xs
xsm
sm
md
lg

แฉขบวนการจ้องล้มชุมชนพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
สัมภาษณ์พิเศษ...


โครงการชุมชนพอเพียง ตกเป็นข่าวคราวว่ามีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นโดยคนภายในสำนักงานชุมชนพอเพียงร่วมกับกลุ่มพ่อค้า และมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีนักการเมืองและเครือญาตินักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

“กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง ผู้ตกเป็นเป้าถล่มจากพรรคฝ่ายค้านผสานกับพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน ให้สัมภาษณ์พิเศษ ASTV ผู้จัดการรายวัน” หลังประกาศลาออกจากประธานคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไป การจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเบื้องหลังขบวนการรุมเขย่าเก้าอี้รองนายกฯ

เหตุผลของการรีบตัดสินใจลาออกจากประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง

การทำงานของผมดูเหมือนมันจะมีอุปสรรคทุกเรื่อง สำหรับโครงการชุมชนพอเพียง เป็นโครงการที่มีความสำคัญมาก คือ การกระจายเงิน กระจายอำนาจให้กับชุมชน โดยให้ชุมชนได้มีความคิดในเรื่องความพอเพียง เป็นผู้ตัดสินใจ เอาเงินไปใช้ ด้วยหลักการหลักคิดที่วางไว้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีต่อชุมชน

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจึงตัดสินใจเร็ว โดยลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ ด้วยเหตุผลคือ ประเด็นแรก เพราะเป็นห่วงโครงการ เนื่องจากเป็นนักการเมือง ผมเป็นเป้าทางการเมือง ตราบใดที่นั่งโครงการนี้ก็จะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการเมือง อยู่ก็เป็นเป้าทางการเมือง ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่ใช่โครงการการเมือง แต่มีเป้าหมายที่มากกว่านั้นคือ สร้างความเข็มแข็งให้ชาวบ้านรู้จักคิด รู้จักทำด้วยตนเองในกรอบของความพอเพียง

แต่เมื่อโครงการบางส่วนเกิดปัญหาขึ้นมาก็รีบออกโดยเร็ว เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง เงินที่จะต้องใช้ในโครงการนี้ก็มาก อยากให้โครงการเดินหน้าต่อ แต่ถ้ายังนั่งอยู่ก็ไม่จบเพราะเป็นโครงการที่ชุมชนต้องตัดสินใจซื้อของ

ดังนั้น จึงตัดสินใจหาคนมาดูแลแทน เอาคนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเข้ามาดูแทน และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องชุมชน โดยเสนอให้ ท่าน มีชัย วีระไวทยะ รองประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง ขึ้นมาเป็นประธานแทน เชื่อว่าท่านมีความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างดี และก็เรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าปล่อยให้โครงการนี้ให้เขาเดินไปด้วยตัวเขาเอง

พอถึงตอนนี้ก็มีความเห็นพ้องกันว่า ไม่ต้องรีบใช้เงิน ให้ชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก่อน ชุมชนไหนพร้อมก็อนุมัติส่งเงินลงไป ชุมชนไหนไม่พร้อมก็ให้รอไว้ก่อน รัฐบาลอนุญาตให้ตั้งงบเหลื่อมปีได้ จะเก็บเงินไว้ให้ ถ้าใช้ไม่เสร็จก็เอาไปใช้ปีหน้า ไม่ต้องกังวลกับกรอบเวลาว่าจะต้องเร่งให้เร็ว มากกว่าที่จะไปบอกว่าทุกคนให้รีบทำมาเพราะจะปิดหีบงบประมาณ อย่างนั้นไม่ควรจะทำ

ประเด็นที่สอง เพราะมีข่าวเรื่องการทุจริต เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็พบว่ามีจริง ไม่ใช่ทุกโครงการ แต่มีขบวนการที่เชื่อได้ว่ามีการร่วมมือกับคนในสำนักงาน ความจริงก็ไปร้องทุกข์กับกองปราบแล้ว แต่ในใจคิดว่ากองปราบแห่งเดียวคงไม่พอ จึงไปขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีข้อดีอยู่ 2 อย่าง

