xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ยื่นฟ้องดีเอสไอ ฐานถูกใส่ร้ายอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผบช.ภาค 5 พร้อมทนาย ยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.กรณีถูก DSI สั่งดำเนินคดีฆ่านักธุรกิจซาอุฯ พร้อมฟ้องกลับคนกล่าวหาพาดพิงให้เสียหาย

วันนี้ (11 ม.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ เดินทางยืนหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป.ป.ช. โดยมีนายชูศักดิ์ ปุริบุญโญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือดังกล่าว โดย พล.ต.ท.สมคิด กล่าวว่า เรื่องที่ตนนำมาร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อกล่าวโทษพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะอัยการที่ร่วมทำการสอบสวน ในคดีที่มีการกล่าวหาว่า ตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุฯ

พล.ต.ท.สมคิดกล่าวว่า ตนเห็นว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย จึงได้ทำเรื่องขอความเป็นธรรมที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน

“กระบวนการสร้างพยานหลักฐานที่จะตอกย้ำ ทำให้สังคมที่ติดตามข้อมูลข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าผมเป็นคนร้าย ทั้งที่ข้อกล่าวหาในอดีตเลื่อนลอย ผมต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมเอง เพื่อไม่ต้องการให้เป็นเงื่อนไขและการตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมจึงเข้ามอบตัวสอบสวนดำเนินคดี กระบวนการทุกอย่างยุติลงเมื่อปี 2537 ด้วยการมีคำสั่ง สั่งไม่ฟ้อง โดยมีความเห็นว่าพยานกล่าวหาที่กล่าวหาไกลเกินเหตุ เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับผมในฐานะที่เป็นผู้กล่าวหา มีความพยายามที่จะนำเรื่องนี้กลับมาเล่นงานผมด้วยเงื่อนไข และปัญหาที่มีความขัดแย้งกันทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือที่ผมกำลังทำหน้าที่อยู่”

ด้าน นายนิติธรกล่าวว่า ประเด็นที่จำเป็นจะต้องยื่นให้มีการสอบคือ กระบวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งพฤติการณ์แห่งคดีโดยละเอียดที่เป็นสิทธิของผู้ต้องหาทุกคนที่ต้องได้รับการแจ้ง เพราะจะมีผลต่อการสู้คดีต่างๆ รวมทั้งของกลางในคดี ปรากฏว่าผู้ต้องหายังไม่เคยพบเห็นของกลาง แต่ปรากฏว่ามีการส่งไปตรวจพิสูจน์แล้ว แต่ผลยังไม่ออกมากลับมีการส่งฟ้องคดีก่อน ที่จะรอผลการตรวจสอบ ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่สามารถยืนยันความผิดได้ ดังนั้นการที่คณะพนักงานสอบสวนมีมติสั่งฟ้องในคดีนี้ จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะพนักงานอัยการ 2 คนที่เข้าร่วมในการสอบสวนถือว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญ และคดีดังกล่าวขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้งหมดมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานแต่ปรากฏว่า การแจ้งข้อกล่าวหาไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ มีผลให้ไม่มีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 157

นายนิติธรกล่าวว่า การที่ไม่มีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 157 ตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญเพราะว่าถ้าแจ้งตามมาตรา 157 อำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI ) จะหมดไป จะต้องส่งสำนวนมา ป.ป.ช. แต่เมื่อไม่แจ้งข้อหานี้ก็ทำให้DSI มีอำนาจสอบสวนต่อไป และเมื่อสอบสวนต่อ ก็มีการตรวจสอบรายละเอียดพบว่า พยานบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ เป็นพยานที่ถูกออกหมายจับในขณะที่ไปเป็นพยาน ดังนั้นการสอบสวนไม่ปรากฏว่าเมื่อสอบสวนเสร็จจะให้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้พยานปากนี้ได้รับโทษ และเมื่อดูสำนวนอย่างละเอียด และพยานยังไม่ได้กล่าวพาดพิงผู้ต้องหาว่า เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดในคดีนี้อย่างไรบ้าง






กำลังโหลดความคิดเห็น