xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ชูปรัชญา ศก.พอเพียง วอนสังคมอย่าใช้ความเห็นนำความรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“อภิสิทธิ์” ชื่นชม แนวพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนกลายเป็นกระแสของโลก ชี้การตัดสินใจในการบริหารจัดการ จึงต้องอิงเหตุผลและหลักวิชาการ ระบุที่ผ่านมาสังคมยังใช้ความเห็นมากกว่าความรู้ พร้อมย้ำโครงการชุมชนพอเพียงต้องเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่ามีทุจริตและคนหวังผลประโยชน์

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว สุนทรพจน์พิเศษ เรื่อง “รัฐบาลกับการดำเนินการตามรอยพระบาท : เพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน” จัดโดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ตอนหนึ่งว่า สิ่งแรกที่ต้องย้ำ คือ ประเทศไทยและคนไทยเรามีพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยมานานกว่า 60 ปี ซึ่งนอกเหนือจากเราได้เห็นพระองค์ท่านได้อุทิศพระวรกาย ปัญญา และกำลังทรัพย์ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆแล้ว แนวทางพระราชดำริในเรื่องต่างๆ ที่ทรงพระราชทาน โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในคราววิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2542 ซึ่งความจริงได้ทรงพระราชทานไว้ย้อนหลังไปเป็นสิบปีมาแล้ว

“เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้มีสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์ผม ซึ่งนอกจากจะถามเรื่องการเมืองแล้วยังถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา เขาถามว่าในฐานะที่พสกนิกรออกมาถวายพระพรในช่วงนี้จำนวนมาก ในฐานะเป็นผู้นำจะอธิบายเกี่ยวกับสถาบันอย่างไร ผมก็อธิบายไปว่า นอกจากภารกิจที่ทรงพระราชทานในเรื่องต่างๆ แล้วยังมีอีก 2 เรื่อง ที่เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลก คือ สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การบ้านการเมือง ประเทศไทยผ่านวิกฤตมาได้ด้วยพระบารมี ล่าสุดเป็นภาพในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ ความขัดแย้งในสังคมรุนแรงมาก หลายฝ่ายในตอนนั้นนึกไม่ออกว่าจะมีทางออกอย่างไร แต่ก็คลี่คลายไปได้ ผมจำได้ว่าแม้ไม่ใช่เหตุการณ์เดียว แต่สื่อทั่วโลกได้มีการเผยแพร่ และสร้างความทึ่งถึงการแก้ปัญหาแก่ชาวโลก” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีแนวพระราชดำรัสหลายเรื่องที่ทรงพระราชทานไว้ก่อนที่จะเป็นกระแสของโลก ตัวอย่างในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ตนจะไปร่วมด้วย เพื่อหาข้อตกลงกันในการร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งไทยมีกษัตริย์ที่ทรงพระราชทานแนวทางเรื่องการพัฒนาที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ทรงพูดเรื่องพลังงานทดแทน คู่กับวิกฤตอาหารและพลังงาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทานให้คนไทย มีความสอดคล้องกับข้อวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์โลก ที่วัดว่า ตัวเลขรายได้ต่อหัวไม่สามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง ดังนั้น พวกเราทุกคนควรน้อมสำนึกในเรื่องนี้ ขณะนี้สังคมและประเทศไทย ยังไม่ได้ใช้อะไรจากแนวพระราชทานนี้เท่าที่ควร

“ขอออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในปรัชญานี้ แต่ผมได้พยายามศึกษาติดตามตลอด พยายามน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในชีวิตประจำวันและการดำเนินชีวิตทั่วไป งานของผมเป็นงานการเมือง บริหารประเทศชาติ ทำงานเพื่อประชาชน และในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์จึงสนใจในเชิงวิชาการ ว่าแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ ส่วนแรกที่ผมอยากย้ำ คือ หลักปรัชญามีความยิ่งใหญ่กว่าโครงการทั้งหลาย สรุป คือมีหลักสำคัญอยู่ 3 หลักที่มีความลึกซึ้ง คือ หลักการของความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี” นายกฯกล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลปัจจุบันตนย้ำเสมอว่าเราต้องมองปัญหารอบด้าน แล้วหาจุดสมดุล หาคำตอบของความพอประมาณ นอกจากนี้ หลักการความสมเหตุสมผล การตัดสินใจในการบริหารจัดการเรื่องใดจึงต้องอิงเหตุผลและหลักวิชาการ แต่น่าเสียดายที่ในสังคมเรายังใช้ความเห็นมากกว่าความรู้ ซ้ำร้ายยังใช้ความรู้สึกมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจได้ง่ายๆ เหมือนบางโครงการเรามีความอยาก อยากจะทำให้ได้ แต่ไม่ดูเหตุและผล เช้าวันเดียวกันนี้ ตนต้องประชุมแก้ปัญหาเรื่องไทยแลนด์อิลิทการ์ด คือตัวอย่างของความอยากทำ โดยไม่ดูเหตุและผล อยากเอาเงินเข้าประเทศ 1 ล้านล้านบาท แลกกับสิทธิประโยชน์ที่จะให้ต่างประเทศ แต่ผ่านมา 3 ปี ขายได้เพียง 2.5 พันใบ เป็นเงิน 2.5 พันล้านบาท ซึ่งหมดแล้ว แต่เรายังต้องดูแลลูกค้าเหล่านี้ไปจนตาย พูดง่ายๆ ว่าโครงการนี้เจ๊งแน่นอน แต่ถ้าคิดด้วยเหตุด้วยผล โครงการนี้ต้องไม่เกิดขึ้น ไม่ได้ดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

นายกฯ กล่าวว่า ในหลักการเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดี ในการทำงานรัฐบาลจะระมัดระวังมากในโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการ รัฐบาลยึด 3 หลัก ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมาก การตัดสินใจถ้าไม่สอดคล้องกับ 3 หลักนี้ เราก็ต้องทบทวนว่าสมควรดำเนินการหรือไม่ นอกจากนี้องค์ประกอบในเรื่องความสำเร็จมี 2 ส่วน คือ คุณธรรมความสุจริตในการบริหาร และสามารถ ศักยภาพที่ต้องจะต้องมากับการพัฒนา อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายหลักการโครงการดี แต่การปฏิบัติไม่มี 2 ส่วนดังกล่าวก็ไปไม่ได้

“ผมยกตัวอย่าง โครงการชุมชนพอเพียง รัฐบาลต้องการสนับสนุนชุมชนให้ได้ประโยชน์จากทุน ทั้งที่เป็นเงินทุน และทุนที่เป็นทรัพยากร เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลอยากดูว่าโครงการด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสอดคล้องกับ ท้องถิ่นสามารถทำอะไรได้บ้าง ต้องยืนยันว่าโครงการนี้ส่วนใหญ่ไปได้ดี และสร้างประโยชน์ แต่ที่เป็นปัญหาขึ้นมาเพราะเกิดจากการทุจริต และอยากได้ประโยชน์จากโครงการ เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าหากไม่นำหลักการของปรัชญามาใช้จะมีปัญหา รัฐบาลจึงต้องมาตั้งหลักโครงการนี้กันใหม่ และเข้าไปแก้ปัญหา” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า เราพูดถึงการเจริญตามรอยพระยุคลบาท และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสำเร็จของการสร้างความพอเพียง คือการสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนา ประเทศ และในวันนี้ไม่เฉพาะชาติเท่านั้นที่ต้องตามรอยพระบาท แต่ทั้งโลก เพราะทั้งโลกกำลังมีปัญหา แล้วทั้งโลกก็เริ่มตามรอยพระบาทกันแล้ว สะท้อนว่า ปัญหามนุษยชาตินั้นสามารถจัดการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น