xs
xsm
sm
md
lg

โหรรัฐศาสตร์ รศ.ตระกูล มีชัย ฟันธงแก้รัฐธรรมนูญเจอทางตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตระกูล มีชัย
สัมภาษณ์พิเศษ
โดย...อำพร แววบุตร

เริ่มมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลบีบรวบรัดพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเปิดศักราชใหม่ปี 2553 ก็ยังแรง เกาะกระแสไม่เลิก เพราะแม่ทัพใหญ่พรรคภูมิใจไทย (ยี้ห้อย) นายเนวิน ชิดชอบ ถึงขนาดกับออกมาขู่ ประชาธิปัตย์อยู่เนืองๆว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญใน 2 มาตรา

คือแก้ไขเขตเลือกตั้งให้เล็กลงให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว และมาตรา 190 ที่เป็นการทำสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ ถ้าไม่ได้ตามนี้ นายเนวิน เขาไม่ยอม และพร้อมผสมพันธ์ร่วมกับพรรคเพื่อไทยแน่

ขณะเดียวกันพรรคชาติไทยพัฒนา ก็รุกหนัก เพราะมีข่าวว่านายบรรหาร ศิลปอาชา หัวเรือใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา ถึงกลับเดินสายกินข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาล และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อต่อรองการร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาล กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะนายบรรหาร คงมีอายุทางการเมืองน้อยลงทุกที จึงอยากจะทำอะไรให้เสร็จ สร้างบุญ บารมีไว้ให้ลูกหลานไว้เชยชมจนหมดลมหายใจในอำนาจ ?

แม้ว่า ขณะนี้พรรคร่วมฯ ทั้งหลายดูเหมือนจะสงบเงียบยังไม่กระเพื่อมในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าไรนัก เพราะกำลังรอดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประชาธิปัตย์เองยังมีปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง หรือปัญหาภายในจะต้องเคลียร์ให้เข้าที่เข้าทางก่อน

ประเด็นเลือกเขตเดียวเบอร์เดียว ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะให้แก้นั้นเป็นประเด็นหลัก ก็ตาม แต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามดังใจที่หวังไว้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประชาธิปัตย์ ว่าจะจริงใจให้ความร่วมมือหรือไม่ แต่ที่ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมส.ส.หรือนักการเมืองถึงคิดแต่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ขณะเดียวกันไม่ได้นึกถึงเลยว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรกับการแก้ไขครั้งนี้ และส.ส.เหล่านี้ไม่ได้พูดถึงการทำงานของตัวเองว่าทำงานเหมาะสมกับเงินเดือนที่ได้รับหรือไม่ ซึ่งน่าจะลดจำนวนส.ส.ลงด้วยซ้ำ

ดังนั้นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดและทางออกของรัฐบาล “ASTVผู้จัดการ”จึงได้สัมภาษณ์ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ตระกูล เกริ่นว่า การเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานั้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะถ้ามีเขตเดียวเบอร์เดียวได้ จะทำให้ทั้ง 2 พรรคนี้มีโอกาสได้ส.ส.เพิ่มมากขึ้น จะเป็นการได้เปรียบเพราะถ้าเป็นเขตเล็กจะใช้เงินน้อย อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยเองได้ผ่านประสบการณ์เลือกตั้งซ่อมจากจังหวัดมหาสารคามซึ่งแพ้พรรคเพื่อไทยแค่ 1,000 คะแนนเท่านั้น จึงมองว่าถ้าเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวนั้นจะได้เปรียบคู่ต่อสู้มากกว่า แม้เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ ส.ส.เข้าสภาจำนวนไม่มาก แต่ก็สามารถร่วมรัฐบาลได้ทุกพรรค

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 40 นั้นมีไว้ให้นักการเมืองผูกขาดอำนาจตลอด ผูกขาดในพื้นที่ เลือกตั้งทุกครั้งก็จะได้ส.ส.หน้าเดิมๆ ซึ่งจะทำให้เลือกตั้งเขตเดียว เบอร์เดียวมีปัญหาทุกพื้นที่

-ทำไมหยิบ มาตรา 190 ขึ้นมา?
การหยิบยกมาตรา 190 ขึ้นมาเหมือนเป็นปมอะไรบางอย่าง หรือต้องการที่จะหยิบโยงกับอะไรหรือไม่ เพราะมาตรา 190 เองเหมือนไม่ได้มองเรื่องรัฐบาลอย่างเดียว แต่มีปัญหาที่รัฐบาลไปทำพันธะสัญญาต่างๆ

-คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะบีบให้พรรคประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จตามที่ต้องการหรือไม่?
ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็เล่นเกมโดยประกาศว่าไม่ร่วมแก้ด้วยเช่นกัน ส่วน ส.ว.นั้นคงค้านมาตรา 190 ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังคิดว่าการแก้ไขครั้งนี้จะไม่สำเร็จเพราะยังไม่เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะถ้านาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯจะแก้จริงๆ หากทำประชามติ จะไปถามประชาชนได้อย่างไร เพราะสิ่งที่แก้มันไม่ได้เป็นประเด็นสาธารณะ และประชาชนไม่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์คือนักการเมืองที่ต้องการช่วงชิงส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้เสียงข้างมากที่สุด เพราะถ้ามีส.ส.มากเท่าไรก็จะสามารถเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคใดก็ได้ ซึ่งนักการเมืองพวกนั้นจะอยู่ในวงเวียนการเมืองเก่าๆ

-จะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร?
ระบบการเมืองของไทยจะมาศึกษาให้รอบคอบโดยจะต้องให้ผู้ที่เป็นกลางมาเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ให้นักการเมืองมาเขียนตามใจชอบ เพราะคนไทยชอบมองอะไรแบบเฉพาะหน้า ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็น2550 ก็ไม่ดี ซึ่งมีนักรัฐศาสตร์จำนวนมากจะไม่มีทางออกหากทุกคนไม่เดินตามกติกาที่วางไว้ และหากไม่มีใครยอมรับรัฐธรรมนูญ ยิ่งจะทำให้การเมืองไทยนั้นตกต่ำ ไม่มีคนมาแก้ปัญหาได้แม้ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม ประเทศก็จะถอยหลงไปอีก 30 ปี ก็จะอยู่ในเกมแย่งชิงอำนาจกันของนักการเมือง แต่ผมได้ยินข่าวว่าอีกไม่นานจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่รับไม่ได้ โดยจะเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองทั้งระบบโดยไม่เกี่ยวรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 แต่กลุ่มคนเหล่านี้เขากลัวเป็นเหยื่อของ พ.ต.ท. ทักษิณ จึงไม่กล้าเสนอ เพราะถ้าเรียกร้องให้ปรับปรุงการเมืองใหม่ทั้งระบบก็จะเข้าทางพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะได้กลับมาอีกครั้ง

-ถ้าหากแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องยุบสภา
รัฐบาลก็อยู่ได้ แต่จะอยู่โดยไม่มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจจะทำอะไร กฎเหล็กที่วางไว้ผู้นำก็ไม่มีอำนาจบริหารประเทศ สุดท้ายบ้านเมืองก็จะเสียหาย ทั้งหมดมันเป็นปัญหาโครงสร้างและกลไกของรัฐบาลผสมทำให้นายกทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อพลังต่อรองเป็นแบบนี้ เพราะถ้าไม่ทำตามใจพรรคร่วมรัฐบาล ก็บอกจะไปร่วมกับอีกขั้วเพื่อให้อีกฝ่ายกลับมามีอำนาจใหม่ ซึ่งตอนนี้มีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี ถ้าหากนายกฯคิดจะทำอะไรก็ทำอย่างเช่นยกเลิกหวยออนไลน์ก็ทำไปเลย หรือว่าจะยุบสภาก็ยุบ ล้มก็ล้ม ทำไปเลย ซึ่งประชาธิปัตย์จะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ประชาชนจะได้รับรู้ทางการเมืองว่าเป็นเช่นไร แต่ก่อนที่จะยุบสภา นายอภิสิทธิ์จะต้องทำอะไรที่ควรทำก่อน

-เป็นไปได้หรือไม่ที่นาย อภิสิทธิ์ ไม่อยากยุบสภา เพราะกลัวเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลและกลัว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง?
ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ ไม่เห็นเป็นไร นายอภิสิทธิ์ ยังมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นนายกฯอีก เพราะอายุยังน้อย ที่ไม่อยากยุบสภา เพราะกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมานั้นไม่ใช่ว่าเขาจะกลับมาได้ง่ายๆ ขนาดมีรัฐบาลนาย สมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนาย สมชาย วงสวัสดิ์ สุดท้ายก็กลับมาไม่ได้ เพราะมีภาคประชาชนเขาคอยปกป้องไม่ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ กลับมา

ดูเหมือนว่า สุดท้ายแล้วแม้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญซ้ำซากก็ตาม แต่นักการเมืองก็เอาอำนาจนิติบัญญัติมาเป็นกลไกในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง เมื่อมีอำนาจทุกครั้ง แต่นักการเมืองเหล่านั้นลืมคิดไปว่า ประชาชนเลือกเขาเข้ามาทำงาน เพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ของตัวเอง แทบลืมไปด้วยซ้ำว่า เขาเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันในทุกเรื่องที่พวกเขาอยากจะทำ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนไม่ได้อะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น