xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงที่ต้องรู้ กรณีเพนตากอนเปเปอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิริโชค โสภา
โดย ศิริโชค โสภา

หมายเหตุ - บทความนี้ ศิริโชค โสภา-ผู้เขียนได้ส่งให้โต๊ะข่าวการเมือง นสพ. ASTVผู้จัดการรายวัน เพื่อพิจารณาเผยแพร่ “ทีมงานข่าวการเมือง” เห็นว่าเป็นข้อเขียนที่มุ่งให้ข้อเท็จจริงกรณีเพนตากอนเปเปอร์ และโต้แย้งจากที่ นสพ.มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 25 ธ.ค. ได้นำเรื่องเพนตากอนเปเปอร์ มาอ้างเปรียบเทียบเชิงยกย่องต่อการที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ เปิดเอกสารลับของกระทรวงการต่างประเทศ ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง หวังว่าจะช่วยไขความจริง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับกรณีดังกล่าว จึงพิจารณานำบทความนี้เผยแพร่

มีความพยายามที่จะปลุกกระแสเปรียบเทียบกรณีเพนตากอนเปเปอร์ กับกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาเปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ชาติไทย ในการกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย–กัมพูชา ถึงขนาดมีสื่อมวลชนบางแขนงยกย่อง นายจตุพรว่าจะเป็นวีรบุรุษในอนาคต

แต่สำหรับผมแล้ว นายจตุพร เป็นเพียงทาสรับใช้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เอาความลับของชาติไปขายให้เขมร ไม่ต่างอะไรกับสายลับดีๆ นี่เอง

สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ กรณีเพนตากอนเปเปอร์ เป็นผลพวงจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลอเมริกัน และปกปิดมิให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะที่กรณีของเอกสารลับของ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ความสัมพันธ์สองประเทศ และกำหนดแนวทางอย่างเป็นขั้นเป็นตอนรองรับกับสภาพปัญหาจากเบาไปหาหนัก ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ชี้แจงไว้กับประชาชนคือ

การปรับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้กลับคืนสู่สภาพปกติ บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ ศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของชาติไทยเอาไว้ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมขอลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาของเพนตากอนเปเปอร์ เสียก่อน มิฉะนั้นอาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะตกเป็นเหยื่อเกมการเมืองของคนบางกลุ่ม ที่มักจะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ของตัวเองและ พ.ต.ท.ทักษิณ

ด้วยการแอบอ้างในเชิงรูปแบบที่ดูคล้ายคลึงกันเพื่อมาฟอกตัวอย่างไร้ความรับผิดชอบ ทั้งที่เนื้อหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยช่องว่างของข้อมูลบางอย่างที่ประชาชนอาจเข้าไม่ถึง

กรณีเพนตากอนเปเปอร์นั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า United States–Vietnam Relations, 1945–1967: A Study Prepared by the Department of Defense แปลความหมายก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม ช่วงปี ค.ศ. 1945– 1967

เอกสารดังกล่าวเป็นบทศึกษาที่จัดเตรียมโดยฝ่ายกลาโหม มีจุดเริ่มต้นจาก นายแมคนามารา รมว.กลาโหม ที่ต้องการศึกษานโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันได้ดำเนินการอะไรไปบ้างในกรณีของประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน (1967 ) จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปค้นเอกสารเก่าๆ ที่จัดชั้นความลับสุดยอด ไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

บังเอิญคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือนายแดลเนี่ยน เอลส์เบิรก เป็นคนที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม เพราะเคยไปทำงานที่ประเทศเวียดนามมาแล้วสองปี เห็นถึงความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ที่นอกจากจะเป็นผู้รุกราน คุกคาม ประเทศอื่นแล้ว ยังทำให้ทหารอเมริกันและประชาชนผู้บริสุทธิ์ของเวียดนาม ต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก

เมื่อเขามีโอกาสได้เข้าถึงเอกสารที่ถูกปกปิดมาโดยตลอด ก็พบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันได้หลอกลวงประชาชน ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง ปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรับรู้ โดยเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับประธานาธิบดีหลายคน จึงได้เริ่มทำบทศึกษาที่ถูกเรียกขานว่า เพนตากอนเปเปอร์ ในปี ค.ศ. 1967 และเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ.1968

นายเอลส์เบิรก ได้มอบบทศึกษานี้ให้ น.ส.พ.นิวยอร์คไทม์ ตีพิมพ์ในอีกสามปีต่อมา ซึ่งไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอเมริกันเท่านั้น แต่ยังทำลายความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่ประชาชนอเมริกันมีต่อผู้นำของพวกเขาอย่างรุนแรงอีกด้วย

รัฐบาลอเมริกันพยายามอย่างยิ่งยวดใช้ทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการตีพิมพ์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ถึงขนาดนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาล หวังให้ศาลมีคำพิพากษายับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว แต่สุดท้าย คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดโดยคะแนนเสียง 6-3 พิพากษาว่า ให้ตีพิมพ์ได้ แม้ว่าจะเป็นเอกสารลับสุดยอดก็ตาม เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อเนื้อหาในเอกสารถูกตีแผ่ออกมา ได้สั่นคลอนรัฐบาลสหรัฐอย่างรุนแรง เนื่องจากบทศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐในช่วงปีค.ศ. 1945–1967 จงใจหลอกประชาชนสหรัฐ ขยายแนวรบในประเทศเวียดนาม ด้วยการทิ้งระเบิดแบบปูพรมในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และแถบชายฝั่งตอนเหนือของประเทศเวียดนาม โดยที่ปกปิดไม่ให้ประชาชนสหรัฐรับทราบเลย

