xs
xsm
sm
md
lg

"ทนายสุวัตร" ซัด "สุเทพ" ทำมึน กม.ปปช.-"พิภพ" เตือน "มาร์ค" นึกถึงใจผู้สูญเสีย 7 ตุลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทนายสุวัตร" ซัด "สุเทพ" ตัวการมติ กตร. อัปยศ หลังออกหน้าปกป้อง 3 นายพล สั่งสลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ตุลา 51 ยัน กม.ปปช. มีความศักดิ์สิทธิ์และอยู่เหนือ กพ.หรือพ.ร.บ.ตำรวจ ดังนั้น ในเมื่อ ปปช. เป็นองค์กรตาม รธน. และมีมติชี้ขาดไปแล้ว ก็ถือว่าคดีสิ้นสุด เผย เล็งร้อง ปปช. เอาผิด กตร. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ด้าน "พิภพ" แกนนำพันธมิตรฯ เตือน "มาร์ค" คำนึงถึงชีวิตผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังคงร้องโอดครวญ ในขณะที่คดียังไม่คืบหน้า



 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" 

รายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-22.00 น.วันศุกร์ที่ 15 ม.ค. มี น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้มีการเชิญ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นร้อนแรง หลังจากที่ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ยืนตามมติเดิม กรณีคำอุทธรณ์ความผิด 3 นายตำรวจ คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4 และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผบก.จว.อุดรธานี ในฐานะที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้มีการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

นายสุวัตร กล่าวประเด็นนี้ว่า ในทางด้านกฏหมายเรื่องนี้ไม่สลับซับซ้อน แต่เป็นการตีความกฏหมายตามนักกฏหมายศรีธนญไชย เพราะพิจารณาจากผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ พวกนกรู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม ได้แก่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รองผบ.ตร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.อำนวย ดิษฐกวี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมศักดิ์ บุญทอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ

นายสุวัตร กล่าวต่อว่า กรณีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของ 2 องค์กร ทั้งที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2546 ที่ตอนนั้น ปปช. ชี้มูลความผิดข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาคนๆนั้นได้ไปอุทธรณ์ ที่กพ. แล้วมีการกลับมติ ปปช. จากนั้น ปปช. ก็ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฉะนั้น เมื่อมีความขัดแย้งกันเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นเช่นไร จึงเป็นที่มาของคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ปปช. มีอำนาจหน้าที่ตามหลักกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฏหมายหลักในการปกครองประเทศ ดังนั้น กฏหมายของ ปปช. มีศักดิ์และสิทธิ์สูงกว่ากฏหมายของ กพ. ทำให้ก็ต้องสูงกว่ากฏหมายของตำรวจ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ

"กพ.หรือตำรวจ มีฐานะเท่ากัน และโดยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร คือ ผูกพันศาล ผูกพันคณะรัฐมนตรี ซึ่งเหตุที่เขียนเช่นนั้นเพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฏหมายสูงสุด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นที่สุด ไม่อย่างนั้น ถ้ามีปัญหาการชี้ขาด ไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยหรือวินิจฉัยแล้วไม่เชื่อ บ้านเมืองจะอยู่กันได้อย่างไร" นายสุวัตร กล่าว

นายสุวัตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในเมื่อผลคำวินิจฉัย มันถึงที่สุดแล้วและผูกพันทุกองค์กร กรณีนี้จึงต้องผูกพันตามนี้ด้วย ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะเข้าไปที่ กตร. ทางรัฐบาลได้ขอหารือไปที่กฤษฏีกา ซึ่งกฤษฏีกาให้ความเห็นว่า ในเมื่อคำวินิจฉัยของ ปปช. ถึงที่สุด ก็ให้ยึดถือเป็นหลัก โดยถ้าหากบอกว่าผิด ก็คือผิด ทั้งนี้ ผิดแล้วก็ต้องพิจารณาดูว่าจะลงโทษอย่างไร ส่วนการอุทธรณ์นั้น ต้องเป็นการอุทธรณ์ในมติของ กตร. แต่คนที่มีหน้าที่ชี้ว่าผิด คือ ปปช. ดังนั้น ต้องใช้กฏหมาย ปปช. ไม่ใช่ พ.ร.บ.ตำรวจ เนื่องจาก พ.ร.บ.ตำรวจ ระบุอยู่แล้วว่าให้แค่อุทธรณ์โทษ แต่ที่เป็นอยู่กลับไปอุทธรณ์มูลความผิดของ ปปช. ทั้งที่มีอำนาจในการวินิจฉัยตามมาตรา 157 ที่มีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ2.ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกกฏหมาย เมื่อหารือไปทางกฤษฏีกาแล้วเห็นว่า ต้องเป็นไปตามที่ ปปช. ชี้ขาด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เก็บเรื่องนี้มา เนื่องจากเป็นผู้รักษาการสูงสุดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ แต่การครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ไปเป็นประธาน กตร. ซึ่งเมื่อปล่อยให้ นายสุเทพ ทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมาก็ทำผิดมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะได้ลงมติไป กลับไปกลับฐานความผิดด้วย

