xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวทางแก้ความแตกแยก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่สถาบันศศินทร์ วานนี้ (8 ต.ค.) มีการจัดประชุมทางวิชาการดุลยภาพ ของสถาบันกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยการเสวนาในหัวข้อ เส้นทางสมดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมไทย นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สมดุลภายในสังคมไทยมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงในอดีต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งปัจจุบันที่เกิดปัญหาบาดหมาง แตกแยกมานานถึง 20 ปี ไม่ได้มาแตกแยกในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแตกแยกถึงรากถึงโคน และทำให้เกิดปรากฏการณ์การแบ่งชนชั้นที่ต่างจากอดีตที่มีคนชนชั้นสูง ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง
แต่ปัจจุบันการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้คนชั้นล่างเปลี่ยนเป็นคนชั้นกลางระดับล่างที่มีค่าครองชีพสูงแต่รายไม่มากนัก มีสัดส่วนถึง 40 % ซึ่งอยู่ทั้งในชนบทและในเมือง ที่สำคัญคนเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในนโยบายสาธารณะ ดังที่เห็นได้จากการเลือกตั้ง โดยที่พรรคการเมืองสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของคนเหล่านี้ได้ ในอนาคตพวกเขาเหล่านี้จะไม่ได้เรียกร้องแค่ความเท่าเทียมทางการเมืองแต่จะเรียกร้องเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในสังคม ตนไม่แน่ใจว่า คนชั้นกลางจะยอมรับได้หรือไม่
นายนิธิ กล่าวว่า ทางออกของความตึงเครียดความไม่สมดุลนั้น ไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูป แต่สิ่งที่น่ากลัวและร้ายแรงคือ การนองเลือดที่ไม่จำเป็นและไม่มีเหตุผล และเราจะมีทางหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะคนไทยจะฆ่ากันเองโดยไม่มีเหตุผล
สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือ การลดปัจจัยการนองเลือดที่อาจจะมีขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น คือ การเพิ่มระบบการตรวจสอบการเมืองให้มากขึ้น โดยให้ประชาชนรู้สึกได้ว่ามีช่องทางในการตรวจสอบมากกว่าที่เป็นอยู่ เพิ่มพื้นที่การแสดงออกของประชาชน แต่การออกกฎหมายชุมนุมในที่สาธารณะจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าหมดหนทางในการต่อสู้ ซึ่งจะส่งผลให้ใช้วิธีนอกกฎหมายและความรุนแรงมากขึ้น ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการสถาปนานิติรัฐให้มากขึ้น เน้นเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนคนชั้นกลางระดับล่าง ให้การศึกษามากขึ้น
ด้านนายวิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแนวทาง ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินชีวิต ที่มีเรื่องปากท้องของชาวบ้านได้ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์รวมที่ต้องมีการสร้างความสมดุล ไม่สุดโต่ง ไม่ลด ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ขาด แต่เป็นการปรับใช้อย่างมีเหตุ มีผล สร้างสมดุลยภาพในสังคมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างในทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญก็จัดให้มีการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านมา เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นจะเห็นว่า การจะแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการทลายภูมิคุ้มกันเก่า และสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า ถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งความพยายามจะแก้ไขกฎหมาย และกระบวนการทางกฎหมาย หลายฉบับ อาทิ การแก้ไขกฎหมายอาญา ระบุความผิดที่ไม่มีอายุความ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสาร ให้เป็นความผิดอาญา ที่ไม่มีอายุความ ถ้ามองในทางนิติธรรมก็ดูดี แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ความผิดบางอย่าง เช่นการปลอมแปลงเอกสาร จะให้เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ ไม่มีใครระบุเช่นนั้นเพราะอาจมีปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นเราต้องมองในองค์รวม และความสมดุล โดยจับเอาความพอเพียงเพื่อสร้างดุลยภาพให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การสร้างดุลยภาพ และความพอเพียงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความอดทน
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ในโลกใบนี้ ซึ่งเราต้องเดินตาม ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศได้รับบทเรียนมาแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตการเงินในปีนี้ ประเทศไทยก็สามารถที่จะปรับสมดุลได้โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ทำให้เราได้รับผลกระทบน้อย แต่ในอนาคต เราจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะเรื่องสภาพแวดล้อมที่ประเทศมหาอำนาจเริ่มให้ความสำคัญ ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวรับโดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่จะต้องเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลกำลังใช้งบประมาณของโครงการไทยเข็มแข็ง จึงขอให้รัฐบาลดูแลงบประมาณในส่วนนี้ให้ดี เพราะงบตัวนี้จะทำให้รัฐบาลมีภาระเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะ การขาดดุล ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการให้ดี รวมทั้งรัฐบาลจะต้องทุ่มงบประมาณให้กับสังคมมากขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันให้กับชีวิตของประชาชนในระดับกลางและล่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น