ผลพวงจากการเปิดเผยครั้งนั้น ส่งผลให้ประชาชนอเมริกันลุกขึ้นมาต่อต้านการทำสงครามในประเทศเวียดนามในเวลาต่อมา สำหรับนายเอลส์เบิรก ถูกดำเนินคดีข้อหาสายลับ แต่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้น ดักฟังโทรศัพท์อย่างผิดกฎหมาย และขั้นตอนการรวบรวมหลักฐาน ก็ทำไปโดยไม่มีหมายศาลอีกด้วย

ซึ่งทั้งหมดเป็นคนละเรื่องกับกรณีเอกสารกระทรวงต่างประเทศ ที่นายจตุพร พยายามเปิดเผย

เพราะกรณีนี้เป็นแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการตามหน้าที่ของตัวเอง ในการวิเคราะห์สภาพปัญหา แนวทางในการแก้ไขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยยึดนโยบายที่ประกาศไว้กับประชาชน คือ (ตัวเอน)** การปรับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้กลับคืนสู่สภาพปกติ บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ ศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของชาติไทยเอาไว้ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา

รัฐบาลมิได้ปกปิด หรือหลอกลวงประชาชน เพียงแต่ที่มิอาจเปิดเผยเอกสารดังกล่าวได้ เพราะเป็นเรื่องของวิธีปฏิบัติที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การที่นายจตุพร นำเอาความลับของประเทศไทยไปบอกประเทศกัมพูชา จึงทำให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบรัฐบาลเขมร ส่วนกรณีเพนตากอนเปเปอร์นั้น เป็นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้น ที่ถูกปกปิดมาเป็นเวลานาน และเป็นเรื่องที่ประชาชนสหรัฐควรรับทราบ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัดก็คือกรณีของนายจตุพร เหมือนกับทีมชาติไทย จะลงเตะบอลกับทีมชาติกัมพูชา แต่ นายจตุพร กลับนำแผนการเล่นของทีมฟุตบอลไทยไปบอกกับเขมร ว่าใครจะเป็นตัวจ่าย ใครจะเป็นตัวยิง แนวรุกจะไปทางซ้ายหรือขวา อย่างนี้ขายชาติไหมครับ


แต่กรณีเพนตากอนเปเปอร์ เป็นเรื่องที่ทีมบอลสหรัฐได้เตะจบไปแล้ว แต่ต่อมามีคนมาเปิดเผยว่านักบอลสหรัฐชนะเพราะทำผิดกฎหมายคือไปโด๊ปยา

ยังมีใครคิดว่า นายจตุพร จะเป็นวีรบุรุษในอนาคตอีกไหม ถ้ามีผมคงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากสองแนวทางนี้คือไม่โง่บัดซบ ก็ถูกผลประโยชน์บดบังจนเกิดอาการแกล้งโง่

ผมเห็นความเหมือนบนความต่างระหว่างนายเอลส์เบิรก กับนายจตุพร คือต่างคนต่างถูกดำเนินคดีข้อหาสายลับ และเป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่ข้อต่างคือ

นายเอลส์เบิรก ศาลยกฟ้องเพราะประเด็นทางเทคนิคเนื่องจากมีการดักฟังโทรศัพท์และรวบรวมหลักฐานอย่างผิดกฏหมาย โดยไม่มีหมายศาล

แต่ของนายจตุพร รัฐบาลดำเนินคดีอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่มีการดักฟังโทรศัพท์ แต่นายจตุพร แถลงเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง ดังนั้นเตรียมล้างคุกรอนายจตุพรได้เลย

บทสรุปของนายเอลส์เบิรก ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้รักชาติที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการเปิดโปงนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งนอกจากจจะช่วยยับยั้งไม่ให้สหรัฐต้องสูญเสียไม่รู้จบจากการทำสงครามแล้ว ยังนำไปสู่การคืนสันติภาพให้กับประเทศเวียดนามอีกด้วย

ส่วนบทส่งท้ายของนายจตุพร นอกจากจะกลายเป็นคนคิดคดทรยศต่อชาติ ขาดจิตสำนึกในการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดแล้ว ยังเข้าข่ายปลุกปั่น ยุยง บิดเบือนข้อเท็จจริง ขยายผลความขัดแย้ง หวังจุดไฟสงครามระหว่างสองประเทศ เพื่อข่มขู่ประเทศไทย ให้ต้องยอมจำนนกับความไม่ถูกต้องที่พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามยัดเยียดให้กับบ้านเมือง

ผมมีความมั่นใจว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสติและใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา โดยได้พยายามที่จะจำกัดวงความขัดแย้ง ไม่ให้ขยายวงกว้างกลายเป็นปัญหาระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ จนทำให้ชาวไทย และกัมพูชาต้องได้รับความเดือดร้อน และเราพิสูจน์แล้วว่าเดินตามแนวทางนี้อย่างมั่นคง โดยจะไม่หลงกลกับการยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่มีผู้นำที่มีธรรมาภิบาลคนไหนหรอกครับ ที่จะเลือดเย็นถึงขั้นใช้ประชาชนและแผ่นดินแม่ของตัวเองมาเซ่นสังเวยเพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะ

มีแต่คนเลวทราม ต่ำช้า ไร้สำนึกเท่านั้นที่คิดจะทำ

จตุพร พรหมพันธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น