กรรมาธิการสอบโกงและสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เผยพบ นายทุนสร้างโรงแรมบนพื้นที่อื้อฉาว สมัย “เฉลิม” เป็น มท.1 บนเกาะราชาใหญ่ ปิดทางสาธารณะ ซ้ำถมคลอง แถมเทปูนไม่ใช้ลงทะเลทำปะการังเสียหาย - พบอีก อบต.ไม้ขาวฝืนคำสั่งสร้างถนนทับพรุจิก ทำน้ำเน่า ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนชัด
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา โฆษกคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงว่า กมธ.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชาใหญ่ (เกาะรายา) จ.ภูเก็ต เรื่องการสร้างโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงลงพื้นที่ตรวจสอบและพบปะผู้ประกอบการโรงแรม ผู้แทนชมรมอนุรักษ์ฯ สื่อท้องถิ่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า มีการสร้างโรงแรมแห่งหนึ่งปิดทางสาธารณะเข้าออกของประชาชนที่ใช้สัญจรขนพืชไร่ไปลงเรือที่อ่าวสยามมานานกว่า 80 ปี ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และมีการถมคลองสาธารณะที่ไหลผ่านพื้นที่โรงแรมดังกล่าวด้วย และเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 โรงแรมได้ขนถ่ายวัสดุก่อสร้าง แต่พบอุบัติเหตุทำให้ต้องทิ้งปูนซีเมนต์จากแพลงในทะเลจำนวน 750 ถัง ทำให้ปะการังบริเวณดังกล่าวเสียหาย ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 จ.ภูเก็ต ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการแล้ว โดย กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินผืนนี้เคยอื้อฉาวสมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ฝ่ายค้านในเวลานั้น เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาว่า น่าสงสัยว่าออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ จึงเป็นเหตุให้พิพาทกับชาวบ้านบนเกาะราชาใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง กมธ.จะตามตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิดังกล่าวต่อไป และจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อไป ทั้งนี้ บริเวณอ่าวสยามยังเป็นพื้นที่สวยงามมาก มีการสลักพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 6 ไว้ที่หินด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการสร้างถนนรอบพรุจิก ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และได้ประชุมร่วมกับนายสมิทธิ์ ปาลวัฒนวิไชย รองผู้ว่าราชการจ.ภูเก็ต พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบความผิดปกติในการสร้างถนนดังกล่าว ได้แก่ พื้นที่พรุจิก 77 ไร่ เป็นพื้นที่ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่งข้ออ้างของ อบต.ไม้ขาวที่ว่า การทำถนนเพื่อบอกความชัดเจนของแนวเขต และอำนวยความสะดวกในการเดินทางจึงฟังไม่ขึ้น เพราะการทำแนวเขต ใช้คันดินก็ใช้ได้แล้ว หรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ก็ทำได้ แต่พบว่าพื้นที่นี้มีแต่รถขนวัสดุก่อสร้างไปก่อสร้างโรงแรมตรงปลายสุดถนน ซึ่งถนนยาว 1.5 กิโลเมตร งบประมาณสูงถึง 28 ล้านบาทเศษ และประชาชนไม่ได้ใช้เส้นทางนี้จริง จึงสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือไม่
นายประสารยังกล่าวอีกว่า พื้นที่แห่งนี้สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เคยมาสำรวจแล้วพบว่า การสร้างถนนไม่มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และขัดกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงมีความเห็นให้ อบต.ไม้ขาว ระงับการสร้างถนนดังกล่าว แต่ปรากฏว่ากลับมีการสร้างต่อ ทำให้ขณะนี้น้ำในพรุเริ่มเน่าเสียเพราะน้ำขังบริเวณจำกัดด้วยแนวถนน กรรมาธิการจึงจะขยายผลตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและตั้งกระทู้หรือหารือในการประชุมวุฒิสภาต่อไป