านสี่เสาฯว่า หัวข้อหนึ่งที่ทั้งสองคนสนทนากันสั้นๆ ก็คือ
กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะยกพลพรรคบุกสนามกอล์ฟและรีสอร์ทเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 23 มกราคม 2553 ถือเป็นยุทธการบุกครั้งที่สอง ในรอบปี 2553 หลังจากเพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการบุกทวงคืนบ้านพัก และที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยง ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ 11 มกราคม 2553
การบุกทั้งสองครั้ง มีนัยยะการเมือง อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มุ่งหมายจะดิสเครดิต “กลุ่มอำมาตย์” ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ“ระบอบทักษิณ”
เขายายเที่ยงคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี
เขาสอยดาว คือกลุ่ม“โสภณพานิช” แห่งธนาคารกรุงเทพฯ ที่พลเอกเปรม ติณสูลานท์ เป็นที่ปรึกษา และมักไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟดังกล่าว แม้ไม่ประจำแต่ก็ออกรอบหลายครั้งในแต่ละปี
บนเป้าหมายของทักษิณและคนเสื้อแดง ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า มี “กลุ่มอภิสิทธิ์ชนการเมือง” ลอยตัวอยู่เหนือกฎหมาย โดยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำงานแบบสองมาตรฐาน ทำเป็นมองไม่เห็น ไม่สนใจที่จะตรวจสอบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริงหรือไม่ และพยายามโอบอุ้มคนกลุ่มนี้
ดังนั้น เมื่อเสร็จศึกจากการเดินสาย ถล่ม “เปรม-สุรยุทธ์” แล้ว ทักษิณ–เสื้อแดง ก็จะนำประเด็น “สองมาตรฐาน” ดังกล่าว มาขับเคลื่อน เพื่อ”ล้มอภิสิทธิ์”ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน
การถล่ม“เปรม-สุรยุทธ์” จึงเป็นแค่จังหวะ“อุ่นเครื่อง” ก่อนลงสนามจริง เพื่อลงเตะ กับอภิสิทธิ์ บนเดิมพันของ ทักษิณ-เสื้อแดง
แพ้ไม่ได้ ต้องชนะสถานเดียว
อนาคตของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นับจากนี้ จึงน่าติดตามยิ่งนักว่า จะนำพารัฐนาวารัฐบาลไปได้ไกลแค่ไหน ยามเมื่อการศึกในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองก็มีปัญหาไม่ลงรอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคก็เก็บความไม่พอใจทางการเมืองเอาไว้
ทั้งจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาธิปัตย์ตีกรรเชียง ไม่รับลูกท่าเดียว ทั้งที่สามพรรคร่วมรัฐบาล “ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย-เพื่อแผ่นดิน” ประกาศจะรวบรวมรายชื่อส.ส.ทั้งหมดเพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที เมื่อสภาผู้แทนราษฏรเปิดประชุมในวันที่ 21 มกราคม 2553
แต่อภิสิทธิ์กับประชาธิปัตย์ ก็ยังแทงกั๊กไม่ยอมเอาด้วย และโยนให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฏร เท่ากับว่า
“บอกปัด” ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ
นั่นหมายถึงว่า ในการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองประเด็นหลักที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอคือ การแก้ไขมาตรา 190 ในเรื่อการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากระบบปัจจุบันเขตใหญ่ให้กลับไปใช้ระบบวันแมนวันโหวต เหมือนในปี 2540
ประชาธิปัตย์ ก็พร้อม“ฟรีโหวต”
ใครเห็นด้วยก็ยกมือ ไม่เอาด้วยก็ไม่มีผลทางการเมืองใดๆ อันเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำสามพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวเป็นอย่างมาก
อีกทั้งพรรคภูมิใจไทย ก็เจอมาตรการ“กฎเหล็ก 9 ข้อ” ทำเอาภาพลักษณ์พรรคป่นปี้ กับการโอบอุ้ม มานิต นพอมรบดี อดีตรมช.สาธารณสุข ที่เจอข้อกล่าวหา ทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในงบไทยเข้มแข็ง แถมเมื่อจะเสนอชื่อแคนเดิเดทที่ทางกลุ่ม สมศักดิ์ เทพสุทิน คือ ประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีต ส.ส.สุโขทัย เข้ารับตำแหน่งรมช.สาธารณสุขแทน ก็เจออภิสิทธิ์ โหนกระแสแรงต้านกลุ่มแพทย์ชนบท และผลสอบการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีชื่อของประศาสตร์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ในกระบวนการผลักดันโครงการ
เลยทำให้ชื่อ ประศาสตร์ ถูกตีกลับ ทั้งที่เจ้าตัวเอ่ยปากพร้อมรับตำแหน่ง และเตรียมการจะเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิตแล้ว เลยยิ่งทำให้ ภาพลักษณ์ภูมิใจไทย ทรุดหนักลงไปอีกว่า เป็นพรรคที่ไม่มีคนมีคุณภาพพอจะมาเป็นรัฐมนตรีได้ ถึงขั้นมีข่าวว่าสุดท้าย สมศักดิ์ เทพสุทิน เลยจะใช้โอกาสนี้ผลักดันน้องสาวตัวเอง เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีนอมินีแทน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิใจไทยเพียงแค่เก้าอี้รัฐมนตรีตำแหน่งเดียวยังวุ่นวายอันทำให้สังคมเห็นแล้วว่า ภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานการเมืองได้เลย
มันจึงทำให้ภูมิใจไทย มีแต่เสียกับเสีย แต่กลับกัน อภิสิทธิ์ กลับได้คะแนน และภาพลักษณ์ “ผู้นำใสสะอาด” ไปเต็มๆ
อย่างไรก็ตาม ประเมินแล้ว ต่อให้ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล อยู่ในสภาพ “ขบเหลี่ยม” กันขนาดไหนแต่ก็เป็นแค่การช่วงชิงผลประโยชน์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันเท่านั้น เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหน จะกล้าถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลเพื่อไปเป็นฝ่ายค้านหรือหวังจะทำให้การเมืองสลับขั้ว
เพราะหากถึงตอนนั้น อภิสิทธิ์ ก็ต้องยุบสภาสถานเดียว
แต่สภาพการเมืองที่อภิสิทธิ์ นั่งอยู่ในเรือกลางลำน้ำเชี่ยว ที่แม้มีตำแหน่งแต่ก็ไม่สามารถใช้ ”อำนาจเต็ม”ได้อย่างที่ตัวเอง จึงจำเป็นที่ จะต้องมี”ตัวช่วย” สำคัญเพื่อค้ำยันเก้าอี้เอาไว้
ที่สำคัญตัวช่วยดังกล่าวก็ต้องมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” ทางการเมืองโดยตรงกับการอยู่หรือไปของอภิสิทธิ์ด้วย
ที่เห็น ก็ไม่มีฝ่ายไหนจะเป็น กองกำลังสำคัญให้กับอภิสิทธิ์ มากไปกว่า “กองทัพ”ภายใต้ การขับเคลื่อนของ
“4 ป.”
คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้มากบารมีแห่งกองทัพ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ”บิ๊กป้อม” รมว.กลาโหม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา “บิ๊กป๊อก” ผู้บัญชาการทหารบก และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก
ภาพ”อภิสิทธิ์” ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เกิดในค่ายทหาร และผ่านแรงกดดันจากเสื้อแดงในช่วงเมษาเลือดมาได้ เพราะการออกมาช่วยควบคุมสถานการณ์ของกองทัพ มุดเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของคำอธิบายเรื่อง 4 ป. ค้ำยันเก้าอี้ อภิสิทธิ์
เพราะเมื่อ เสื้อแดง-ทักษิณ กำลังจะยกทัพบุกเขาสอยดาว เพื่อดิสเครดิตป๋าเปรม บนการถ่ายทอดสดการปราศรัยโจมตีป๋าเปรม อย่างดุเดือดตลอด 24 ชั่วโมง ของทีวีเสื้อแดง
การแตะต้อง ป๋าเปรม ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ท้าทายกองทัพ” ที่ ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ต้องไม่ยอมให้ ป๋าเปรม ถูกแตะต้องจนเกินพอดี และลุกลามจนสร้างกระแส สองมาตรฐาน ได้สำเร็จ เพราะหากเสื้อแดงจุดกระแสติด นั่นย่อมทำให้การรับมือกับการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงในเดือนกุมภาพันธ์ของรัฐบาล และกองทัพ หนักหนากว่าช่วงสงกานต์เลือดแน่นอน
ย่อมไม่เป็นผลดี ต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และหากอภิสิทธิ์ต้องลงจากอำนาจ ย่อมทำให้ ผู้นำกองทัพทั้ง 4 คนดังกล่าว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการหลุดจากอำนาจและเจอเช็คบิลการเมือง
ลำพัง พลเอกเปรม คงไม่มีอะไรมากเพราะมีเกราะคุ้มกันอย่างดีอยู่ ส่วนพลเอกประวิตร ก็ลอยตัวเพราะไม่มีอะไรจะเสียเนื่องเพราะใช้เกราะการเมืองป้องกันตัวเองได้ ส่วนพลเอกอนุพงษ์ ก็นับวันถอยหลังรอเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้แล้ว
ว่าไปแล้วทั้ง “เปรม-ประวิตร-อนุพงษ์” ก็ต้องการลงอย่างไม่เสียวสันหลัง และยังสามารถคอนโทรลกองทัพได้
ดังนั้น ก็ต้องวางฐานอำนาจเอาไว้ในกองทัพ ผ่านตัวเลือกที่ดีที่สุดก็คือ พลเอกประยุทธ์ ที่เหลืออายุราชการถึงปี 2557 โดยการประคองให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ อยู่ให้นานที่สุด โดยเฉพาะไปจนถึงช่วงการ
ส่งไม้ต่อ เก้าอี้ ผบ.ทบ.จากอนุพงษ์ ไปให้ “พลเอกประยุทธ์”
และต้องพยายามออกแรงช่วยให้ประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนก็ตาม เพื่อให้เก้าอี้ของพลเอกประยุทธ์ ว่าที่ ผบ.ทบ.มั่นคงมากที่สุด
“ระบอบทักษิณ” ที่ยังฆ่าไม่ตาย ตอนนี้ และถึงต่อให้โดนคดียึดทรัพย์ ก็ยังเชื่อว่า ยังแผลงฤทธิ์ได้อยู่ จึงเป็นศัตรูการเมืองร่วมกันของทั้ง อภิสิทธิ์ และกลุ่ม 4 ป. ที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย ต้องจับมือร่วมกัน เพื่อตั้งรับและเอาชนะให้ได้
อภิสิทธิ์ จึงวางใจได้เป็นอย่างดีว่า ต่อให้ การเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหามากแค่ไหน แต่เขาก็ยังมี กองหลังอันมั่นคงและวางใจได้คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง และเป็นกองหลัง
4 ป. “เปรม-ประวิตร-ป๊อก-ประยุทธ์” จึงเป็นดุลอำนาจที่สำคัญที่สุดในการค้ำยันเก้าอี้ อภิสิทธิ์ ในเวลานี้