xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้บทเรียนมาบตาพุด สอนนายทุนต้องรักษ์สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“นายกฯ” รับปัญหามาบตาพุดเป็นบทเรียนสำคัญ สอนทุกฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมรับภาระจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา CEO Forum “Thailand Green Competitiveness and Rebranding” ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่า NIDA Business School ธนาคารนครหลวงไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย Thailand Green Strategy” ตอนหนึ่งว่า จากนี้ไปเอกชนที่จะลงทุน จะต้องพิจารณาในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บทเรียนสำคัญที่เราเห็นได้ในขณะนี้ คือ กรณีปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดหรือบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกนั้น เดิมมีการวางแผนไว้ค่อนข้างครอบคุลม ในการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่เกิดปัญหาย่อหย่อนในเรื่องของผังเมืองและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนส่วนหนึ่ง ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความทุกข์ในเรื่องคุณภาพชีวิต มาเผชิญหน้ากับกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินอีกเกือบพันล้านบาท เพื่อใช้ในการสะสางปัญหาเดิมๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานับสิบปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริกรสาธารณสุข การขยายการบริการเรื่องของประปามาให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ ทั้งนี้ยังไม่นับในการเข้าไปช่วยดูแล ผู้รับผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ต้องมีกติกาการแก้ไขซึ่งตนยืนยันว่า รัฐบาลต้องการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของสิทธิของชุมชนและแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน แต่กรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัยที่อาจใช้ดุลพินิจแตกต่างจากหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องของโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ เมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ที่จะดูแลเรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ประชาชนพื้นที่มีส่วนร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บทเรียนจากเรื่องของมาบตาพุดทำให้เรารู้ว่าในที่สุดเราจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต จึงจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปได้อย่างราบรื่น และถ้าเราสามารถคลี่คลาย รวมถึงบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็จะเป็นบทเรียนที่มีค่ามาก ถ้าในวันข้างหน้าวิธีการบริหารจัดการประเด็นเหล่านี้ หน่วยงานของรัฐและธุรกิจเอกชน รวมถึงภาคประชาชนจะต้องมีการปรับตัว นอกจากนี้ยังมีงานอีกมากที่เราต้องช่วยกันทำเพื่อรณรงค์ให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงในแง่การรณรงค์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่รวมถึงเรื่องของการยอมรับภาระในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย การเก็บภาษีหรือคาธรรมเนียม เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ดังนั้น จึงถือเป็นคามจำเป็นอย่างมาก ถ้าจะมีการปรับโครงสร้างในทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ตนหวังว่าจะได้เห็นทุกภาค่ส่วนได้แสดงบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลจะกำหนดนโยบายที่สอดคล้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการต้องสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม ขณะเดียวกันภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวขึ้นบ้างแล้ว ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อรักษามาตรฐานต่างๆ และจะต้องคิดค้นแสวงหาโอกาสและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนภาควิชาการก็ต้องวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นตัวสนับสนุนนวตกรรมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชน ก็จะมีส่วนผลักดันให้เกิดนโยบายที่ดี และรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนได้รู้จักปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น