โฆษกรัฐบาลยันการจับกุมเครื่องบินขนอาวุธสงคราม เป็นไปตามมติยูเอ็น ย้ำรายงาน สมช.-หน่วยงานกรอง ไม่มีเรื่องรับค่าสินบนนำจับมาเกี่ยวข้อง ชี้แผนการตรวจสอบ หากถึงขั้นทำลายอาจจะต้องขอยูเอ็นสนับสนุน งบจ่ายค่าผู้เชี่ยวชาญและทำลาย
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการจับกุมเครื่องบินขนอาวุธสงครามที่เข้ามาจอดในประเทศไทยว่า ในที่ประชุม ครม.ไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ เรื่องนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ตั้งพนักงานสอบสวนจากอัยการและตำรวจเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งประเด็นต้องดูว่ามีอาวุธชนิดใด มีระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นไปตามมติของสหประชาชาติในฐานะประเทศภาคี โดยไทยต้องตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด และอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเข้าร่วมตรวจสอบ หากไทยไม่มีก็ต้องประสานขอจากยูเอ็น หลังจากพิสูจน์ทราบก็จะนำไปสู่การทำลายล้างและเขียนรายงานกลับไปยังสหประชาชาติให้รับทราบต่อไป ส่วนการที่เชิญทูตและผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศต่างๆ เข้ามาให้ข้อมูลมีหลายประเทศแสดงความจำนงเข้าร่วมตรวจสอบ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพันธมิตรอยู่ในยุโรปตะวันตก
เมื่อถามว่า หากชุดตรวจสอบได้ความชัดเจนจะดำเนินการทำลายอาวุธต่างๆ เลยหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ต้องดูให้เกิดความรอบคอบก่อน เหมือนกับที่ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตตรวจพบอาวุธสงครามเช่นเดียวกัน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำลายล้างอาวุธ ส่วนมูลค่าของอาวุธขณะนี้ประเมินว่าคงมีมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ ผู้สื่อข่าวถามว่าการจับกุมครั้งนี้ไทยได้เงินรางวัลนำจับหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่หากเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการทำลาย เราต้องประสานผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากยูเอ็นหรือหน่วยงานต่างๆ ก็คงมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งเราสามารถร้องขอจากทางยูเอ็นได้ เรื่องนี้มอบหมายให้สมช.รับไปเจรจา ขณะที่บางประเทศที่มีศักยภาพก็ไม่จำเป็นร้องขอ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตที่เคยจับอาวุธสงคราม ในลักษณะเดียวกับประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้กระบวนการพิสูจน์และทำลายอาวุธยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนเงินรางวัลนำจับที่หลายฝ่ายวิจารณ์ทางสำนักข่าวกรอง และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่าไม่มี
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่ประเทศผู้สั่งซื้อ อาจไม่พอใจที่เราไปสกัด นายปณิธานกล่าวว่า ยืนยันว่าประเทศไทยปฏิบัติตามมติสหประชาชาติ เมื่อเกิดเหตุในประเทศก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ซึ่งทางยูเอ็นให้เป็นเรื่องกฎหมายภายในของเรา และเรื่องบางเรื่องมีความซับซ้อนที่บางครั้งก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ ดังนั้น ผู้ที่ถูกจับกุมจะมาทำอันตรายภายในประเทศคงไม่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่กระบวนการที่ค้าอาวุธมักจะตัดทิ้งและไม่วกกลับมา เพราะเกรงว่าจะเป็นหลักฐานตามจับได้ ยกเว้นอาวุธที่มีความสำคัญมากๆ ก็จะดำเนินการทางใดทางหนึ่ง ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 5 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติกับระเทศที่เป็นพันธมิตรแถบยุโรปตะวันออกว่า มีข้อมูลตรงกันหรือไม่ เพื่อจะได้ติดตามว่าจะมีเครือข่ายเพิ่มเติมแต่จากการสอบปากคำของทั้ง 5 คนเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์ ไม่วิตกกังวลแต่อย่างใด และเข้าใจขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายเป็นอย่างดี และมีความรู้ ความสามารถในเรื่องคดี
นายปณิธานกล่าวว่า ส่วนใหญ่ลูกเรือทั้งหมดจะทำงานเป็นครั้งคราวไป และจะไม่ตรวจสอบสินค้าที่จัดส่ง เพราะเป็นในลักษณะเครื่องบินเช่าเหมาลำ มีหน้าที่บินตรงไปยังจุดเป้าหมายอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่ามีอาวุธแฝงเข้ามาหรือไม่ และส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกเรือรู้ การทำงานของพวกนี้จะไปลงจอดในประเทศที่มีการบริการอากาศยานในภาคพื้นที่มีความพร้อมและที่สำคัญจะไม่บินซ้ำเส้นทางการบินเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ สำหรับขั้นตอนการส่งประวัติไปตรวจสอบเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดในการประสานไปยังประเทศพันธมิตร โดยทุกอย่างจะทำตามมติยูเอ็น กฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องดูว่าประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ หรือมีการแลกเปลี่ยนผู้ร้ายกับประเทศไทยหรือไม่ แต่จากรูปคดีคงเป็นเรื่องยากเพราะคนไทยในต่างประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องในคดีการลักลอบขนอาวุธสงคราม