หนึ่ง นอกจากจะจับคนทุจริตได้ อย่างที่สองคือจะได้เห็นจุดบกพร่องในการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นเจตนา แต่เป็นจุดบกพร่องของระบบที่จะได้มาปรับ ท่านประธานฯ คนใหม่มาทำงานก็จะทำได้อย่างสบายใจเพราะระบบได้ปรับปรุงใหม่แล้ว ผมว่าที่ผ่านมาโครงสร้างไม่ดี

ผมมีข้อสังเกตที่อยากบอกสื่อด้วยว่า อดีตที่ผ่านมาการตรวจสอบโครงการจะทำตอนที่โครงการเสร็จแล้ว คนรับผิดชอบก็หายไปหมดแล้ว แต่คราวนี้การขอให้ สตง. เข้ามาทั้งที่โครงการยังดำเนินการอยู่ ก็เพื่อจะบอกว่ารัฐบาลเต็มใจให้สตง.เข้ามาตรวจสอบได้เต็มที่ ตัวผมเองก็ต้องลาออก ถอยออกมา

ประเด็นที่ 3 ต้องหาคนที่สามารถมาดูแลโครงการนี้ได้เต็มเวลา ผมเองเป็นประธานและคณะทำงานอยู่ 39 ชุด ในทางความเป็นจริงมันไม่ควร แต่ในทางการเมืองมันบังคับ เพราะมีรองนายกฯ อยู่น้อยคน

ทำไมถึงนั่งควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง และประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการชุมชนพอเพียง ทำให้มีข้อกังขาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ความจริงแล้ว รูปแบบการดำเนินโครงการที่ทำกันมา คือนายกฯ ตั้งคณะทำงานมีผมเป็นประธาน และก็ไปตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 2 คณะ คณะหนึ่งคือ คณะอนุฯ กลั่นกรองอนุมัติโครงการฯ มีผมไปนั่งเป็นประธานเอง สื่อก็พยายามตั้งคำถามว่าทำไมไปเซ็นตั้งชื่อตัวเอง มันเป็นเรื่องปกติกี่คณะเขาก็ทำกันอย่างนี้ ความหมายคือ เวลาเราเป็นประธานด้วย และเป็นประธานอนุฯ ด้วย ก็เซ็นเอง ไม่มีใครเซ็นให้เพราะเราเป็นประธาน ผมก็เซ็นให้อาจารย์มีชัยอีกเพราะคณะอนุฯ มี 2 ขา หนึ่งคืออนุฯด้านวิชาการ อีกหนึ่งคือ อนุมัติโครงการ

ในอดีตโครงการเอสเอ็มแอล รองนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผู้อนุมัติ และที่อนุมัติได้ก็คืออนุมัติเม็ดเงิน ส่วนโครงการจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของชุมชน ข้อร้องเรียนที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นของถูก แพง ดีไม่ดีอย่างไร ผู้รับผิดชอบคือ ชุมชน ซึ่งก็เป็นห่วงเขาเพราะเขาอาจจะยังเป็นชุมชนที่ยังอ่อนแออยู่ ถูกพ่อค้าหัวใส ไปหลอกทุกอย่าง

ขณะที่ชุมชนที่เข็มแข็งไปหลอกเขาไม่ได้ แล้วเขายังยันกลับมาด้วยว่า ทำไมเอาสิ่งที่เขาไม่ได้ขอไปให้ นั่นทำให้เราได้รู้ด้วยว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นจากคนในสำนักงานฯ กรณีสุดท้ายที่ไปจับได้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ไปอ้างชื่อผม พอสืบไปสืบมาก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นทำงานให้กับคนในสภา ก็เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ



การดำเนินโครงการโดยรวม และโครงการในส่วนที่เกิดมีปัญหาขึ้นมามีมากน้อยแค่ไหน

เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการนี้รวมทั้งหมด เป็นงบเก่าจากโครงการเอสเอ็มแอลที่เหลืออยู่ 6,000 ล้าน งบใหม่ที่จัดให้ 15,000 ล้าน และจัดให้ปีหน้าอีก 3,000 ล้าน รวมทั้งหมดเป็น 24,000 ล้าน เม็ดเงินที่ใช้ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท ในส่วนนี้มีปัญหาประมาณ 50 ล้านบาท ก็เหลือ 19,000 ล้าน ที่ยังไม่ได้แตะ

แต่หากลงไปตรวจสอบในเชิงลึกก็อาจจะมากหรือน้อยกว่าผมไม่แน่ใจ แต่ประเด็นคืออยากจะให้เดินหน้าต่อ โครงการที่จะขออนุมัติขึ้นมานั้นมากถึง 80,000 โครงการ จากประมาณ 80,000 กว่าชุมชน จะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างอยู่มากกว่า 90,000 รายการ เยอะมากขนาดนี้ และชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจซื้อของเอง ยอมรับว่า โครงการเยอะมาก มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และก็จะเป็นประเด็นทางการเมือง

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนแรกรัฐบาลเร่ง คิดทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน คิดไม่ครบ รีบส่งเงินลงไป

หลักการที่จ่ายออกไป คือ เอาภาคีมาช่วย ภาคีก็มีหลายหน่วยราชการ ทางปฏิบัติทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเอาเวลาตั้ง เพราะเวลาน้อย มีเวลา 7 เดือน ทำไปทำมาผมไม่ยอมอนุมัติเพราะไม่มั่นใจก็ช้ามาเรื่อยกว่าจะอนุมัติล็อตแรกก็ต้องแน่ใจนะ แต่ไม่ได้ไปดูรายละเอียดว่าไปซื้ออะไรกัน เมื่อเหลือเวลาไม่กี่เดือนก็ไปเร่ง ก็หวังแต่เพียงชาวบ้านจะตัดสินใจถูกเราให้กรอบไปแล้ว

เวลาที่ผมให้กับโครงการนี้ไม่เพียงพอ เพราะไปทุ่มเวลาให้กับการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ต้องไปหยุดตรงนั้น เพราะใช้เงินไปแล้วแสนห้าหมื่นล้านของอยู่ในโกดังถ้าขายได้ไม่ดี ปล่อยให้มีทุจริตเสียหายมหาศาลเป็นหน้าที่ของเรา คอร์ปใหม่ก็จะออกมา งานพวกนี้ก็มาก รวมทั้งงานอื่นๆ ด้วย ต้องไปดูเศรษฐกิจมหภาค เรื่องพลังงาน ธุรกิจท่องเที่ยว ต้นกล้าอาชีพ จากตกงานคิดว่าเป็นล้านเหลือ 5-6 แสน เรื่องกำลังคนในระบบข้าราชการ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม สำนักงบประมาณต้องดูทั้งหมด ผมเสียใจที่ไม่ได้ดูแลโครงการชุมชนพอเพียงให้ดีพอ

แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่า ผมตัดสินใจถูกต้อง ช้า ชัวร์ ห้ามการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมว่านี่ดีที่สุด คือสำเร็จแล้วไม่ได้คะแนนเลยแต่ประชาชนรู้จักคำว่าพอเพียง ใช้เงินเป็นประโยชน์สูงสุด นั่นเป็นความสำเร็จ ไม่ต้องเอาคะแนนกัน ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเป็นประชาธิปัตย์หรือเป็นใคร และอยากจะหยุดยั้งทางการเมือง กอร์ปศักดิ์ ออกไปแล้วนะ ถ้าอยากถล่มต่อก็ไปว่าเรื่องอื่น

ผมอยากให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป เพราะเป็นการกระจายเงิน กระจายอำนาจลงสู่ชุมชน ชุมชนเป็นผู้ได้ประโยชน์ ไม่อยากให้ฝ่ายค้านนำไปโจมตี ซึ่งเวลานี้เห็นว่ามีกระบวนการทำทุกวิถีทางที่จะทำให้โครงการหยุด เดินต่อไปไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์

