ASTVผู้จัดการ - รู้ทันประเทศไทยเปิดข้อมูล แฉธาตุแท้บอร์ดบินไทย “วัลลภ พุกกะณะสุต” 14 พ.ย. ควงเมียบินเฟิสต์คลาสจากญี่ปุ่น ขนกระเป๋า 40 ใบ น้ำหนักกว่า 600 กิโลกรัม แถมเข้าช่องกระเป๋าหายเพื่อหนีภาษีหน้าตาเฉย ปธ.สหภาพฯ-ผู้ถือหุ้น ชี้ไม่เคยเห็นผู้บริหารคนไหนเห็นแก่ตัวอย่างนี้มาก่อน ตอกมีผู้บริหารบางคนทำการบินไทยขาดทุนย่อยยับ ซื้อเครื่องบินเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดหลักฐาน “เมีย-เพื่อน” เหลือบเกาะการบินไทยหากินมานานหลายปีแล้ว ผู้บริหารคนอื่นรู้เห็น-ช่วยเหลือ
รายการรู้ทันประเทศไทยช่วงที่ 3 วันที่ 8 ธันวาคม 2552
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "รู้ทันประเทศไทย"
วานนี้ (8 ธ.ค.) รายการรู้ทันประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี นิวส์วัน ได้นำเสนอเรื่อง “บอร์ดการบินไทย กับการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกรณีที่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) คนหนึ่งพร้อมภรรยาได้ใช้อภิสิทธิ์ในการบินในชั้นเฟิสต์คลาส โดยมีการขนกระเป๋าส่วนตัวกว่า 40 ใบ น้ำหนักกว่า 600 กิโลกรัมขึ้นเครื่องบินของการบินไทย กลับจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังไม่มีการเสียภาษีนำเข้าของต่างๆ ในกระเป๋าอีกด้วย
ทั้งนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายแสงธรรม ชุนชฎาธาร ผู้ดำเนินรายการได้เรียนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวมา 2 คน ประกอบด้วย น.ส.แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และหนึ่งในคณะทำงานสอบสวนกรณีข่าวอื้อฉาวดังกล่าว และ นายมนต์ชัย ราบรื่นทวีสุข ผู้ถือหุ้นบริษัท การบินไทย เพื่อมาพูดคุยถึงรายละเอียดดังกล่าว
น.ส.แจ่มศรี ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาสหภาพฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากพนักงาน นอกจากนี้ยังมีบัตรสนเท่ห์ซึ่งกระจายไปทั่วบริษัท ด้วยเหตุนี้จึงมีการตรวจสอบและพบความจริงว่ามี ผู้บริหารบริษัทการบินไทยและครอบครัวใช้ตั๋วฟรีในการเดินทางในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาจริง อีกทั้งการขนจำนวนกระเป๋าที่มากมายนั้นก็เป็นความจริง
ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ตนและประชาชนนั้นได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้วว่า ผู้บริหารผู้นั้นคือ นายวัลลภ พุกกะณะสุต กรรมการบริษัทการบินไทยและประธานกรรมการบริหาร พร้อมกับ ภรรยาคือ นางจารุวรรณ พุกกะณะสุต ซึ่งในวันที่ 14 พ.ย. ได้ใช้ตั๋วเฟิสต์คลาส โดยนั่งในตำแหน่ง 4F และ 4E พร้อมกับขนกระเป๋าเดินทางจำนวน 30 ใบ น้ำหนักรวม 172 กิโลกรัม
ขน 50 ใบ หนักเกือบ 700 โล
ต่อมา น.ส.แจ่มศรี ได้เปิดเผยว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว นายวัลลภและภรรยาไม่ได้ขนกระเป๋าจำนวน 30 ใบ น้ำหนัก 172 กิโลกรัม แต่ปริมาณมากกว่านั้นหลายเท่า แต่มีคนภายในการบินไทยช่วยปกปิดเอาไว้
“ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ 172 กิโลฯ จากรายงานจากพนักงานที่มีผู้หวังดีเยอะมาก เพราะพนักงานทุกคนก็รู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบแล้ว และพนักงานการบินไทยทุกคนต้องออกมา ก็ส่งข้อมูลมาให้ว่าจริงๆ น้ำหนักทั้งหมดประมาณ 520 กิโล แต่ว่ามีการทำรายงานไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง” ประธานสหภาพการบินไทยกล่าว พร้อมระบุว่า น้ำหนักกระเป๋าของนายวัลลภและภรรยาที่ชั่งจริง 520 กิโลกรัม แต่มีการรายงานเพียงแค่ 170 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการนำกระเป๋าอีกประมาณ 10 ใบไปฝากให้กับ นายพฤทธิ์ บุปผาคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ ให้ช่วยถือกลับมาให้โดยน้ำหนักชั่งจริงสูงถึง 113 กิโลกรัม แต่บันทึกไว้เพียง 51 กิโลกรัมเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทยที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการให้และเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ดร.เจิมศักดิ์ได้กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทยที่ญี่ปุ่นต่อหน้าผู้บริหารก็มีการเกรงใจ ลงบันทึกน้ำหนักไว้น้อยกว่าที่เป็นจริง แต่เมื่อเครื่องใกล้ออกเดินทางจึงมีการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เนื่องจากถ้าไม่แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเครื่องบินก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
ทั้งนี้ น.ส.แจ่มศรี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วผู้โดยสารในชั้นเฟิสต์คลาสจะได้รับอนุญาตให้ขนส่งกระเป๋าได้ไม่เกิน 40 กิโลกรัม หรือเต็มที่ไม่เกิน 45 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถ้าหากรวม 2 คนก็ไม่น่าจะเกิน 90 กิโลกรัม ขณะที่ผู้โดยสารในชั้นประหยัดขนส่งได้ไม่เกินคนละ 20 กิโลกรัม ชั้นธุรกิจประมาณ 25-35 กิโลกรัม ทว่า นายวัลลภและภรรยาขนส่งกระเป๋าทั้งสิ้นรวมน้ำหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม
ซิกแซกหนีภาษี
ต่อมาผู้ดำเนินรายการได้ซักต่อว่า แล้วกรณีที่มีข่าวว่า กระเป๋าจำนวนครึ่งร้อยใบดังกล่าว มิได้ผ่านพิธีทางศุลกากรและเสียภาษีอย่างถูกต้องจริงหรือไม่ น.ส.แจ่มศรี ระบุว่า ตามข้อมูลจากบัตรสนเท่ห์และจดหมายร้องเรียนจากพนักงานระบุว่า กระเป๋าดังกล่าวถูกลำเลียงไปไว้ในส่วนกระเป๋าหาย (Lost and Found) และถูกขนออกนอกสนามบินโดยไม่ผ่านการเสียภาษี
นายมนต์ชัยกล่าวเสริมว่า การกระทำดังกล่าวมิเพียงเป็นการเอาเปรียบบริษัทการบินไทย แต่ยังเป็นการเอาเปรียบคนไทยทุกคนอีกด้วย
“ปกติเราหิ้วกระเป๋าเข้ามา กระเป๋าเสื้อผ้าของเรา 2 ใบ ตามพิกัดการบิน ถ้าบังเอิญมีกล่องอะไรสักนิด ศุลกากรก็อยากจะดูแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่อะไร … แต่กระเป๋าขนาด 40 ใบ น้ำหนักตั้งครึ่งตันอย่างนี้ จะไม่บอกว่าหนีภาษี แต่ก็หลีกเลี่ยงการชำระภาษี ซึ่งผมก็เพิ่งทราบว่าวิชามารอย่างนี้ก็มีด้วย”
คนไทย-ผู้ถือหุ้นสุดช้ำ