"ต้องเข้าใจว่า ปปช. ทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวน เมื่อทำคดีเสร็จเรียบร้อยก็ส่งไปให้อัยการฟ้อง เพราะฉะนั้น ศาลชั้นต้นของผู้ที่กระทำความผิด คือ ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากถือว่าคำสั่งของ ปปช.ยังไม่สิ้นสุด ก็ไปต่อสู้ตรงนั้นได้ ว่าผิดหรือไม่ผิด" นายสุวัตร กล่าว

นายสุวัตร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสุเทพ ไปกระทำความผิดครั้งหนึ่งแล้ว นายอภิสิทธิ์ ในฐานะที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลนี้ ต้องบอกนายสุเทพไปว่ากฤษฏีกาวินิจฉัยแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว นำมาซึ่งมติ กตร. วันนี้ ว่าให้ยืนตามมติเดิม ทั้งนี้ ตนอยากให้เห็นว่ามติดังกล่าวมันมีความอัปลักษณ์อยู่ โดยระบุว่า ตอนนั้นมีการใช้กฏหมายในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำว่านักกฏหมายศรีธนญไชย ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มันระบุอยู่แล้วในมาตรา 266 ที่บัญญัติว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้น หรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ มาตรา 266 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาเปลี่ยนเป็นมาตรา 214 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งลอกกันมาหมด เพียงแต่ขยายความให้ชัดเจนขึ้น โดยมาตรา 214 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ในที่ประชุม กตร. วันนี้ที่ระบุว่า ตอนนั้น กพ. ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

"เมื่อ กตร. ลงมติแล้วให้กลับไปที่คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะเข้าข่ายมาตรา 215 ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ในประเด็นที่เคยวินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่รับเรื่องหรือประเด็นดังกล่าวไว้พิจารณา ดังนั้น ถือว่าความผิดครั้งนี้สำเร็จแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา และยิ่งมีการลงมติวันนี้ด้วย ถือว่ามีความผิดแล้ว คุณได้กระทำไปเรียบร้อยแล้ว ผลการกระทำต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ไม่เกี่ยว" นายสุวัตร กล่าว

นายสุวัตร กล่าวอีกว่า ตนอยากให้ไปดูมาตรา 270 ในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ใดมีความประพฤติทุจริต หรือส่อว่ากระทำความผิดต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย

"กรณีอย่างนี้รู้อยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ขอคำปรึกษาไปที่ทีมกฏหมายรัฐบาล ก็คือกฤษฏีกา ก็ให้ความเห็นมาเช่นนี้ แล้วพวกคุณยังมาสุมหัวกัน และก็มีมติกลับไปอย่างนี้ ก็เข้าตามมาตรา 270 นำพามาซึ่งวิธีเปิดทางให้วุฒิสภาถอดถอน หรือประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คนก็ร่วมถอดถอนได้ ดังนั้น การลงมติครั้งนี้เป็นความผิดทางอาญา กตร.ชุดนี้ จะต้องติดคุกทั้งคณะ แต่ความผิดทางราชการเหล่านี้ กฏหมายบอกเราฟ้องเองไม่ได้ เราต้องไปร้องผ่าน ปปช.โดย ทางเราจะมีการไปร้องที่ ปปช. แล้วเมื่อมีคำวินิจฉัยอย่างไร ก็จะได้เห็นน้ำตาจรเข้หลั่งอีกครั้ง" นายสุวัตร กล่าว

นายพิภพ กล่าวว่า ตนมองเรื่องนี้ด้วยความสมเพช นายสุเทพ เพราะตนนึกไม่ถึงว่า ความเลวร้ายของนักการเมืองซึ่งสูงสุดที่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ต่อมาก็มีพรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย ตนคิดว่าความเลวร้ายดังกล่าวน่าจะยุติได้แล้ว โดยตนนึกไม่ถึงว่า นายสุเทพ จะทำสิ่งเลวร้ายอีกครั้ง แล้วอยากพูดว่า เหตุการณ์ 7 ตุลา เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ซึ่งต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น ทำไมไม่เลือกสะสางความถูกต้องเรื่องนี้

"ผมว่าคุณสุเทพ เห็นแก่พรรคเห็นแก่พวกมากเกินไป โดยเห็นแก่ รมว.กลาโหม ซึ่งผมเชื่ออย่างนั้น ซึ่งเรื่องนี้ อยากให้ลองคิดถึงหัวอกประชาชน ว่าผู้บาดเจ็บที่หนักเฉพาะวันที่ 7 มีทั้งหมด 387 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีกจำนวนมาก ดังนั้น เรื่องนี้ อยากให้นายอภิสิทธิ์ มองอนาคตการเมืองของตัวเองในระยะยาว และนายอภิสิทธิ์ เองก็รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเป็นคนนำเรื่องนี้ไปร้องเอง คือ พรรคประชาธิปัตย์"นายพิภพ กล่าว
น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์
นายสุวัตร อภัยภักดิ์
นายพิภพ ธงไชย
กำลังโหลดความคิดเห็น