xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:อุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศ แนวคิดท้าทายระยองเมืองน่าอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวคิดพัฒนาจังหวัดระยองด้วยเศรษฐกิจ 3 ขา ว่าด้วยการเกษตร การท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม เป็นแนวทางชัดเจนของ นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองที่ตั้งใจจะใช้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด

ทว่าวันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่เข้ารับตำแหน่งพ่อเมืองระยองวันแรก เป็นวันเดียวกับที่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้พื้นที่เทศบาลมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ และได้ออกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 กลายเป็นเรื่องใหญ่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศมหาศาลทำให้แนวทางการพัฒนาจังหวัดระยองปรับเปลี่ยนลงลึกในรายละเอียดในเชิงโครงสร้างมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจ 3 ขาดังเดิม

นายสยุมพรกล่าวว่า อุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซี บอร์ด เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่นี้ได้ และอุตสาหกรรมนี้ก็ได้สร้างประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศไทย เช่นเดียวกับไม่อาจปฏิเสธถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนรอบๆ ที่ดำรงอยู่ได้ ประเด็นคำถามคือ ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนภาคอื่นได้อย่างสงบสุขยั่งยืน ไม่ว่าการเกษตร หรือการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจพื้นฐานที่มีอยู่ก่อน

แผนพัฒนาจังหวัดระยอง จึงไม่เพียงแค่การสร้างสมดุลหลวมๆ ระหว่างเศรษฐกิจ 3 ขาเท่านั้น หากยังต้องเป็นการสร้างสมดุลในทุกมิติการพัฒนา โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวกำกับ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจ ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน และชุมชนให้อยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประชาชนอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมมักมองข้ามกระบวนการเหล่านี้ จะเนื่องจากกฎระเบียบเปิดช่องโหว่ หรือภาคประชาชนยังอ่อนแอ แต่มาถึงวันนี้กลายเป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมเลี่ยงไม่พ้นการเผชิญหน้าความเป็นจริง และต้องหันหน้าทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมโดยตรง หรือกระทั่งความคับข้องใจของสาธารณชน

น่ายินดีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งรีบปรับตัวเอง สำหรับการอยู่ร่วมในสังคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้วยการเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town ) เพื่อให้ระยองเป็นเมืองต้นแบบของประเทศไทย เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศ คือ การบริหารจัดการวัตถุดิบ และของเสีย อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และเกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อให้มีของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste or Zero Emmission)

นอกจากบริหารจัดการวัตถุดิบ และของเสียในสายการผลิตแล้ว แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศ ยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Eco Products) หรืออุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industries) โดยประยุกต์ใช้หลักการ Rs 3 ได้แก่ Reduce (การลดของเสีย) Reuse (การนำกลับมาใช้อีกรูปแบบเดิม) และ Recycle (การนำกลับมาใช้ในรูปแบบอื่น) แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมมหาศาลจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งระยอง เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเสียใหม่ และภาครัฐเองจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วยอย่างจริงจัง เช่น การกำหนดมาตรการจูงใจด้านภาษี เป็นต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ยังเสนอให้ใช้มาตรการด้านผังเมืองมาช่วยลดมลพิษ โดยการกำหนดเขตกันชน (Buffer Zone) เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสีเขียวเพียงพอระหว่างพื้นที่ชุมชนกับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมไปยังชุมชนได้ระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมาจังหวัดระยองประสบปัญหาการประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน อันเนื่องจากการขาดช่วงอายุการประกาศผังเมืองรวมเป็นเวลา 5 ปีในระหว่างปี 2541-2546 ซึ่งถือว่าไม่มีผังเมืองรวมบังคับใช้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ ในขณะความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในมาบตาพุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่อาศัย และพื้นที่สีเขียวลดลงอย่างรวดเร็วนับหมื่นไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น