ส่วนเหตุปัญหาในโครงการที่เกิดขึ้นพอตามไปดูลึกๆ แล้วจึงเห็นว่าทำกันเป็นขบวนการ เป็นขบวนการทางการเมือง มีปัญหาทางการเมือง มีข้อสังเกตว่า พื้นที่ที่มีปัญหาเป็นพื้นที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นพื้นที่ที่จัดตั้งโค่นล้มรัฐบาล

ส่วนที่มีข่าวเรื่องสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ขณะนี้เป็นเรื่องที่ทางพรรคตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว ก็ให้ทางพรรคจัดการกันไป

หมายความว่า เรื่องนี้ทำกันเป็นขบวนการกดดันให้พ้นจากเก้าอี้รองนายกฯ

ผมมีข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนมีการทำกันเป็นขบวนการทั้งฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่บางคน และปล่อยข่าวผ่านสื่อที่เห็นกันอยู่ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็อธิบาย เอาหลักฐานให้ดูและก็ทำให้เห็นว่าเข้ามาจัดการอย่างไร แต่ก็ยังไม่หยุด ผมจึงตัดสินใจลาออก เพื่อให้โครงการเดินไปได้ ไม่อยากโครงการถูกปู้ยี้ปู้ยำ เสียดายโครงการถ้าจะต้องมามีปัญหา

รูปแบบของการทุจริตที่เกิดปัญหาขึ้น

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นขออธิบายอย่างนี้ว่า แต่เดิมในอดีตโครงการเอสเอ็มแอล ชาวบ้านขออะไรขึ้นก็ได้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นโครงการชุมชนพอเพียง ชาวบ้านก็ยังขอเหมือนเดิม แต่คราวนี้ถูกตีกลับ จากนั้นก็มีคนเข้าไปจัดการอ้างทางสำนักงานฯ บอกว่าขอโครงการอย่างนี้สิถึงจะได้ ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าระดับสูงในสำนักงานฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ 3 ราย ที่ถูกสั่งให้หยุดงานและแจ้งความกองปราบฯแล้ว

เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่ามีขบวนการขอโครงการเหมือนๆ กันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ คือ ขอมาบอกจะทำปุ๋ยชีวภาพ แต่ไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์เหมือนกัน ยี่ห้อม้าบิน เท่าที่ตรวจสอบพบตอนนี้ การขอโครงการเหมือนกันมาจาก 10 จังหวัดทั้งเขตภาคอีสานและภาคกลาง พอเห็นอย่างนี้ก็ชะลอเอาไว้ ยังไม่อนุมัติ ประเด็นนี้แหละที่ถูกตีว่า อนุมัติโครงการที่เหมือนๆ กัน ความจริงแล้วคือยังไม่ได้อนุมัติ และเมื่อส่งคนลงพื้นที่ไปตรวจมีการซื้อปุ๋ยมากองไว้แล้ว เต็มห้องแถว แล้วไปผูกกับคนดัง นามสกุลดังเป็นประธาน

ปัญหาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่โครงการก่อนหน้านี้แล้ว และผมจะลงไปตรวจสอบดูโครงการเอสเอ็มแอลด้วย ใครขออะไรมาเขาก็ให้หมด มีตู้น้ำมีลายเซ็นทักษิณด้วย เขาทำเป็นธุรกิจ

นอกจากนั้น ก็เป็นการซื้อของแพง และซื้อจากรายเดียว เช่น ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีปัญหาด้านการแข่งขันราคาเพราะผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งเป็นประเด็นที่กังวล

ความจริงโครงการดีๆ ก็มีเยอะ แต่ไม่เป็นข่าว

การเข้ามาตรวจสอบโครงการได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

เวลานี้ การตรวจสอบโครงการดังกล่าว แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของพรรค ซึ่งมีคณะกรรมการตรวจสอบที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ เป็นประธาน (สัปดาห์หน้าจะสรุปผล)

