xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ทวิภาคีมัลดีฟส์ สบช่องลดโลกร้อน บูมธุรกิจท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ แจง เหตุสื่อต่างชาติรุมให้ความสำคัญประเทศไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทลดโลกร้อน ลดโลกร้อนไม่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เปรยปี 2050 ไทยอาจต้องลดผลิตข้าว ตั้งเป้าไทยเพิ่มป่าไม้เป็นร้อยละ 40 สนับสนุนข้อเสนออาซียนช่วยเพื่อนบ้าน ทวิภาคีไทย-มัลดีฟส์ ดึงท่องเที่ยวลดโลกร้อน

วันนี้ (18 ธ.ค.) เว็บไซต์รัฐบาล แจ้งข่าวภารกิจของนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทีได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Segment : HLS) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 5 โดยในเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ Bella Center กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ภายหลังการกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม นายอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับภารกิจของนายกรัฐมนตรีในวันแรกว่า ในการประชุมได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำหลายประเทศระหว่างการประชุม เช่น นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายกรัฐมนตรีอัลบาเนีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย รวมทั้ง ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ซึ่งทุกคนต่างแสดงความจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดยืนที่ทุกคนได้แถลงต่อที่ประชุมในวันนี้ตรงกัน และมีการยอมรับความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รู้สึกพอใจกับการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีมัลดีฟส์ เพราะนอกเหนือจากจุดยืนที่ตรงกันในการประชุมครั้งนี้แล้ว ยังได้มีการหารือเพื่อขยายการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการอำนวยสะดวกด้านวีซ่าด้วย

ส่วนการที่สื่อมวลชนต่างประเทศได้ให้ความสนใจแก่นายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมากระหว่างการประชุมครั้งนี้นั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า สื่อมวลชนให้ความสนใจในฐานะผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนาว่าจะมีแนวทางผลักดันการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปในทิศทางใด

ก่อนหน้านั้น นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมว่าขอแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีราสมูสเซน และรัฐบาลเดนมาร์กที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นการแสดงว่าประเทศเดนมาร์กมีความจริงจังเพียงใด ในการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราต่างต้องร่วมกันต่อสู้กับปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจังและถือเป็นสิ่งที่เร่งด่วน ที่เราจะต้องร่วมทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาถกเถียงหรือผลักความรับผิดชอบกันอีกต่อไป

แม้ว่าจะต้องใช้วิธีการที่ต่างกัน แต่เราก็ต่างประสงค์ที่ไปสู่จุดหมายเดียวกันในการแก้ปัญหา ภายใต้มาตรการตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศ ที่กำลังพัฒนาคือความพยายามที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ โดยไม่ให้กระทบต่อกระบวนการพัฒนาของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ดังนั้นจึงไม่อยากให้ความพยายามในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าและการลงทุนของประเทศที่กำลังพัฒนา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทยเองเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศของโลก และการคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการอาหารโลก ที่จะเพิ่มขึ้นถึง 50% ภายในปี 2050 นั้น อาจจะมีผลทำให้ความสามารถ ในการผลิตอาหารของประเทศไทยลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งโครงการนี้ถูกออกแบบให้เราสามารพรักษาผลผลิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน

ในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยได้นำปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งในฉบับที่ 10 และ 11 ซึ่งเป็นการวางแผนให้ประเทศไทยที่ไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้ผลิตคาร์บอนน้อยลง และสนับสนุนการขนส่งและการลำเลียงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคในประเทศมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยได้อนุวัติแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (2551-2565) ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้ร้อยละ20 ของพลังงานที่มีใช้ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2022 ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพิ่มให้ครอบคลุมพื้นที่จากร้อยละ30 เป็นร้อยละ 40 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์กว่า 228 แห่งและมีแผนที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการอนุรักษ์ป่าไม้และโครงการปลูกป่าได้รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย

ในส่วนของอาเซียน ประเทศไทยตระหนักว่าการดำเนินเพื่อรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยเพียงประเทศเดียว ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการร่วมมือกันกับประเทศต่างๆและในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เราได้มีการส่งเสริมความตระหนักเกี่ยวกับปัญหานี้ และมีการดำเนินการร่วมกันในภูมิภาค ระหว่างการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้มีการออกแถลงการณ์ Joint Statement on COP 15 of the UNFCCC และ CMP 5 ของพิธีเกียวโต นอกจากนี้ ในเดือนที่แล้ว ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อรับรองใน ASEAN Common Understanding และมีการจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Climate Changes ขึ้นด้วย

ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีมาตรการรับมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าเราจะมีส่วนน้อยมากในการปล่อยก๊าซที่ผ่านมาในอดีต อย่างได้ก็ดี ประเทศอาเซียนเห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศนี้ควรต้องรับผิดชอบกับการกระทำในอดีต และมีศักยภาพและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเพียงพอในแง่เทคโนโลยี

ด้วยข้อจำกัดของประเทศที่กำลังพัฒนาในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งในแง่เงินสนับสนุนและเทคโนโลยี ศักยภาพของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ที่กำลังพัฒนาจึงขึ้นอยู่กับการให้ความสนับสนุนดังกล่าวด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น อาเซียนสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มประเทศ G77 สาธารณรัฐประชาชนจีน และ กลุ่ม LDCs (กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด Least Developed Countries) เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจัดสรรงบประมาณร้อยละ 0.5 - ร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP- Gross National Product) พร้อมกันกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนา (ODA- Oversea Development Assistance) และกลไกเหล่านี้ต้องมีความพร้อมตลอดเวลาและสามารถเรียกใช้ได้อย่างง่ายดายจากประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะจากประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่อ่อนแอที่สุด และประเทศที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวต้องนำความช่วยเหลือไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศของตนอย่างแท้จริง

เราได้ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากบาหลีสู่บอนน์ จากกรุงเทพฯ สู่บาร์เซโลนา ก่อนที่เราจะมาถึงโคเปนเฮเกนในวันนี้ และถึงบทสุดท้ายของแนวทางที่เราได้วางไว้ เราต้องร่วมสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันและ เราสามารถทำได้ที่กรุงโคเปนเฮเกนแห่งนี้

เว็บไซต์รัฐบาลยังแจ้งด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการกับนายมูฮัมเหม็ด นาชีด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งฝ่ายมัลดีฟส์ได้ทาบทามขอพบหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยถือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้ทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับประธานาธิบดีมัลดีฟส์และหารือถึงช่องทางกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุน ซึ่งขณะนี้มัลดีฟส์กำลังต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงใช้โอกาสนี้ขอการสนับสนุน ให้มีการนำเข้าสินค้าไทยไปยังมัลดีฟส์นำเข้าสินค้ามากขึ้น พร้อมกับผลักดันให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในมัลดีฟส์ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว โรงพยาบาล การประมง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มัลดีฟส์กำลังมีนโยบายเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและมีมาตรการจูงใจนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความพอใจสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำมัลดีฟส์ ซึ่งมีอำนาจตรวจลงตรา โดยได้มีการเปิดสถานกงสุล ณ กรุงมาเล แล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวมัลดีฟส์ในการเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ต่างแสดงความห่วงกังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงความจำนงที่จะร่วมแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง และหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะส่งผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น