ด้าน นายมนต์ชัย ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท การบินไทย แสดงทัศนะต่อกรณีดังกล่าวว่า ตนรู้สึกสลดใจต่อกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ปีที่แล้วบริษัทการบินไทยมีผลการดำเนินการขาดทุน อีกทั้งพนักงานก็ไม่ได้โบนัสและไม่ได้ขึ้นเงินเดือน แต่ผู้บริหารกลับมีพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ได้ประกาศไว้อย่างสิ้นเชิง
นายมนต์ชัยกล่าวต่อว่า แม้ตนจะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท แต่ก็ไม่ได้คิดว่าบริษัทการบินไทยเป็นของตนแต่เป็นทรัพย์สินของประเทศและของคนไทยทั้งหมด เนื่องจากเวลาไปเจรจาสิทธิทางการบินนั้นบริษัทการบินไทยก็ต้องอาศัยชื่อของประเทศไทย สิทธิของคนไทยทั้งประเทศไปเจรจา
“อันที่จริงในความเป็นผู้ถือหุ้น ใครจะไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อะไรก็เป็นผู้ถือหุ้นได้ แต่ว่าผมคิดว่าบริษัทการบินไทยเป็นของคนไทยทุกคน ในการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ สิทธิการบิน เราไปเจรจาในนามประเทศไทย ฉะนั้นบริษัทอันนี้ก็เป็นบริษัทประเทศไทยเหมือนกัน … คนไทยทุกๆ คนที่ไม่ได้ซื้อหุ้น ไม่ได้ถือหุ้นก็เป็นผู้ถือหุ้นเช่นกัน แต่ผู้ถือหุ้นที่จะเจ็บช้ำมากที่สุดก็ถือคนที่ซื้อหุ้นเมื่อวันที่บริษัทการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ และซื้อในราคาหุ้นละ 60 บาท” นายมนต์ชัยกล่าวเสริม
พร้อมกันนั้นแขกรับเชิญคนเดิมได้เสริมว่า จากการบริหารงานของผู้บริหารชุดที่แล้วได้ทำให้ราคาหุ้นการบินไทยตกลงเหลือต่ำกว่าพาร์คือ เหลือเพียง 6 บาทกว่า จากราคาพาร์ 10 บาท
“ในวันที่จะแต่งตั้งผู้ที่กล่าวนามนี้ไปเป็นประธานบอร์ด ผมเป็นผู้ที่ลุกขึ้นคัดค้าน ... การบินไทยไม่เคยใช้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ จะเป็นดีดี หรือไม่เป็นดีดีก็แล้วแต่ และยังมีความสามารถที่จะทำงานได้กลับมาทำงาน แต่กลับใช้กรรมการในส่วนอื่นเข้ามา 10 กว่าคน เทียบกับสายการบินคู่แข่งที่เขาตั้งบอร์ดแค่ 8-9 คน
อย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์มีท่านเซอร์อยู่คนหนึ่ง แต่การบินไทยใช้ท่านเซ่อสิบกว่าคน คือ เซ่อจริงๆ เกิดมาไม่เคยรู้เรื่องธุรกิจการบินระหว่างประเทศ ไม่เคยรู้เครื่องบิน ไม่เคยรู้อะไรเลย เป็นคนขายพริกไทย เป็นต้น หรือ เป็นอัยการสูงสุดที่มาตีความกฎหมายกับการประพฤติปฏิบัติบางอย่างที่มันละเมิดกฎหมาย แต่บอกว่าถูกแล้วใช้ได้ ความผิดยังไม่เกิด แต่ความผิดสำเร็จแล้ว” ผู้ถือหุ้นการบินไทยกล่าว
ประวัติชี้รุมแทะสายการบินแห่งชาติ
พร้อมกันนั้น นายมนต์ชัยได้กล่าวด้วยว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวนี้ในอดีตก็เคยมีพฤติกรรมสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับบริษัทการบินไทยมาแล้ว อย่างเช่น กรณีการเปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพ-นิวยอร์ก โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ340 ทั้งๆ รู้อยู่แล้วว่าเปิดเส้นทางบินดังกล่าวอย่างไรก็ขาดทุน แต่ต้องการจะซื้อเครื่องบินผิด เพื่อที่จะให้เกิดผลประโยชน์บางอย่างจากการซื้อเครื่องบิน และเมื่อปิดเส้นทางการบิน จะขายเครื่องบินก็ขายไม่ออกเพราะซื้อเครื่องมาแพง แต่ต้องขายถูกๆ
ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องบินแอร์บัส เอ 340 น.ส.แจ่มศรี ได้ยืนยันว่าเป็นความจริงและว่า บริษัทการบินไทยกำลังจะกลับมาเปิดเส้นทางการบิน กรุงเทพ-นิวยอร์ก อีกครั้งด้วยสาเหตุว่าเครื่องบินดังกล่าวขายไม่ออก
“ตอนนี้กำลังจะเอามาบิน ช่วงแรกๆ ตอนนั้นเปิดเที่ยวบินออสโล (ประเทศนอร์เวย์) ทั้งๆ ที่ก็ขาดทุน เพราะว่าเครื่องอย่างนี้บินที่ไหนก็ขาดทุน เพราะไม่สามารถทำให้ผู้โดยสารคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายไป” ประธานสหภาพการบินไทยยืนยัน
เมื่อผู้ดำเนินรายการถาม น.ส.แจ่มศรีต่อว่า เคยได้ยินพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้บริหารการบินไทยมาบ้างหรือไม่ โดย น.ส.แจ่มศรีตอบว่า ตนเคยได้ยินพฤติกรรมการใช้อำนาจในทางมิชอบเช่นนี้ของผู้บริหารบ่อย แต่พฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างเกินเลยเช่นนี้ตนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก
“ด้วยจรรยาบรรณและจริยธรรมของบอร์ดแล้ว ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เลย ขณะที่เราเป็นพนักงาน เราเคยถูกคำสั่งห้ามนำกระเป๋าใหญ่โหลดขึ้นเครื่อง เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำมันแพง ... เพราะกลัวว่ากระเป๋าจะหนักและกินน้ำมัน ถึงขนาดที่บอกว่าผู้หญิงที่มีเครื่องแต่งตัวเยอะ เครื่องเป่าผม รองเท้า ห้ามไม่ให้เอาไป ทั้งๆ ที่พนักงานไปปฏิบัติหน้าที่” น.ส.แจ่มศรีกล่าว พร้อมยืนยันว่า ผู้บริหารระดับนี้ ผู้ใหญ่ขนาดนี้ไม่ควรมีพฤติกรรมเช่นนี้
ทั้งนี้ แม้จะมีการกล่าวอ้างจากประธานบอร์ดว่า สิ่งที่ผู้บริหารคนดังกล่าวขนมานั้นเป็นผลไม้ เพื่อนำมาแจกในช่วงปีใหม่ แต่สหภาพการบินไทยก็ ถามกลับแล้วผลไม้ดังกล่าวมีการนำไปแจกใคร และโดยกฎหมายหากมีการนำเข้าผลไม้จริงไม่จำเป็นต้องเสียภาษีหรอกหรือ
ด้าน นายมนต์ชัยได้กล่าวเสริมว่า จากข่าวที่ตนทราบ ภรรยาของผู้บริหารคนดังกล่าวนั้นมีร้านค้าอยู่ในซอยละลายทรัพย์เสียด้วย ดังนั้นการกระทำดังกล่าวเรียกได้ว่าเห็นแก่ตัวอย่างมาก
“อย่างนี้มันยิ่งกว่าคำว่าเห็นแก่เล็กแก่น้อยเสียอีก เพราะที่ผมอ่านจากข่าวเนี่ย บอกว่ามีร้านค้าอยู่แถวซอยละลายทรัพย์เสียด้วย อย่างนี้เรียกว่า เล็กๆ น้อยๆ ยังเอาเยอะๆ แล้วในโอกาสที่ถ้าเป็นผู้บริหาร เคยเป็นผู้บริหาร แล้วมีเรื่องแปดเปื้อนกันเยอะๆ ทำให้บริษัทขาดทุนเกือบจะล่มจม ในรอบปีเศษๆ ที่ผ่านมา มันหมายความว่าอะไร หลายๆ เรื่องในที่ผมถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทไม่เคยตอบได้ ซึ่งทำให้เราคิดว่าเคยทำอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า”
รายการรู้ทันประเทศไทยช่วงที่ 4 วันที่ 8 ธันวาคม 2552
เปิดหลักฐาน “เมีย-เพื่อน” เหลือบเกาะบินไทย
ช่วงต่อมา ดร.เจิมศักดิ์ ได้หยิบเอกสารชิ้นหนึ่งขึ้นมา โดยระบุว่าเอกสารดังกล่าวเป็นรายงานจากพนักงานของการบินไทยที่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้พยายามรายงานมายังบริษัทแม่ว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวพร้อมภรรยา มีพฤติกรรมในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยใช้งบประมาณของบริษัท