อีกส่วนหนึ่งคือในส่วนของรัฐบาล ผมได้ไปแจ้งความที่กองปราบปรามฯ แล้ว ซึ่งทางกองปราบฯ จะเข้ามาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานทุจริตทั้งในสำนักงานชุมชนพอเพียง และผู้ร่วมกระทำผิดที่อยู่นอกสำนักงานฯ นอกจากนั้นยังได้ไปยื่นเรื่องขอให้ สตง. เข้ามาดำเนินการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง

ส่วนกรอบเวลา ทางกองปราบฯ ขอเวลา 30 วัน แต่ สตง. ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาขึ้นอยู่กับข้อมูลหลักฐานไปลึกไปกว้างแค่ไหน ซึ่งการมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลตรวจสอบถือเป็นเรื่องดีเพราะจะได้รู้ว่าโครงการชุมชนพอเพียงบกพร่องไม่ถูกต้องตรงไหน แย่ตรงไหน จะได้แก้ไข

การเข้ามาตรวจสอบโครงการ ผมห่วงตรงไหนรู้ไหม ห่วงประชาคมจะโดน เพราะตามหลักเกณฑ์แล้ว การกลั่นกรองโครงการมาจากชุมชน ชุมชนจะประชุมกันโดยใช้เสียงร้อยละ 70 จากจำนวนหลังคาเรือน ตั้งตัวแทนขึ้นมาเรียกว่าประชาคม 9 คน ประชาคมก็จะมาดำเนินการ 3 คน มีหน้าที่ไปเปิดบัญชีธนาคาร 3 คนไปจัดซื้อจัดจ้าง 3 คน ไปตรวจรับงาน ทำบัญชี ซื้อของแพงถูกขึ้นอยู่กับ 9 คนนี้

ปัญหาคือ บางแห่งไม่มีการประชุม ผู้นำชุมชนทำเองหมดแล้วให้ชาวบ้านเซ็น ชาวบ้านไม่รู้ก็เซ็นๆ กัน ประชาคมที่เข้มแข็งก็ไม่มีปัญหา แต่บางประชาคมอ่อนแอวันดีคืนดีก็มีของไปวางเอาไว้ให้ เมื่อไม่มีประชาคมเป็นตัวเป็นตน มีคนมาหลอก มาจัดการให้ พอมาถึงสำนักงานฯ ก็ดูที่ลายเซ็นว่านายอำเภอเซ็นมาไหม ถ้าเซ็นมาก็อนุมัติตามนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะมาดูว่าเป็นโครงการที่อยู่ในหลักเกณฑ์ไหม เช่น ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ดูว่าเป็นพลังงานทดแทน ผมก็เห็นว่าเป็นพลังงานทดแทนก็อนุมัติ

เวลานี้ ประชาคมก็กลัว เรื่องดีก็กลายเป็นว่าไม่มีใครกล้าเซ็นอนุมัติอะไร ก็ดีทำให้คนตื่นตัวขึ้น ตอนนี้มาตราการที่ออกมาก็หยุดเอาไว้ก่อนอย่างตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ คือมันดีแต่ไม่มีคู่แข่ง หยุดไม่เดินต่อจนกระทั่งทุกอย่างเรียบร้อย

ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการคนใหม่จะเข้ามารื้อใหม่หมดหรือไม่

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน (มีชัย วีระไวทยะ) แต่ท่านก็คงจะเข้ามารื้อใหม่หมด ท่านอาจไม่ทำทุกหมู่บ้าน ก็แล้วแต่ท่าน ท่านนายกฯ ก็ให้ฟรีแฮนด์ ท่านพูดเอาไว้ว่า 3 ปี อยากจะทำให้หมด ก็ถือว่าได้เลยนะเวลาขนาดนั้น จากตอนแรกที่คิดจะทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งคิดไม่ครบ ไม่เวิร์ก เสียดายเงิน วันนี้เห็นแล้วว่า ความเข้มแข็งของชุมชนมีน้อย

ผอ.และรองผอ.สำนักงานฯ จะปรับเปลี่ยนด้วยหรือไม่

ทั้งสองท่านจะออกไม่ออก ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน แต่ในความเห็นผมว่าเวลานี้อยู่ลำบาก
กำลังโหลดความคิดเห็น