“สตาฟของทีจี (การบินไทย) ที่อยู่ที่ญี่ปุ่นเขาต้องการจะรายงานว่า บุคคลพวกนี้ได้ใช้เงินของการบินไทยในการไปรับรองหรือเอาไปใช้จ่ายเพื่อตัวเอง และมาอยู่ที่โตเกียวบ่อยๆ ร่วมกับภรรยาของเขา ภรรยาได้ทำธุรกิจร่วมกับนางพิมพ์ใจ มัตสุโมโต เป็นบุคคลที่มีร้านอาหารไทยและมีซูเปอร์มาเก็ต และขายตั๋วโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเมียของเขาพร้อมกับพิมพ์ใจ สามารถขนกระเป๋าน้ำหนักเกินเท่าไหร่ก็ได้ในทุกครั้งที่มีการเดินทาง
“แล้วพิมพ์ใจสามารถซื้อตั๋วที่ถูกที่สุดในชั้นอีโคโนมี แต่แล้วก็สามารถอัพไปนั่งชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจได้ แล้วสามารถขนสัมภาระน้ำหนักเกินได้ นี่เป็นเพียงวรรคแรกเท่านั้น แล้วยังมีวรรคหลังอีกที่บอกว่าเอาเงินเอาทองไปใช้อย่างไรทำให้ทางสตาฟท้องถิ่นขาดเงินที่จะเอาไปใช้เลี้ยงรับรองดูแล ทั้งๆ ที่สาขาโตเกียวเคยทำรายได้สูงที่สุดให้กับการบินไทยมาแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ตกพินาศเลย” ดร.เจิมศักดิ์ระบุ
จากนั้นนายแสงธรรมได้เปิดเผยข้อมูลระบุว่า สำหรับ นางพิมพ์ใจ มัตสุโมโต ที่เอกสารดังกล่าวระบุนั้นตนไปค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตพบว่ามีชื่อเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทพี.เค. สยาม โดยบริษัทดังกล่าวเปิดร้านอาหารชื่อแก้วใจในญี่ปุ่นถึง 7 สาขาด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยต่างๆ ไปกระจายให้ร้านอาหารในญี่ปุ่นด้วย
น.ส.แจ่มศรี กล่าวเสริมว่า ถ้าหลักฐานเป็นเช่นนี้แสดงว่าพฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริหารคนนี้และคนใกล้ชิดมีมานานแล้ว จนกระทั่งพนักงานของบริษัทที่โตเกียวอดรนทนไม่ไหวอีกแล้วจึงต้องแจ้งเรื่องมายังกรรมการผู้จัดการใหญ่
นอกจากนี้ ดร.เจิมศักดิ์ยังระบุด้วยว่าตนทราบมาว่าสำหรับนายพฤทธิ์ บุปผาคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ ที่ช่วยนายวัลลภและภรรยาขนสัมภาระนั้นเดิมทีมีกำหนดการต้องเดินทางไปประชุมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่กลับเดินทางมาช่วยขนกระเป๋าดังกล่าวแทน ซึ่งความสัมพันธ์ของนายวัลลภและนายพฤทธิ์นั้นอาจจะอยู่ที่ตำแหน่งรองกก. ของนายพฤทธิ์นั้นในอดีตนายวัลลภเคยดำรงตำแหน่งนี้อยู่
จากนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ได้เปิดเผยเอกสารชิ้นหนึ่งเป็นหมายเลขตั๋วที่นายพฤทธิ์ใช้ในวันดังกล่าวซึ่งมีรหัสว่า ID00S1 โดย น.ส.แจ่มศรีได้ยืนยันว่าตั๋วดังกล่าวที่นายพฤทธิ์ใช้ เป็นประเภทตั๋วสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้หมดไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋ว ค่าเบี้ยเลี้ยง รวมถึงค่าโรงแรมด้วย
ในตอนท้ายนายมนต์ชัยได้กล่าวจี้ให้ประธานบอร์ดการบินไทยและผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายลงมาจัดการเรื่องดังกล่าวให้เรียบร้อยและโปร่งใสด้วย มิใช่ช่วยกันปกปิดเช่นนี้ มิฉะนั้นในระยะยาวบริษัทการบินไทยก็จะต้องประสบกับวิกฤตและล่มสลายในที่สุด